"หมอประสิทธิ์"ประเมินโควิด-19 หลังไทยผ่อนมาตรการ 14 วัน

"หมอประสิทธิ์"ประเมินโควิด-19 หลังไทยผ่อนมาตรการ 14 วัน

“หมอประสิทธิ์”ประเมินหลังไทยผ่อนมาตรการ 14 วัน ยอดติดเชื้อ-ผู้ป่วยหนักลดลง คู่ขนานคาดการณ์ กำชับATKเป็นลบ ไม่ใช่จะหย่อนการป้องกันตัวเอง ส่วนระบาดรอบ 5 ต้องใช้ข้อมูลจริง ไม่ใช่ความรู้สึก  


      เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564  ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า การเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ผ่านมา 2 สัปดาห์ พบว่ามาตรการต่างๆ ทำได้ดีทั้ง 3 ด้านคือ 1.มาตรการวัคซีนที่ทำได้ดี ไม่หลุดเป้าหมายการฉีดวันละ 4 แสนโดส 2.มาตรการบุคคล การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ก็ทำได้ดี แม้มีบางส่วนที่พบว่าไม่ได้ทำตามกำหนดอย่างที่เราเห็นการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ เช่น งานศพ และ 3.มาตรการสังคมและการบริหาร จะพบว่าสามารถดำเนินการได้ดี มีการผ่อนคลายมาตรการบ้าง เช่น การนั่งรับประทานอาหารในร้านได้ 50% แต่ก็เห็นได้ว่าหลายๆ ร้านอาจไม่ได้ทำตามที่ตกลง ซึ่งเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก
     “การติดเชื้อใหม่ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.2564 ที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการ จากที่ดูกราฟ(plot graph) พบว่าตัวเลขคู่ขนานกับที่คาดการณ์ไว้ ถือเป็นกราฟที่สวย จึงขอให้ประชาชนที่ร่วมใจกันทำดีมาตลอด อยากให้ทำดีต่อไป เพื่อให้ได้อยู่ในจุดที่วางใจได้ ส่วนตัวเลขที่สำคัญในการคาดสถานการณ์ คือ ผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้ก็ลดลงคู่ขนานกันต่อเนื่อง ทำให้เชื่อว่าตัวเลขการติดเชื้อใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว 

อ่านข่าว-ด่วน! ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 13,798 ราย เสียชีวิต 144 ราย ATK อีก 1,216 ราย

     ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า แม้ในการตรวจหาเชื้อด้วยแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) จะพบว่ามีประชาชนที่ตรวจแล้วเป็นผลบวกจำนวนมาก ซึ่งในหลักการหากมีการฉีดวัคซีนได้ตามแผนไปต่อเนื่อง ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะไม่มีอาการ โดยส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบการแยกกักตัวเองที่บ้าน(Home Isolation) เมื่อครบโปรแกรม 14 วันก็จะมีภูมิต้านทานต่อโรคเพิ่มขึ้น อย่างเช่นในต่างประเทศ ที่มีการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ของประชากรก็ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องตัวเลขติดเชื้อใหม่ แต่ให้ความสำคัญว่า ผู้ป่วยที่ต้องนอน รพ. และการเสียชีวิตลดลง
     “ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2564 แต่ก็อยากขอให้ทุกคนร่วมใจกันเฝ้าระวังต่อไปอีกซัก 1 เดือน ตัวเลขก็จะแกว่งๆ ในระดับ 1 หมื่นต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง แต่ถ้ามาตรการวัคซีน บุคคล และสังคม ยังทำได้ดีต่อเนื่อง จะเห็นตัวเลขสวยๆ ได้ แต่ให้ผ่านพ้นเดือนหน้าไปก่อน ซึ่งในเดือน ต.ค. จะมีวัคซีนโควิด-19 เข้ามามากขึ้น คาดว่าถึง 20 ล้านโดส ดังนั้น ณ วันนี้ที่ฉีดวัคซีนกันมากกว่า 40 ล้านโดสแล้ว เมื่อรวมกับเดือนหน้าที่จะฉีดได้มากขึ้น ก็ทำให้สบายใจได้ แต่ก็ยังไม่สามารถผ่อนมาตรการป้องกันตัวเองลงได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

      ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ต้องเร่งมาตรการวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติโดยเร็วที่สุด แต่ต้องทำควบคู่กับมาตรการส่วนบุคคลที่ต้องเข้มข้น ไม่ผ่อนไปตามมาตรการที่ผ่อนคลายไป ซึ่งตัวเลขในประเทศที่เขาเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สูงถึง 70% ของประชากร และเข็มที่ 2 ถึง 60% เป็นตัวเลขใกล้เคียงกัน ไม่ใช่ว่าเข็มที่ 1 สูง 70% แต่ฉีดเข็มที่ 2 ได้แค่ 20% ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่ปกติได้ เนื่องจากสายพันธุ์เดลต้า วัคซีนเข็มเดียวเอาไม่อยู่ ต้อง 2 เข็ม และสถานการณ์ปกติของไทยยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้
         ถามถึงการตรวจ ATK ให้ผลลบแล้วเข้าใจว่าปลอดภัย ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับสายพันธุ์เดลต้า การศึกษาในต่างประเทศพบว่า แม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ จากการศึกษาพบว่า ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกของผู้ที่ติดเชื้อที่รับวัคซีนแล้ว กับที่ยังไม่รับวัคซีน มีจำนวนไวรัสที่ใกล้เคียงกัน  ดังนั้น ยังวางใจไม่ได้แม้จะรับวัคซีนมาแล้ว หลายคนคิดว่าฉีดวัคซีนแล้ว ตรวจ ATK เป็นลบแล้วจะถอดหน้ากากอนามัย จะคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะเป็นความเสี่ยงมาก   
      “ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยเข้มงวดต่อไป ให้เป็นสิ่งที่ติดตัวตลอด เป็นวิถีใหม่ ขณะนี้โรคโควิด-19 อยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากโรคระบาด เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดให้ได้ มันจะอยู่กับเราไปตลอด”ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว 
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการแสดงความคิดเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่การระบาดรอบ 5  ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การประเมินสถานการณ์โควิด-19 ต้องดูจากข้อมูลจริง ไม่ใช่ใช้ความรู้สึก ตนดูข้อมูลมาตลอด ไม่จำเป็นต้องปิดบังข้อมูล โดยเฉพาะตัวเลขการติดเชื้อใหม่ที่เห็นได้ว่าลดลงต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงการตรวจพบเชื้อแต่เป็นจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาล เช่น รพ.บุษราคัม ตอนนั้นเคยเปิดถึง 3 พันเตียง ตอนนี้หลือไม่ถึง 100 เตียง ก็เป็นข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น
       “หากจะบอกว่าระบาดรอบ 5 ต้องบอกว่า เฝ้าระวังการเข้าระบาดรอบ 5 จะดีกว่า เพราะตอนนี้ตัวเลขติดเชื้อและสถานการณ์ผู้ป่วยก็ลดลงจริง ไม่ได้แอบตัวเลขอะไร เพราะที่รายงานผู้ป่วยที่ปอดอักเสบเข้าระบบเพื่อการจัดส่งยาก็รายงานตามสถานการณ์จริง ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าเข้าระบาดรอบ 5 ก็จะย้อนแย้งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะมีสายพันธุ์เข้ามาที่แพร่เชื้อเร็ว หรือรุนแรงกว่าเดิม ส่วนเดือนต.ค.จะมีการติดเชื้อขึ้นเป็น 2 หมื่นรายหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูถึงความเสี่ยงที่สำคัญ คือ คน สถานที่ กิจกรรมและช่วงเวลาเสี่ยง ถ้าความเสี่ยงใดเพิ่มขึ้น ก็มีสิทธิกลับมาพบการติดเชื้อสูงขึ้นได้อย่างแน่นอน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว