‘พีทีจี’ รุกโปรดักซ์ 'แอลพีจี' ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

‘พีทีจี’ รุกโปรดักซ์ 'แอลพีจี' ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

ธุรกิจก๊าซครัวเรือนอาจมองดูเป็นธุรกิจที่ไม่น่าจะบริหารจัดการยากเพราะเป็นของจำเป็นทุกบ้าน แต่ก็ยังพบ pain point  หรือจุดอ่อน อย่าง “ถังก๊าซไม่ใหม่ บางครั้งลูกค้าไม่สบายใจกับคนส่งก๊าซ” โจทย์ของผู้บริโภคหากได้รับการตอบสนอง นั่นหมายถึงความสำเร็จของธุรกิจ

สุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดลาส เอ็นเนอยี จำกัด บริษัทลูกในเครือของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า  สำหรับธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ต้องเรียกว่ายังอยู่ช่วง “ขาขึ้น” โดยเฉพาะก๊าซในภาคครัวเรือนที่เติบโตสวนกระแสมาก แม้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ยังพบช่องว่างการตลาดที่ PTG เข้าไปรุกธุรกิจนี้อีกมาก

สุวัชชัย ฉายภาพถึงเรื่องนี้ว่า ธุรกิจภาครัวเรือนมีอัตราการบริโภคสูงสุดหากเทียบกับการบริโภคก๊าซ LPG โดยมีอัตราบริโภคสูงที่ 2 ล้านตันต่อปี เทียบภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เฉลี่ย 6 แสนตันต่อปี และภาคยานยนต์อยู่ที่ 6 แสนตันต่อปี PTG จึงเห็นช่องทางโอกาสธุรกิจนี้ และอันดับแรกที่เข้ามาได้ศึกษาความต้องการของลูกค้าก่อน ทำให้ลูกค้าอยู่กับเราได้ อยากใช้บริการต่อไปเรื่อยๆเพราะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

จากการเข้าไปเริ่มต้นตลาดก๊าซครัวเรือนราว 1 ปี มีการตอบรับจากผู้บริโภคมาก จากรายได้ธุรกิจก๊าซปี 2563 มีสัดส่วนรายได้แบ่งเป็น ก๊าซยานยนต์ 93% และก๊าซครัวเรือน 7% ซึ่งเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในปี 2564 ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ก๊าซยานยนต์ 70% และก๊าซครัวเรือน 30% โดยในอนาคตมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนให้เป็นรายได้จากก๊าซยานยนต์ 50% และก๊าซครัวเรือน 50%

สำหรับจุดแข็งของธุรกิจก๊าซครัวเรือน ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเจาะตลาด นอกจากการสอบถามความต้องการผู้บริโภคแล้ว PTG มีแพลตฟอร์มสมาชิก “บัตรแมกซ์การ์ด” (Max card) ที่ปัจจุบันมีสมาชิกถึง 16 ล้านใบ สูงสุดอันดับ ของประเทศ

การที่ PTG เข้าสู่ธุรกิจก๊าซหุงต้มและสามารถครองใจผู้บริโภคได้มาจาก ความมั่นใจในความแตกต่างและบริการ ที่มี “ถังใหม่” อีกทั้งพัฒนาระบบ “วาล์วเซฟล็อค” ที่ทำให้ก๊าซไม่รั่วไหล รวมทั้งมี “คิวอาร์โค้ด” ดูประวัติการใช้ถังที่ตรวจสอบและบันทึกตั้งแต่ต้นทางบรรจุถึงปลายทางที่บ้านของลูกค้า พร้อมการดูแลกันตลอดเวลา เนื่องจาก PTG มีธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

163066297454

สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจก๊าซครัวเรือน PTG ภายใน 3-5 ปี จะครองส่วนแบ่งทางการตลาดขึ้นเป็นเบอร์ 3 ภายในปี 2567 ส่วนปี 2564 คาดว่าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับ 2% โดยมียอดขายปีนี้ในภาพรวมกลุ่มธุรกิจก๊าซครัวเรือนคาดว่าอยู่ที่ 80,000 ตัน ซึ่งช่วง 6 เดือน แรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2564) มียอดขายแล้ว 15,000 ตัน ถือเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า 100% หากเทียบจากปี 2563 ที่ยอดขายก๊าซครัวเรือนมีประมาณ 5,300 ตัน

ส่วนธุรกิจก๊าซภาคยานยนต์ ปี 2564 จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ปริมาณการใช้รถยนต์น้อยลง จึงมีแผนขยายการเติบโตธุรกิจ Auto LPG ซึ่งจะเพิ่มจำนวนปั๊มอีก 50 สาขา รวมเป็น 206 สาขาในสิ้นปี ขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดหากสถานการณ์ยังแย่ เชื่อว่ายังครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 2 แต่หากโชคดีคาดว่าจะขยับเป็นเบอร์ 1 ภายในปีนี้ โดยคาดว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 15-20%

ตลาดก๊าซยานยนต์ยังมีลูกค้ากลุ่มใหญ่เป็นรถแท็กซี่ และหากดูสถิติจดทะเบียนแท็กซี่พบว่ามีสูงถึง 80,000 คัน จึงมองเห็นโอกาสผลักดันให้แท็กซี่เปลี่ยนจากใช้ก๊าซ NGV มาใช้ก๊าซ LPG โดยเราจะเปลี่ยนถังให้ฟรี และมีบริการอื่นๆเสริม

163066299410

นอกจากนี้ PTG ยังพบไลฟ์สไตล์ในการใช้อุปกรณ์การทำอาหารที่สะดวกและปลอดภัย จึงเตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ “ก๊าซบรรจุกระป๋อง” ที่ใช้งานได้สะดวกและตอบสนองความต้องการผู้บริโภค

สุวัชชัย กล่าวปิดท้ายว่า การเติบโตก้าวกระโดดของธุรกิจก๊าซ LPG ทำให้เห็นโอกาสขยายธุรกิจ โดยมีเป้าหมายอย่างเร็วในปลายปีนี้ หรืออย่างช้าในไตรมาส 1 ปีหน้า จะนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อจัดหาเงินลงทุนมาขยายธุรกิจเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายนำไปลงทุนระบบคลังสินค้า

“เรื่องที่ท้าทายในการทำธุรกิจนี้ ผมมองว่าเป็นระบบโลจิสติกส์ เพราะการสร้างโลจิสติกส์ที่ดีจะช่วยลดต้นทุนได้ แต่เรามั่นใจระดับหนึ่งว่าจะทำได้ เพราะปัจจุบันเรามีระบบขนส่งเป็นของเราเองด้วย เป็นบริษัทในกลุ่มของเรา”