"พื้นที่สงวนชีวมณฑล" ดอยเชียงดาว สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

"พื้นที่สงวนชีวมณฑล" ดอยเชียงดาว สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

"ทส." เผยแนวทางดูแล พัฒนา "ดอยเชียงดาว" หลังขึ้นทะเบียน "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" แห่งที่ 5 ของไทย เตรียมตั้งหน่วยงานดูแล บูรณาการร่วมกับคนในพื้นที่ สู่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

วันนี้ (16 ก.ย. 64) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว​ จ.เชียงใหม่​ เป็น "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" แห่งใหม่​ ทาง​เฟซบุ๊คไลฟ์​ กรมอุทยานแห่งชาติ​ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช​ ว่า วันนี้เป็นอีกวันหนึ่ง หลังจากไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ที่มีการขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็น "มรดกโลก" จาก "ยูเนสโก" วันนี้เป็นอีกหนึ่งวันหลังจาก 45 ปีที่ผ่านมา ที่ไทยมีส่วนร่วมในโครงการมนุษย์และชีวมณฑลระดับโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล ได้พัฒนาเป็นพื้นที่การศึกษา วิจัย และการมีส่วนร่วม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

  • "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" 4 แห่ง ก่อนหน้านี้

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยมีพื้นที่สงวนชีวมณฑล 4 แห่ง ได้แก่

1. ปี 2519 พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา

2. ปี 2520 พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า 

3. ปี 2520 พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จ.ลำปาง 

4. ปี 2540 พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง 

 

  • พื้นที่สงวนชีวมณฑล แห่งที่ 5 ของไทย 

 

และวานนี้ คณะกรรมการสภาประสานงานระหว่างชาติว่าด้วยโครงการด้านมนุษย์และชีวมณฑล (International Co-orinating Council on the Man and the Biosphere Programme: MAB-ICC) ครั้งที่ 33 ในระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2564 ณ เมืองอาบูจา สาธารณรัฐไนจีเรีย

 

ได้รับรอง พื้นที่สงวนชีวมณฑล ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ให้เป็นพื้นที่เขตสงวนพื้นที่สงวนชีวมณฑล แห่งที่ 5 ของไทย และเป็นเครือข่ายพื้นที่สงวนชีวมณฑลของโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑลเชียงดาว เป็นพื้นที่ที่มีความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ไม่เฉพาะพืช และสัตว์ป่าหายาก แต่ยังรวมไปถึง จิตวิญญาณของพี่น้องในท้องถิ่น ทั้งปราชญ์ และศิลปิน ตลอดจนผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ที่เปี่ยมไปด้วยจิตสำนึกรักบ้านเกิด และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะส่งต่อให้เยาวชนรุ่นต่อไป

 

  • ส่งเสริมสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

 

รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า ศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว เป็นต้นแบบของการบูรณาการในหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการพัฒนาท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ผสมผสานกับแนวคิดเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาของพี่น้องเชียงดาว และจ.เชียงใหม่

 

"ดังนั้น ทาง ทส. จึงได้เสนอพื้นที่ดอยเชียงดาว ขึ้นเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ หวังว่าสถานะของพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ของพี่น้องชาวเชียงดาวในการส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมในชุมชน ในจังหวัดให้อยู่คู่กับชาวเชียงดาวอย่างยั่งยืน บนฐานทรัพยากรที่มั่นคง ในระยะยาว" 

 

  • "พื้นที่สงวนชีวมณฑล" ต่างจาก "มรดกโลก" อย่างไร

 

รมว.ทส. อธิบายว่า มรดกโลก มีความหลากหลายหลายแบบ มรดกโลกล่าสุด ได้แก่ ผืนป่าแก่งกระจาน คือ มรดกโลกทางธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังมีมรดกโลกทางวัฒนธรรม เช่น เมืองโบราณสถานศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่เรากำลังพยายามผลักดัน

 

ขณะที่ พื้นที่สงวนชีวมณฑล หัวใจสำคัญ คือ ต้องมีคนอยู่ร่วมกับธรรมชาติ การบริหารจัดการพื้นที่ของธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืน ต้องเรียนว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑล จะกำเนิดขึ้นได้ หัวใจสำคัญ คือ การคงอยู่ของคน การยั่งยืนของประชาชนในพื้นที่จะสามารถใช้ประโยชน์ หาความรู้ หาประโยชน์จากพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้น ที่ตนเองเป็นเจ้าของได้อย่างไร บวกกับความอุดมสมบูรณ์ และเป็นตัวอย่างสำคัญ ของการที่คนสามารถจะอยู่กับป่าได้ และเป็นตัวอย่างในการทำนโยบาย

อ่านข่าว :"ดอยเชียงดาว" ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล

"หัวใจสำคัญในการทำนโยบาย คนอยู่กับป่า พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ต้องมีความเข้าใจของข้อจำกัด ที่พื้นที่ตนเองมีว่าเรามีทรัพยากรที่จำกัดแค่ไหน จะต้องอนุรักษ์แค่ไหน และส่งต่อทรัพยากรเหล่านั้นไปให้ลูกหลานในอนาคตอย่างไร ดังนั้น พื้นที่สงวนชีวมณฑล มีความครอบคลุมมากกว่ามรดกโลกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง"  

 

  • สร้างความร่วมมือ ตั้งหน่วยงานดูแล


รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า การประกาศพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น จากนี้ไป ทส. จะสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว ในการบูรณาการพื้นที่ ต้องมีองค์การในการรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวโดยตรง และประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่

 

มีคณะอนุกรรมการโครงการมนุษย์และชีวมณฑลขึ้นในพื้นที่ของเชียงดาว จัดทำแผนบริหารจัดการ ที่บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งพี่น้องประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ในอ.เชียงดาว และส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่างๆ ที่ตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 


"คำว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑล เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง และเป็นตัวอย่างของคำว่าคนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน และมีการเกื้อหนุนจุนเจือ คนดูแลป่า และป่าดูแลคน พื้นที่สงวนชีวมณฑลทั้ง 5 แห่ง ในประเทศไทยปัจจุบัน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงคำว่า คนอยู่กับป่า คนจะต้องมีจิตอนุรักษ์ การที่คนจะต้องมีจิตสำนึก จิตหวงแหนในแผ่นดินที่ตนเองอยู่ รักษาฟื้นฟู อนุรักษ์ ให้คนรุ่นต่อๆ ไป"

 

พื้นที่ต่างๆ ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่สงวนชีวมณฑล เช่น พื้นที่เชียงดาว ซึ่งมีพื้นที่ 500,000 กว่าไร่ ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่

 

1. พื้นที่ส่วนกลาง เขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว

2. พื้นที่ที่พี่น้องประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวัฒนธรรม ศึกษา หาความรู้ การใช้ทฤษฎีต่างๆ

3. พื้นที่ชุมชนต่างๆ ที่อยู่ล้อมรอบ

 

  • ขึ้นทะเบียน กระทบคนในพื้นที่หรือไม่

 

จากคำถามที่ว่า หลังจากเชียงดาว ได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่สงวนชีวมณฑล จะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่หรือไม่ รมว.ทส. กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่เชียงดาวเป็นพื้นที่พิเศษ ต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ดอยเชียงดาว ตามรายงานที่ได้รับมาเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่พี่น้องประชาชน ขอให้ทาง ทส. เข้าไปดำเนินการเพื่อให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล แสดงว่าพี่น้องประชาชนที่เชียงดาว มีความตระหนักที่จะดำรงคงอยู่ การที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้อง ทรัพยากรที่ตนเองมี ไม่ใช่แค่เฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ แต่รวมไปถึงวิถีชีวิต จิตวิญญาณ ในพื้นที่

 

ดังนั้น การที่ขึ้นทะเบียนเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล สิ่งแรกที่จะกระทบ กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว คือ ความมั่นใจ ความอุ่นใจ ที่ความพยายามต่างๆ ที่ทำมา วันนี้ความพยายามของเรา ประสบความสำเร็จ และต่อยอด รักษาความยั่งยืน ความสมบูรณ์ในพื้นที่เชียงดาวให้คงอยู่

 

ประเด็นถัดมา คือ การที่จะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาอีกมากมาย การที่ขึ้นเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลของโลก แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ และเป็นที่ถูกตาต้องใจของนักท่องเที่ยวสายอนุรักษ์มากมาย

 

และสุดท้าย จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลพื้นที่ดังกล่าว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพี่น้องประชาชนในพื้นที่ บวกกับองค์กรต่างๆ ระหว่างภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และ NGO ดังนั้น สิ่งที่จะกระทบทางบวกทั้งนั้น ต้องขอชื่นชมพี่น้องเชียงดาวที่มีจิตสำนึกรักแผ่นดินที่อยู่และอยากจะเห็นความยั่งยืนไปจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน

 

  • ปกป้องผืนป่า จากไฟป่า

 

ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องไฟป่าที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เชียงดาว รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในแต่ละปีเรามีมาตรการ ดูแล ป้องกัน สถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น ปีนี้มีหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็น "ชิงเก็บลดเผา" บริหารจัดการเชื้อเพลิง

 

แต่ในวันนี้ เมื่อได้ขึ้นเป็น พื้นที่สงวนชีวมณฑล พี่น้องประชาชนที่อยู่ ในดอยเชียงดาว ก็จะมีความตื่นตัวมากขึ้น ในการเป็นหูเป็นตาของภาครัฐมากขึ้น แน่นอน ตัวที่จะตัดสิน คือ ต้นปี 2565 สถานการณ์ไฟป่าทั่วประเทศจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ทาง ทส. ไม่ว่าจะกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเจ้าหน้าที่ทุกท่านต้องช่วยกันดูแลรักษา

 

"ทั้งนี้ แนวทางในการดูแลรักษาไม่ให้เกิดสถานการณ์ไฟป่า ไม่ใช่เฉพาะที่ดอยเชียงดาว และพื้นที่สงวนชีวมณฑล แต่เป็นแผนปฏิบัติการ ในส่วนของทั้งภาคเหนือ และที่ผ่านมา ทส. ได้มีการมอบให้ทางผู้ตรวจราชการ ประจำการแต่ละจังหวัด บัญชาการที่หน้างาน ดังนั้น ดอยเชียงดาวเป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้น ในการตรวจตราเนื่องจากพอได้ขึ้นเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลต้องมีการร่วมมือทำงานกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น" 

 

  • การพัฒนาที่ดีที่สุด คือ การอนุรักษ์

 

รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า หากพูดถึง "การพัฒนา" เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว คงไม่ใช่การพัฒนาในเชิงวัตถุ หรือสิ่งก่อสร้าง การพัฒนาที่ดีที่สุด คือ การพัฒนาจิตใจของคน และการพัฒนารักษา พื้นที่แต่ละพื้นที่ในไทยให้ดำรงคงอยู่ถึงความเป็นธรรมชาติ เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแต่ละพื้นที่คงจะไม่อยากเห็นสิ่งก่อสร้าง ถนนที่ไม่เป็นธรรมชาติ หัวใจสำคัญ คือทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนแต่ละพื้นที่มีจิตสำนึกในการรักษา เช่น การรักษาความสะอาดในชุมชน และหมู่บ้าน เป็นตัวสะท้อนได้ดีถึง จิตวิณญาณของพี่น้องประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ว่ามีจิตอนุรักษ์แค่ไหน จิตแห่งความหวงแหนทรัพยากร และแผ่นดินที่ท่านอยู่มากน้อยแค่ไหน

 

  • เสน่ห์ กลุ่มชาติพันธุ์

 

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่เชียงดาวมีกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ กลุ่มพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่ม มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในการศึกษาวัฒนาธรรม เรียกว่ารายละเอียดทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์และสานต่อ เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยว อย่างที่เรียนว่า การพัฒนาที่ดี คือ การอนุรักษ์ และรักษาความคงสภาพเอาไว้ ดังนั้น วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่ม แต่พื้นเพความเป็นมาต้องได้รับการอนุรักษ์ดูแล และทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

 

  • ชีวิตคนในพื้นที่ จะเปลี่ยนไปหรือไม่

 

รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า ต้องเรียนพี่น้องชาวเชียงดาว และชาวเชียงใหม่ การเตรียมตัวที่ดีที่สุด คือ ทำในสิ่งที่ท่านทำมาจนถึงวันนี้ พวกเราได้ดูแล ปกปักรักษา ทำงานกันมาอย่างหนักหน่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น วันนี้เป็นจุดเริ่มต้น ในการทำให้ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ไม่ใช่จุดที่เราจะหยุดทำงาน แต่เป็นจุดที่แสดงให้เห็นว่า เราต้องทำงานให้หนักขึ้น และสานต่องานที่เราได้ทำมา โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

 

"ขอให้อนุรักษ์ รักษา ความเป็นพื้นที่ ความเป็นชนบท ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่าเพิ่งผันผวนไปตามกระแสที่เปลี่ยนไปของโลกใบนี้ เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ขอให้รักษา สิ่งที่ท่านมีอยู่ให้ชั่วลูกชั่วหลาน"

 

  • จำกัดการปริมาณนักท่องเที่ยว

 

"ขณะเดียวกัน การจำกัดการท่องเที่ยว วันนี้เรามีการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวแล้ว หลังจากโควิด-19 โดยให้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดูแลอุทยาน 150 กว่าแห่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวค้างแรม หรือผ่านอุทยานแต่ละแห่ง ต้องมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว มาถึงตอนนี้เรามีการดำเนินการระยะเวลาหนึ่ง และมีการตอบรับพอสมควรจากพี่น้องประชาชนทุกคน" รมว.ทส. กล่าว