"ไพบูลย์" เตรียมรื้อคำสั่ง คสช.13/2561 เป็นพิมพ์เขียว แก้กฎหมายลูก

"ไพบูลย์" เตรียมรื้อคำสั่ง คสช.13/2561 เป็นพิมพ์เขียว แก้กฎหมายลูก

ประธานคณะกรรมการกฎหมาย พปชร. เผยไอเดีย ยกร่างกม.ลูก 2 ฉบับ ยกคำสั่งคสช.13/2561 ปลดล็อคไพรมารี่โหวต เป็นพิมพ์เขียว แต่ยังลังเล ไม่แก้ให้มีตัวแทนพรรคประจำเขตทุกเขต เป็นเงื่อนไขส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงเลือกตั้ง

            นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการเตรียมพร้อม ยกร่างแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​ให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข มาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ว่า มีประเด็นที่จะเสนอแก้ไขแล้วแต่ยังต้องรอหารือกับคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง โดยประเด็นที่จะแก้ไข  อาทิ ในร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง  จะปรับการชำระค่าบำรุงพรรคของสมาชิกพรรค ให้เป็นครั้งเดียวตลอดชีพ , ปรับแก้ไขในการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือ ไพรมารี่โหวต โดยจะนำความของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) มาบัญญัติแทนเพื่อให้การคัดเลือกผู้สมัคร เป็นไปตามกระบวนการของพรรคการเมือง เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 

            นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่าในประเด็นการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ด้วย คือ ข้อกำหนดให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด เดิมพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดให้มีตัวแทนประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งจึงจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้  กล่าวคือ หากจะส่งส.ส.ลงทุก 400 เขต ต้องมีตัวแทนพรรค ที่ประกอบด้วยสาชิกพรรค อย่างน้อย 100 คนทุกเขต เบื้องต้นจะไม่เสนอแก้ไข แต่มีรายละเอียดพิจารณาว่าตาม คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2561 กำหนดให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดใด ในจังหวัดนั้นสามารถส่งผู้แทนลงทุกเขตเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นเหมือนกับการเลือกตั้ง ปี2562

 

            “ประเด็นตัวแทนพรรคประจำเขต นั้นยังไม่ฟันธงว่าจะเลือกรูปแบบใด แต่ขณะนี้ พรรคพลังประชารัฐมีตัวแทนพรรคประจำเขตเลือกตั้ง ทุก 350 เขตแล้ว  จึงไม่มีปัญหาหากจะเพิ่มตัวแทนพรรคในเขตเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้น” นายไพบูลย์ กล่าว

 

            เมื่อถามถึงการปรับเนื้อหาของการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีข้อเสนอให้เขียนแบบส.ส.พึงมี หรือ MMP นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในแนวทางจะใช้เหมือนกับการเลือกตั้ง ปี2554 ที่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 1% โดยคำคะแนนเฉลี่ยของบัตรบัญชีรายชื่อของทุกพรรครวมกันทั้งประเทศ มาคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคได้รับ เช่น การเลือกตั้งปี 2554 คะแนนพรรค ได้รวม 3.5 ล้านคะแนน หากคิดฐาน 1% จะเท่ากับ 3.5แสนคะแนน ถือเป็นคะแนนที่นำมาคำนวรเป็นส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค หากพรรคใดได้คะแนนต่ำกว่า 3.5 แสนคะแนน จะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ.