เกษตรเล็งประกาศเวทีผู้นำระบบอาหารโลก ยืนหนึ่งความมั่นคงด้านอาหาร

เกษตรเล็งประกาศเวทีผู้นำระบบอาหารโลก ยืนหนึ่งความมั่นคงด้านอาหาร

กระทรวงเกษตรฯร่วมกับทุกภาคส่วน ผลักดันให้ไทย ประกาศยืนหนึ่งความเป็นผู้นำด้านสินค้าเกษตรและอาหารในการประชุมผู้นำระบบอาหารโลก 2021 ที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ย.นี้ หลังสหประชาชาติ กังวลปัญหาการระบาดของโควิด 19 จะกระทบกับความมั่นคงทางด้านอาหารและการเข้าของประชากร

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานกับองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติและการเกษตรต่างประเทศ  กล่าวว่า ประชุมผู้นำระบบอาหารโลก 2021 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23  ก.ย.นี้ที่ ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา  ซึ่งมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืน   ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯจึงจัดกิจกรรม “สานพลังขับเคลื่อนระบบอาหารประเทศไทย ผ่านมรสุมโควิด-19 หนุนเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่เวทีโลก UNFSS”

 

เกษตรเล็งประกาศเวทีผู้นำระบบอาหารโลก ยืนหนึ่งความมั่นคงด้านอาหาร

เพื่อการประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน “อิ่มและดี 2030” “Healthy Diets for All” เพื่อต่อยอดพันธกิจและผลการดำเนินงาน เป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

 

 มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการสนับสนุนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit 2021: UNFSS 2021) ซึ่งได้วางแนวทางในการปรับเปลี่ยนการจัดการระบบอาหารและเกษตรไปสู่ความยั่งยืน

 

โดยจัดเวที ชวนคิด..ชวนคุย ระดับชาติ (National Dialogues) ร่วมกัน 3 ครั้ง จนเกิดแนวทางและมาตรการที่มุ่งเน้นการพลิกโฉมระบบอาหาร ไปสู่ระบบอาหารที่ดี ยั่งยืน และเป็นธรรมมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals 2030 - SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2573 โดยเฉพาะเป้าหมายด้าน “การยุติความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงทางอาหาร ปรับปรุงภาวะโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน” ซึ่งจะนำเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกด้วย

       “การประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนของทั้ง 3 หน่วยงานครั้งนี้ จะทำให้เกิด 1. การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ “Healthy Diets for All” เพื่อต่อยอดความร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 2. การสร้างองค์ความรู้และระบบรองรับการดำเนินงาน 3. การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ และ 4. การสื่อสารสังคม เพื่อเสนอประเด็นสำคัญต่อสาธารณะ จนเกิดการรับรู้ ตระหนัก และสานเสริมพลังขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน” ปลัดเกษตรฯ กล่าว  

       ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. และภาคีเครือข่าย เกิดจากการสานพลังความร่วมมือสร้างวิถีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะของคนไทย ตลอด 20 ปี ในการทำงานของ สสส. มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือ การสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยมีสุขภาพดี ทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต ปัญญา สังคม ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ถ้ากินอาหารดีต่อสุขภาพ ก็ช่วยป้องกันโรค ทำให้เราสุขภาพแข็งแรง

ซึ่ง สสส. มียุทธศาสตร์การทำงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ เน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต้นแบบระบบห่วงโซ่อาหาร โดยบูรณาการการทำงานระหว่างภาคีเครือข่าย เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยในครัวเรือน โรงเรียน และองค์กร ความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานครั้งนี้ สสส. จะร่วมกับภาคีเครือข่าย รวบรวมองค์ความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดทำฐานข้อมูลวิชาการ การพัฒนานโยบายสาธารณะ ถอดบทเรียน สื่อสารความรู้สู่สังคม ที่สำคัญคือ มุ่งเน้นขับเคลื่อน บังคับใช้ และประเมินผลนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดอาหารเพื่อสุขภาวะ ที่ส่งผลต่อการปรับปรุงเชิงโครงสร้างทั้งการควบคุมและส่งเสริมปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงสิทธิความเป็นพลเมืองอาหารได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ

                 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เรื่อง “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” เกิดจากกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ประเทศไทยพร้อมรับมือกับภาวะวิกฤตสุขภาพใหม่ที่มีอยู่แล้วหรืออาจเกิดขึ้นมาใหม่ได้อย่างทันท่วงที และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต ซึ่งมีสาระสำคัญในการดำเนินการในระดับนโยบาย เช่น การบัญญัติ “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดเป้าหมายร่วม เพื่อให้ประเทศไทยมีความ

พร้อมและสามารถจัดการปัญหาเพื่อ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ” ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13

       น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า กรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศในด้านความมั่นคงอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และอาหารศึกษา ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหารจากภาคการเกษตร การแปรรูป การบริการ สู่โภชนาการ สุขภาพผู้บริโภค ตลอดจนถึงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การบริการและการค้า

 

โดยน้อมนำหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักคิดพื้นฐานในการวางกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติอย่างสมดุล เน้นการนำความรู้และปัญญามาสู่การปฏิบัติที่มีคุณธรรมและจริยธรรมรวมทั้งคำนึงถึงการปฏิรูปและพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งระดับโลกและประเทศ โดยมีความมุ่งหมายให้เป็นแผนชี้นำการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อาหาร ให้เกิดการรวมพลังและประสานบูรณาการการดำเนินงานต่อไป สำหรับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่ มีหลักการที่สำคัญ คือการก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นขับเคลื่อนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศที่ครอบคลุมตั้งแต่ ความมั่นคงและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการในห่วงโซ่อาหารให้เกิดการผลิตและระบบการกระจายอาหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการกระจายอาหารที่ส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อโภชนาการ และสุขภาวะของประชาชนด้วย

   ด้าน ดร.ธนวรรษ เทียนสิน ประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (Chairperson of Committee on World Food Security หรือ CFS) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP) กล่าวว่า ในภาวะที่เกิดวิกฤตโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่า โลกยังเปราะบาง ระบบอาหารแต่ละประเทศ มีขีดความสามารถในการผลิต และเผชิญต่อภาวะวิกฤตไม่เหมือนกัน

 

ดังนั้น โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนระบบอาหาร ไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับพื้นที่ สังคมและประเทศ โดยสร้างความรู้สึกร่วมกัน ทั้งในระดับภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และเกษตรกร รวมทั้งผู้บริโภคเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง อิ่มอย่างมีคุณภาพ และอิ่มอย่างไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม