‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ เอเชียแปซิฟิก ลงทุนพุ่งทุบสถิติ 1.8 พันล.ดอลล์

‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ เอเชียแปซิฟิก ลงทุนพุ่งทุบสถิติ 1.8 พันล.ดอลล์

ในไทยมีความสนใจในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์เพียงไม่กี่รายและเป็นเจ้าตลาด

‘ซีบีอาร์อี’ ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก พบว่า ตลาดการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์เอเชียแปซิฟิก สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากการซื้อขายโดยตรงรวม 5.9 หมื่นล้านบาท (1.8 พันล้านดอลลาร์) ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 

ขณะที่ความสนใจที่มีต่อตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยมีเพิ่มขึ้น พร้อมกับความท้าทายของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ในการมองหาแปลงที่ดิน ที่สามารถตอบสนองความต้องการพิเศษ เช่น การใช้สาธารณูปโภคในปริมาณสูงและการเชื่อมต่อใยแก้วนำแสง

ประเทศที่มีสัดส่วนลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์สูงที่สุด คือ จีนแผ่นดินใหญ่ มีการปิดการขายหลายดีลสำคัญช่วง 6 เดือนแรกของปี เช่น การที่จีแอลพีเข้าซื้อหุ้น 50% ในซงเจียง อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ ในเซี่ยงไฮ้ และการที่จีดีเอสซื้อดาต้าเซ็นเตอร์ในกรุงปักกิ่งจากซิติ ก กรุ๊ป

ดาต้าเซ็นเตอร์ลงทุนเพิ่มสูงสุด 

ปี 2563 การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากระบบดิจิทัลเติบโตอย่างมาก จากที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด ขณะที่ในปี 2564 การเข้าลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ช่วงหกเดือนแรกสูงถึง 80% ของมูลค่าตลาดการลงทุนในทรัพย์สินทั้งหมดในปีที่แล้ว ทั้งนี้ ปริมาณการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ในปีนี้เป็นที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากจะมีการปิดดีลสำคัญเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี

ความต้องการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียแปซิฟิก ได้รับแรงหนุนจากความกังวลเรื่องรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และข้อกำหนดของภาครัฐ เนื่องจากรัฐบาลต่างๆ เพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับข้อกำหนดการจัดเก็บข้อมูล กฎหมายด้านการรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลของจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน กระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ทำศูนย์เพื่อจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดที่บริษัทสร้างขึ้น ผู้ให้บริการคลาวด์ขนาดใหญ่ระดับไฮเปอร์สเกลได้ขยายพื้นที่ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทใหญ่หลายแห่งส่งสัญญาณถึงการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่และพื้นที่การให้บริการใหม่ในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง

โอกาสลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดีในตลาดชั้นนำเอเชียแปซิฟิก โดยยังรักษาระดับของอัตราพื้นที่ว่างได้ดีอยู่ โดยปริมาณใช้ดาต้าเซ็นเตอร์สุทธิในโตเกียว ซิดนีย์ สิงคโปร์ และฮ่องกง ชะลอตัวลงเหลือ 70 เมกะวัตต์ในครึ่งแรกของปี 2564 จาก 123 เมกะวัตต์ในครึ่งหลังของปี 2563 อัตราพื้นที่ว่างโดยรวมในตลาดเหล่านี้ขยับขึ้นเป็น 14.6% เดือนมิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 13.9% ในเดือนธันวาคม 2563

“สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้คือสถานการณ์ของความต้องการ และปริมาณดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยังรักษาระดับสมดุลย์ได้ดี เนื่องจากผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ยังรักษาอัตราพื้นที่ว่างได้ดีที่ราว 20% ไว้เป็นพื้นที่ที่รองรับความต้องการขยายพื้นที่จากผู้เช่า โดยผู้ให้บริการจะเริ่มวางแผนการพัฒนาโครงการใหม่เมื่อดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่ถูกจับจองไปราว 60-70% พื้นที่ที่ยังไม่ได้ขายอีก 10% หรือน้อยกว่านั้นมักจะถูกจับจองโดยผู้เช่าที่มีอยู่มากกว่าจะมาจากผู้ใช้ใหม่” “ลิม ชิน ยี” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายดาต้าเซ็นเตอร์โซลูชัน ซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก กล่าว

เห็นแนวโน้มธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์เพิ่ม 

กำลังไฟฟ้าโดยรวมของพื้นที่สำหรับการวางเซิร์ฟเวอร์ (Colocation) ในตลาดชั้นนำทั่วเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 1.876 กิกะวัตต์ ณ เดือนมิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้น 5.4% จากเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากคาดว่าจะมีโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเข้าสู่ระบบออนไลน์ในช่วงครึ่งหลังของปี โตเกียวเป็นเมืองที่มีแผนการขยายในอนาคตมากที่สุดในบรรดาตลาดชั้นนำทั้ง 4 แห่งในเอเชียแปซิฟิกในช่วงสามปีข้างหน้า

“ทอม ฟิลมอร์” ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดทุนดาต้าเซ็นเตอร์ ซีบีอาร์อี เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความกระตือรือร้น แต่ปัจจุบันปริมาณดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีเสถียรภาพในการลงทุนยังมีไม่มาก เป็นที่คาดว่าการเข้าซื้อโดยตรงจากนักลงทุนจะชะลอตัวลง 

“โอกาสที่สำคัญในการเข้าซื้อน่าจะมาจากเจ้าของดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่ในภูมิภาคอย่างบริษัทด้านโทรคมนาคมที่ต้องการสร้างรายได้จากทรัพย์สินของตนเองผ่านการขายทรัพย์สินแล้วเปลี่ยนเป็นการเช่าคืนจากนักลงทุน ถึงแม้การพัฒนาโครงการขึ้นมาใหม่จะเป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้ในการเข้าสู่ตลาด แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาโดยผู้ให้บริการ มากกว่าโดยนักลงทุน”

“อาดัม เบลล์” หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “ในประเทศไทย ซีบีอาร์อี เห็นว่ามีความสนใจในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์เพียงไม่กี่รายและเป็นเจ้าตลาด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเองหรือร่วมทุนกับผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคที่มีความเชี่ยวชาญ ข้อกำหนดด้านที่ดินสำหรับการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์มีแนวโน้มที่จะมีความพิเศษมากกว่าการสร้างโรงงานผลิตทั่วไป โดยครอบคลุมข้อกำหนดที่กว้างกว่ามากเกี่ยวกับการใช้สาธารณูปโภคและการเชื่อมต่อใยแก้วนำแสง”