5 สมาคมท่องเที่ยวหวังเงินกู้หมื่นล้าน ‘พยุงสภาพคล่อง-รีสตาร์ทธุรกิจ’

5 สมาคมท่องเที่ยวหวังเงินกู้หมื่นล้าน ‘พยุงสภาพคล่อง-รีสตาร์ทธุรกิจ’

“กระทรวงท่องเที่ยวฯ” เร่งรวบรวมข้อมูล-รายชื่อผู้ประกอบการที่ต้องการสินเชื่อพยุงสภาพคล่องธุรกิจท่องเที่ยว ยื่น “สศค.” สัปดาห์หน้า ด้าน “แอตต้า” ยัน 5 สมาคมท่องเที่ยวหวังรัฐบาลตั้งวงเงินกู้ใหม่อีก “1 หมื่นล้าน” หนุนรีสตาร์ทธุรกิจรับเปิดประเทศ

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้หารือกับภาคเอกชน 5 สมาคมท่องเที่ยว ได้แก่ สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ และสมาคมสปาไทย และตัวแทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อหารือแนวทางจัดทำมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ขาดสภาพคล่องและประสบปัญหาทางการเงินอย่างเร่งด่วนจากวิกฤติโควิดตั้งแต่ปี 2563

การหารือครั้งนี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอหลายเรื่องต้องการให้ภาครัฐพิจารณาการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยเสนอวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ธนาคารรัฐ ยอมรับว่ามีวงเงินที่เตรียมไว้แล้ว ขอดูเงื่อนไขที่เอกชนเสนอมา เช่น การค้ำประกันไขว้ และการผ่อนปรนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะรวบรวมข้อมูลและรายชื่อผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อ ส่งให้ สศค. ภายในสัปดาห์หน้า พิจารณาจัดทำเป็นมาตรการทางสินเชื่อเฉพาะในรูปแบบใดนั้นอยู่ที่กระทรวงการคลังจะพิจารณา

“ข้อเสนอต่างๆ ของเอกชน ที่ประชุมฯ ไม่ขัดข้องอะไร แต่ขอดูข้อมูลชัดเจนก่อน โดยธนาคารออมสินจะเข้ามาช่วยเหลือคู่ขนานกับการปล่อยสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์ที่เอกชนจะไปยื่นขอสินเชื่อได้อีกทาง”

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นหากกระทรวงการคลังรับข้อเสนอในการจัดวงเงินสินเชื่อเฉพาะมาให้ได้ในช่วงต้นเดือน ต.ค. จะช่วยให้เอกชนมีสภาพคล่องไปดำเนินธุรกิจรองรับการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวเสริมว่า สมาคมฯ จะออกแบบสอบถามส่งถึงสมาชิกที่เคยทำเรื่องขอกู้แล้วไม่ผ่าน และขอให้สมาชิกระบุถึงประเด็นปัญหาที่ไม่สามารถกู้ได้ จากนั้นรวบรวมและสรุปข้อมูลส่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ สศค.เพื่อแก้ไขในเชิงนโยบายต่อไป

นอกจากนี้ ธปท.ประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ว่า ได้มีการพิจารณาให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกนโยบายทำวงเงินค้ำประกันธุรกิจเอสเอ็มอีสูงสุด 100% ทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมสนับสนุนมาตรการฟื้นฟูผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ไม่มีข้อกังวลเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เนื่องจาก บสย.เข้ามาค้ำประกัน 100% อีกเรื่องคือการพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ จากรายได้ในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งพยายามให้ผ่อนปรนเกณฑ์นี้

“ธปท.ออกนโยบายและทำหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจน ฉะนั้นจะไม่มีผลต่อการพิจารณาในเรื่องเครดิตของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งในอนาคตซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในช่วงที่ผ่านมาที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีข้อกังวล และมองว่าเรื่องธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความเสี่ยงสูง จึงให้ความสำคัญในการพิจารณาค่อนข้างต่ำ เมื่อตัดประเด็นนี้ออกไป ธปท.เชื่อว่าน่าจะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น”

หลังจากนี้ สมาคมฯ จะเชิญธนาคารออมสินกับเอสเอ็มอีแบงก์มาพบปะสมาชิกและเจรจาเป็นรายต่อราย โดยธนาคารทั้ง 2 แห่ง มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายรูปแบบที่ใกล้เคียงกับที่ 5 สมาคมท่องเที่ยวขอไปก่อนหน้านี้ โดยธนาคารออมสินมีวงเงินเหลือ 3,000 ล้านบาท เอสเอ็มอีแบงก์ มีวงเงินเหลือกว่า 1,000 ล้านบาท ที่จะช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจท่องเที่ยวในเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นกรณีขอพิจารณารายได้ในปี 2562 และในทางปฏิบัติเรื่อง NPL ผู้ประกอบการที่มี NPL หลังวันที่ 31 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป ถือว่าได้รับการยกเว้นเงื่อนไขพิจารณาเรื่อง NPL ทั้งนี้หากผู้ประกอบการยังมีหลักทรัพย์ค้ำประกันอื่นๆ สามารถนำมาค้ำประกันได้ หรือต้องการใช้วงเงินค้ำประกันจาก บสย.ก็ใช้วงเงินค้ำประกันได้ถึง 100%

อย่างไรก็ตามทั้ง 5 สมาคมท่องเที่ยวยังต้องการให้รัฐบาลจัดตั้งวงเงินกู้ใหม่อีก 10,000 ล้านบาท และให้พิจารณาตามเงื่อนไขที่ขอไปก่อนหน้านี้ เช่น ไม่มีการพิจารณาเรื่อง NPL อยากให้ค้ำประกันระหว่างบุคคลหรือนิติบุคคลไขว้กัน หรือใช้ทรัพย์สินที่ปลอดหนี้ เช่น รถ และอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งในการค้ำประกัน