สศช.ดันระเบียงเศรษฐกิจอีสาน บูมไบโออีโคโนมี่ สร้างมูลค่าเพิ่ม -ดึงลงทุน 

สศช.ดันระเบียงเศรษฐกิจอีสาน บูมไบโออีโคโนมี่ สร้างมูลค่าเพิ่ม -ดึงลงทุน 

สศช.ดันระเบียงเศรษฐกิจอีสานยกระดับเศรษฐกิจ 4 จังหวัด ขอนแก่น อุดร โคราช หนองคาย ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เชื่อมโยงจีน หวังสร้างรายได้ชุมชนเพิ่มขึ้น "อิสระ" หนุนออกกฎหมายพิเศษเหมืออีอีซี ลดปัญหาอุปสรรคการลงทุนให้เกิดได้ "ณรงค์ชัย" แนะแก้ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่

นายดนุชา  พิชยนันท์เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าสศช.ได้จัดสัมนาเรื่อง ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “Northeastern Economic Corridor:NeEC–Bioeconomy":ศักยภาพ โอกาส และความท้าทาย 

โดยการพัฒนาเชิงพื้นที่ถือว่ามีความสำคัญในภาพรวมต่อการพัฒนาประเทศ และการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค โดยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ Northeastern Economic Corridor (NeEC) ได้แก่พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย และขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาส และมีความท้าทายในการวางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาโดยใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)เป็นตัวนำที่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่พืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ได้มากขึ้น 

นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังมีศักยภาพในหลายด้านได้แก่ 1.เรื่องของภูมิศาสตร์ซึ่งที่ตั้งที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคของโลก  เช่น การพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในภูมิภาคซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน 

2.พื้นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งสามารถนำมาใช้ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงการต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรสู่พลังงานหมุนเวียน 

3.ความพร้อมของภาคการศึกษาทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการ 

และ 4.ความก้าวหน้าของการก่อสร้างระบบคมนาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเชื่อมโยงกับโครงข่ายหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค 

โดยการสนับสนุนในเรื่องของการลงทุนนั้นภาครัฐมีแนวนโยบายที่จะสนับสนุนโดยให้สิทธิประโยชน์ ที่ส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานชีวภาพในปัจจุบัน และแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ในระยะต่อไปที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงกิจกรรมในลักษณะคลัสเตอร์และห่วงโซ่มูลค่า 

ดังนั้น การพัฒนา NeEC - Bioeconomy จึงเป็นโอกาสของเกษตรกร SMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม Bio economy 

ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและผลักดันจากทุกภาคส่วนให้เกิดสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ที่ทำให้เกิดการร่วมคิด วางแผนและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างบูรณาการเพื่อผลักดันนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่และประเทศโดยรวม

“พื้นที่นี้ถือว่ามีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ NeEC - Bioeconomy ของประเทศ ซึ่งนอกช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรยังเป็นการสนับสนุนธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งธุรกิจชุมชนในห่วงโซ่อุปทานให้เติบโตไปพร้อมกัน ทั้งนี้ต้องอาศััยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน NeEC – Bioeconomy ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน”

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ และหากสามารถที่จะพัฒนาเศรษฐกิจได้ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมเนื่องจากประชากรกว่า 21 ล้านคน หรือ 33% ของประชากรของประเทศอยู่ในภูมิภาคนี้ 

อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่ภาครัฐจะต้องผลักดันเพื่อให้ NeEC เกิดขึ้นได้คือการลดปัญหาอุปสรรคในการลงทุน ซึ่งหากจะผลักดันให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ควรมีการออกกฎหมายพิเศษเหมือนกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งช่วยให้ลดปัญหาอุปสรรคต่างๆลงได้มาก นอกจากนั้นภาครัฐควรมีการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีมูลค่าสูง การลงทุนในระบบน้ำเช่นโครงการโขง ชี มูล เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานจาก 8 ล้านไร่ เป็น 48 ล้านไร่ซึ่งจะช่วยให้การเพาะปลูกในพื้นที่ได้ผลผลิตดีขึ้นในระยะยาว 

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าแนวความคิดที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจในอีสานให้เป็นเขตเศรษฐกิจชีวภาพถือว่าเป็นแนวคิดที่เป็นไปได้ซึ่งในพื้นที่มีสถานศึกษาที่มีองค์ความรู้เรื่องเหล่านี้ทั้ง ม.ขอนแก่น ม.สุรนารี และ ม.มหาสารคาม ที่มีงานวิจัยและความรู้ในเรื่องเหล่านี้ แต่ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพอยู่ที่ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจ 3 ตัวหลักได้แก่ อ้อย มัน และข้าว ซึ่งผลผลิตต่ำลงทุกปี เฉลี่ยแล้วผลิตภาพของภาคเกษตรในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ลดลงเหลือ 20% จากเดิมที่อยู่ที่23% ดังนั้นต้องแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้ง และการกักเก็บน้ำในพื้นที่ ซึ่งปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขเป็นลำดับแรก 

อย่างไรก็ตามหากยังไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพได้ก็สามารถส่งเสริมฐานการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกสินค้าที่เป็นความต้องการของตลาดจีน และเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงจากจีนสร้างมาถึงเวียงจันทน์ ที่ สปป.ลาวแล้ว

หากมีแหล่งการผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการก็สามารถที่จะส่งสินค้าไปขายได้มากโดยอาจเป็นการผลิตในNeEC หรือผลิตในอีอีซีก็ได้แล้วใช้ประโยชน์จากโลจิสติกส์ในการขายสินค้าไปยังประเทศจีนตอนใต้และประเทศเวียดนามที่มีความต้องการสินค้าจากไทย