บ้านสำหรับ "ผู้สูงอายุ" ป้องกันลดภาวะสมองเสื่อม

บ้านสำหรับ "ผู้สูงอายุ" ป้องกันลดภาวะสมองเสื่อม

ปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูป โดยประมาณการว่ามีสัดส่วนผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน

คาดการณ์ว่า อีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.5 ล้านคน

ด้วยสังคมผู้สูงอายุขยายตัวมากขึ้น ประจวบเหมาะกับการขยายตัวของเมืองของกรุงเทพมหานคร ทำให้จังหวัดใกล้เคียง อย่าง “จ.ปทุมธานี” ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดชานเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุมีมากกว่าหลักหมื่นขึ้น รวมถึงการเติบโตของชุมชน และมีความเจริญที่เข้ามาทุกรูปแบบ

บ้านสำหรับ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันลดภาวะสมองเสื่อม

เคหะชุมชนรังสิต (คลองหก) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ธัญบุรี แม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ แต่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างแออัด 1,400 หลังคาเรือน และมีผู้สูงอายุที่อยู่ 429 คน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุแก่หงอมช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ เป็นกลุ่มเกษียณอายุราชการ หรือต้องอยู่กับลูกหลาน จะอยู่บ้านคนเดียวในช่วงกลางวัน และไม่ได้ทำงาน

 

  • ผู้สูงอายุ 12% มีภาวะสมองเสื่อม

มทร.ธัญบุรี จึงได้จัดทำโครงการวิจัย การพัฒนาออกแบบที่พักอาศัยเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาในผู้สูงอายุ ใน โครงการธัญบุรีชุมชนน่าอยู่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สุขภาวะรื่นรมย์ ซึ่งมี ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ธัญบุรี เป็นหัวหน้าโครงการ

เป้าหมายเพื่อพัฒนาเมือง ชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินการในรูปแบบงานวิจัย จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ประจำปี 2563

บ้านสำหรับ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันลดภาวะสมองเสื่อม

จากการสำรวจพบว่า 20% ของกลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นผู้สูงอายุ ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ และ 12% ของกลุ่มผู้สูงอายุจะมีภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะในเคหะชุมชนรังสิต(คลองหก) พบว่า มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวนมาก และในกลุ่มนี้มีหากมีผู้สูงอายุเดินมา 100 คน 10-12 คน จะมีภาวะสมองเสื่อม

"ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ ไชยสังข์" อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มทร.ธัญบุรี หัวหน้าโครงการวิจัยฯเล่าว่า ขณะที่ทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจภาวะทางสมองของกลุ่มผู้สูงอายุในเคหะชุมชนรังสิต ได้สำรวจลักษณะบ้านที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ร่วมด้วยพบว่า ส่วนใหญ่ชอบอยู่บ้าน ไม่ออกไปสังสรรค์ หรือพบปะผู้คน และมีความกังวล กลัวว่าตัวเองเป็นภาวะสมองเสื่อม หลายคนรู้ว่าการออกกำลังกาย การอ่านหนังสือจะช่วยลดภาวะสมองเสื่อมได้ แต่กลัวจะเป็นภาระของลูกหลานจึงอยู่เฉยๆไม่ทำอะไร

 

  • สร้างต้นแบบ บ้านผู้สูงอายุ

“เมื่อเราไม่สามารถทำให้ผู้สูงอายุออกจากบ้าน ก็ต้องสร้างงานวิจัยที่เหมาะสมและตอบโจทย์ผู้สูงอายุในชุมชน ดังนั้น จึงมองว่าควรนำกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นการใช้สมอง ลดภาวะความเสื่อมสมองไปไว้ในบ้าน ไอเดียในการออกแบบบ้านเสริมสร้างสุขภาวะปัญญาให้แก่ผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้น ซึ่งได้รับสนับสนุน จากผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ และผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมทร.ธัญบุรี ให้ทำงานวิจัยดังกล่าว” ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ เล่า

