ทำความรู้จัก ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ ความหวังใหม่ใช้รักษาต้านโควิด-19

ทำความรู้จัก ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ ความหวังใหม่ใช้รักษาต้านโควิด-19

โรคระบาดโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ในปัจจุบันมีการป้องกันโดยการฉีดวัคซีนโควิด-19 และใช้ยาต้านโควิด-19 อย่าง ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ หรือยาอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เป็นยารักษาโควิด-19 โดยเฉพาะ

ขณะนี้ในต่างประเทศได้มีการศึกษาวิจัยยาหลายตัว เพื่อนำมาใช้ในการรักษาโควิด-19 โดยในไทยเอง ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการหารือกับบริษัทผู้แทนยาของต่างประเทศทั้งหมด เช่น โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัท MSD , Protease Inhibitor (โปรตีเอส อินฮิบิเตอร์) ของบริษัทไฟเซอร์ โดยได้เจรจาหากทดลองในระยะที่ 3 ได้ผลดี มีการขึ้นทะเบียนถูกต้อง ประเทศไทยจะรีบนำมาใช้ในการระบาดรอบถัดไป

  • ไทยเตรียมนำเข้า ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยาโมลนูพิราเวียร์(Molnupiravir)ที่จะเป็นยาตัวแรกที่จะใช้เฉพาะโรคโควิด-19 คาดว่าจะทราบผลการวิจัยระยะที่ 3 เบื้องต้นในสิ้นเดือนก.ย.นี้ หากผลสำเร็จ บริษัทวางแผนจะขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)สหรัฐอเมริกาในเดือนต.ค.นี้ ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนกับอย. ภายในพ.ย.นี้ และจะมีการสั่งนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ หากยาตัวนี้สำเร็จจะมีการนำมาใช้แทน ยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากกลไกการทำงานเหมือนกัน คือ การยับยั้งไวรัสเข้าสู่เซลล์แต่ยาโมลนูพิราเวียร์จะเฉพาะเจาะจงกับไวรัสก่อโรคโควิด 19 ซึ่งจะใช้ 40 เม็ด 5 วันต่อผู้ป่วย 1 คน ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย

163092500274

  • ทำความรู้จัก ‘ยาต้านไวรัสโควิด-19’

บทความของ รศ. ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึง ยาต้านไวรัส (antivirals) ว่า ยาดังกล่าวเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อไวรัสก่อโรค จึงให้ยาหลังจากเกิดการติดเชื้อแล้วเพื่อใช้รักษาโรค ต่างจากวัคซีนที่ออกฤทธิ์กระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัส จึงเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นโรค ด้วยเหตุนี้ยาต้านไวรัสจึงไม่อาจใช้ทดแทนการให้วัคซีน

โดย ยาต้านไวรัส ออกฤทธิ์ขัดขวางการเจริญและการเพิ่มจำนวนของไวรัส โดยยาอาจไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อาร์เอ็นเอพอลิเมอเรส (RNA polymerase หรือ RNA replicase) ซึ่งเอนไซม์นี้มีความสำคัญในการเพิ่มจำนวนไวรัส หรือยาไปขัดขวางไม่ให้ไวรัสเข้าสู่ภายในเซลล์โฮสต์ เช่น เซลล์ที่ทางเดินหายใจของคน (การเจริญและการเพิ่มจำนวนของไวรัสเกิดขึ้นภายในเซลล์โฮสต์) หรือยาทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมชนิดกลายพันธุ์ทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ หรือยาอาจออกฤทธิ์อย่างอื่น สิ่งเหล่านี้ทำให้ไวรัสไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

163092502979

ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 มีนักวิจัยหลายกลุ่มได้คิดค้นยาต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งการคิดค้นอาจเริ่มต้นจากสารชนิดใหม่และนำยาที่มีใช้อยู่แล้วมาศึกษาต่อยอด ทำให้ขณะนี้มี ยาต้านไวรัสโควิด-19 ออกมาใช้ภายใต้การอนุญาตให้ใช้ในหลายลักษณะดังกล่าวข้างต้น ตัวอย่างยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่นำมาใช้แล้ว เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)

เรมเดซิเวียร์ (remdesivir), คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate), ไฮดรอกซีคลอโรควิน (hydroxychloroquine), โลพินาเวียร์ที่ให้ร่วมกับริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritonavir), ไรบาวิริน (ribavirin), อินเตอร์เฟียรอน (interferon-alpha หรือ interferon-beta), อูมิฟีโนเวียร์ (umifenovir) รวมถึงยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดีและยาอื่นๆ

  • ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ ยาต้านโควิดคืออะไร?

สำหรับ ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ (Molnupiravir) ยาต้านไวรัสทดลองแนวทางรักษาโรคโควิด-19 ในอนาคต  โดยมีลักษณะเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานออกฤทธิ์ต้านไวรัส พัฒนาขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยปัจจุบัน ยาโมลนูพิราเวียร์ มีสถานะเป็นยาต้านไวรัสทดลอง อยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 3 และอยู่ระหว่างการพิจารณาให้การรับรองขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration)

หลังจากนี้ หากผลการศึกษาพบว่ายามีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสในการเสียชีวิตมีโอกาสได้รับการรับรองให้ใช้เป็นยาฉุกเฉินสำหรับการรักษาโรคโควิด-19

การยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ร่วมกับมาตรการป้องกันตนเองแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

163092506046

ทั้งนี้ ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานมีลักษณะเป็นยาเม็ด เกิดจากความร่วมมือในการพัฒนาของบริษัท ริดจ์แบ็ค เทอราพิวทิค (Ridge Biotherapeuthics) ประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัท เมอร์ค (Merck) ประเทศเยอรมันนี

โดยจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า โมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคในมนุษย์หลายโรค เช่น โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome หรือ SARS) โรคเมอร์ส (Middle East Respiratory Syndrome หรือ MERS) และ โรคโควิด 19 (COVID-19) นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสอีโบลา (Ebola) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และไวรัสไข้สมองอักเสบบางชนิด (Encephalitis)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :'ไฟเซอร์' เริ่มทดลอง 'ยาเม็ดต้านโควิด' เล็งขออนุมัติปลายปีนี้

                    'แอนติบอดี ค็อกเทล'ยาต้านไวรัสโควิดตัวแรก ลดนอนรพ.ได้ถึง 70%

                    รู้จัก 'ยาฟาวิพิราเวียร์' ช่วยรักษา 'โควิด-19' ไทยกำลังจะผลิตเองได้

  • ความหวังใหม่ ยาเม็ดชนิดกินรักษาโควิด-19

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า "เมอร์ค" (Merck) บริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่จากเยอรมนีซึ่งร่วมมือกับบริษัทริดจ์แบค ไบโอเทราพิวติกส์ (Ridgeback Biotherapeutics) พัฒนายาเม็ดสำหรับต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ในชื่อโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir)

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แถลงเบื้องต้นว่ายาดังกล่าวประสบความสำเร็จในการทดลองระยะที่ 2 จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 202 รายที่มีอาการไม่รุนแรงและยังไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

จากการทดลองมีทั้งผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกและยาจริง ซึ่งพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาจริงครบโดสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วันมีปริมาณเชื้อไวรัสลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยไม่มีผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ใดๆ และยังไม่พบปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยา

163092508384

เวนดี เพนเทอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของริดจ์แบค ข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวเป็นเรื่องน่ายินดีเนื่องจากยังไม่มีการค้นพบยารักษาโรคโควิด-19 มาก่อน โดยทางบริษัทจะดำเนินการทดลองและประเมินผลต่อไปทั้งในผู้ป่วยนอกและในสถานพยาบาลเพื่อวางแผนพัฒนายาต้านโควิด-19 ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าผลการทดลองครั้งต่อไปจะเปิดเผยภายในไตรมาสนี้ ขณะที่ทางองค์การอาหารและยายังต้องการข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โมลนูพิราเวียร์ หรือ EIDD-2801 เป็นการรักษาในรูปแบบอะนาล็อกนิวคลีโอไซด์ซึ่งออกฤทธิ์ในวงกว้างต่ออาร์เอ็นเอไวรัส (ไวรัสที่มีอาร์เอ็นเอเป็นสารพันธุกรรม) รวมถึงไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซาร์ส และเมอร์ส

  • แนวทางการรักษาโควิด-19 ในไทย

สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น จะมีการใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ ฟ้าทะลายโจร หรือยาอื่นๆ โดยกรมการแพทย์ ได้มีการคุยกับคณะแพทย์ต่างๆ กำลังเก็บข้อมูลการศึกษาในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ต่อ สายพันธุ์เดลตา เพื่อมาวิเคราะห์ผลประสิทธิภาพเป็นอย่างไร รวมถึงเก็บข้อมูลในส่วนของยาชนิดอื่นๆ ในการรักษาโควิดด้วย

ส่วนยาชนิดใหม่ๆ ที่มีภูมิต้านทานลบล้างฤทธิ์ ยาชนิดนี้เข้ามาแล้ว เพียงแต่ยังไม่ถูกพูดถึงมากนักในแนวทางการรักษา เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง ซึ่งหากกำหนดให้อยู่ในแนวทางก็เท่ากับว่าต้องสนับสนุนการให้ยาผู้ป่วยทุกราย ซึ่งตรงนี้ยังคงเป็นไปได้ยาก โดยยาดังกล่าว 1 โดส อยู่ที่ 40,000 กว่าบาท แต่อยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้า

163092511979

รวมถึง ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นกลุ่มยาแอนตี้ไวรัสที่ผ่านการศึกษาระยะ 2 แล้วกำลังทำระยะ 3 ในต่างประเทศ และจะมีการทำกลุ่มตัวอย่างด้วย ซึ่งไทยได้มีการพูดคุยกับบริษัทยาดังกล่าว จะต้องเตรียมตัวบางส่วน ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทผลิตยาดังกล่าว เริ่มส่งสัญญาณว่าในปีนี้จะผลิตยาจำนวนเท่าไร มีประเทศใดบ้างที่ทำการจองไปแล้ว ซึ่งยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข จะยึดผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก

โดยได้มีการหารือกับทางรัฐบาลแล้วว่าหากจำเป็นที่จะต้องจองยาชนิดดังกล่าวก็อาจจะต้องจองด้วยในบางส่วนเพื่อที่จะเอามาดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย ขณะที่เงื่อนไขในการจองถือว่าค่อนข้างดี ซึ่งต้องรอให้ผ่านการศึกษาในระยะ 3 ก่อนว่าได้ผล  และหากว่าได้ผลชัดเจน ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ คงเป็นความหวังยาต้านไวรัสตัวแรกของทั่วโลกและของไทยที่จะใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19

อ้างอิง :รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, Ridgeback Bio