"ผบ.ตร." เปิด 15 พื้นที่นำร่องป้องอาชญากรรมแก่ประชาชน เน้นโซนเศรษฐกิจ

"ผบ.ตร." เปิด 15 พื้นที่นำร่องป้องอาชญากรรมแก่ประชาชน เน้นโซนเศรษฐกิจ

"พล.ต.อ.สุวัฒน์" เปิดโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 นำร่องป้องกันอาชญากรรม 15 พื้นที่ทั่วประเทศ เน้นแหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนกลัวภัยอาชญากรรม

21 ก.ย. 2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) พร้อม พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.สุรเชษฐ์  หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9) และเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผ่านระบบออนไลน์

โดยโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ขับเคลื่อนบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และตัวชี้วัดสากล “WORLD INTERNAL SECURITY and POLICE INDEX : WISPI” เป็นการใช้การป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกนำการปราบปราม ในการนี้ ผบ.ตร.ได้มอบหมาย ให้ พล.ต.อ.มนู  เมฆหมอก รอง ผบ.ตร , พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ.9) เป็นคณะทำงาน

"ผบ.ตร." เปิด 15 พื้นที่นำร่องป้องอาชญากรรมแก่ประชาชน เน้นโซนเศรษฐกิจ

ซึ่งได้คัดเลือกสถานีตำรวจนำร่องทั่วประเทศจำนวน 15 สถานี ประกอบด้วย สน.ลุมพินี , สน.ห้วยขวาง , สน.ภาษีเจริญ , สภ.ปากเกร็ด , สภ.เมืองสมุทรปราการ , สภ.เมืองพัทยา , สภ.เมืองระยอง , สภ.เมืองปราจีนบุรี , สภ.ปากช่อง , สภ.เมืองอุดรธานี , สภ.เมืองเชียงใหม่ , สภ.เมืองพิษณุโลก , สภ.เมืองราชบุรี , สภ.เมืองภูเก็ต และ สภ.หาดใหญ่

โดยคัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแลนด์มาร์ค แหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมมาสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัย และสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน

"ผบ.ตร." เปิด 15 พื้นที่นำร่องป้องอาชญากรรมแก่ประชาชน เน้นโซนเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คณะทำงานได้นำผลสำรวจพีเพิลโพล (People Poll) และข้อเสนอแนะจากประชาชน มาพัฒนาการดำเนินโครงการ เพื่อสามารถปรับปรุงการทำงานของตำรวจให้ตรงกับสภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

1.สำรวจกล้อง CCTV ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกันพร้อมติดตั้งเพิ่มเติม

2.นำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น มีการติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับใบหน้า และกล้อง AI ตรวจจับป้ายทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น

3.ติดตั้งเสาสัญญาณ SOS เพื่อประชาชนสามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที

4.จัดทำห้องปฏิบัติการ CCOC โดยเชื่อมสัญญาณจากกล้องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานราชการ และเอกชนมายังห้องปฏิบัติการและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อคอยควบคุมสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

5.ใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น POLICE 4.0 , POLICE I LERT U , Line OA , แจ้งความออนไลน์ รวมถึงการสร้าง Cyber Village เป็นต้น

6.ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์ของพื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดแต่งต้นไม้กิ่งไม้ในพื้นที่รกร้าง ขีดสี ตีเส้น ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟส่องสว่าง เป็นต้น

7.แสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม

โครงการ สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ช่วงระยะแรกใน 15 สถานีนำร่อง ได้ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสนับสนุนของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันสร้างมิติใหม่แห่งความปลอดภัย “เปลี่ยนที่เปลี่ยวให้เป็นที่ปลอด(อาชญากรรม) ตามแนวทาง Smart City” เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัย ในชุมชน ซึ่ง ในระยะที่สอง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีนโยบายให้ขยายโครงการเข้าสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยคัดเลือก 1 พื้นที่ 1 จังหวัด และมอบหมายให้ 15 สถานีนำร่องเป็นสถานีต้นแบบในพื้นที่ของตนเองในการขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ให้เกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัดต่อไป