หลังจากโครงการได้รับการอนุมัติ ทีมนักวิจัยก็ได้ลงพื้นที่ สำรวจความต้องการ กิจกรรมที่ผู้สูงอายุอยากเล่น อยากมีส่วนร่วม และค้นคว้าหากิจกรรมพัฒนาสมองทั้งในไทยและต่างประเทศ จนได้อุปกรณ์/กิจกรรมมาทั้งหมด 22 ชิ้น ต่อมาได้ขอความร่วมมือจากวิศวกรรมเครื่องกลจัดทำเป็นโมเดลเล็กๆ 22 ชิ้น เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุเลือกมา 3 ชิ้นนำไปใส่ในบ้านเสริมสร้างสุขภาวะปัญญา โดยมีคณะสถาปัตยกรรม ช่วยออกแบบบ้าน ส่วนทีมวิจัยพยาบาลศาสตร์จะช่วยเติมเต็มพัฒนาการสมอง

บ้านสำหรับ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันลดภาวะสมองเสื่อม

โดยวิธีการศึกษาจะเน้นให้ผู้สูงอายุ ตัวแทนชุมชน อสม. สาธารณสุขจังหวัด เข้ามามีส่วนร่วมผ่านโฟกัสกรุ๊ป ซึ่งทุกคนจะเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรม ทั้ง การเลือกอุปกรณ์พัฒนาสมอง การทดลอง การจะนำไปใส่ไว้ในบ้าน ออกแบบการจัดวาง ทุกขั้นตอนของโครงการ ผู้สูงอายุ เป็นแกนหลัก

  • ออกแบบที่ไม่ออกแบบ บ้านผู้สูงอายุ

การออกแบบของเรา เป็นการออกแบบที่ไม่ได้ออกแบบ นั่นคือ ทั้งการเลือกอุปกรณ์พัฒนาสมอง ออกแบบบ้าน กลุ่มตัวอย่างล้วนเป็นผู้เลือก ซึ่ง 3 ชิ้นที่นำมาช่วยพัฒนาสมองผู้สูงอายุ คือการกรอกตาตามแนวนอน กระตุ้นสมองส่วนหน้า ตาราง 9 ช่อง และลักษณะเกมทดสอบไอคิวผู้สูงอายุ ขณะที่ทีมสถาปัตยกรรม ก็จะนำอุปกรณ์เหล่านั้นไปให้ผู้สูงอายุเลือกว่าเขาจะเล่นเวลาไหน ควรอยู่ส่วนไหนของบ้าน ออกแบบจัดวางอย่างนี้ พวกเขาต้องการหรือไม่ พบว่าการกรอกตา จะไว้ในห้องนอน ตาราง 9 ช่องอยู่ในส่วนหน้าบ้าน และลักษณะเกมทดสอบไอคิว จะไว้ในห้องนั่งเล่น การออกแบบบ้านครั้งนี้เราจึงไม่ได้ออกแบบเองแต่ผู้สูงอายุเป็นผู้ออกแบบ”ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ กล่าว

หลังจากศึกษาวิจัยทดลอง 1 เดือน พบว่า ไอคิวของผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการมีการพัฒนาที่ดีขึ้น คะแนนทดสอบสติปัญญา จากทดสอบไอคิว 82.9 เป็น 87.2 และพวกเขายังได้เรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะทักษะด้านสังคม เนื่องจากตลอดระยะเวลาในการทดลอง จะมีกลุ่มนักศึกษาทั้งคณะพยาบาลศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะอื่นๆ หมุนเวียนไปช่วยเก็บข้อมูล

บ้านสำหรับ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันลดภาวะสมองเสื่อม

ติดตามการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุ ไม่เหงา มีความสุขมากขึ้น งานวิจัยดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอจัดตั้งขอสร้างบ้านตามต้นแบบ หากได้รับอนุญาตคาดว่าจะเริ่มสร้างต้นแบบบ้านสร้างเสริมสุขภาวะปัญญาให้แก่ผู้สูงอายุได้ในเดือนต.ค.นี้

ผู้สูงอายุ มีศักยภาพในตัวเอง หลายคนยังสามารถประกอบอาชีพได้ แต่ด้วยระบบและข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากเป็นภาระครอบครัว ก็จะอยู่แต่บ้าน และไม่รู้ว่าระบบสวัสดิการและสิทธิที่ตัวเองได้รับมีอะไรบ้าง ดังนั้น อยากให้สร้างอาชีพ สร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุ ให้ความรู้ และร่วมกันพัฒนาสมอง กระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้คิด ได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา” ผศ.ดร.พัชราภัณฑ์ กล่าวทิ้งท้าย

บ้านสำหรับ \"ผู้สูงอายุ\" ป้องกันลดภาวะสมองเสื่อม