'อีอีซี' โมเดลพัฒนาเชิงพื้นที่ ดันเขตเศรษฐกิจเข้า 'แผนพัฒนาฯฉบับ 13'

'อีอีซี' โมเดลพัฒนาเชิงพื้นที่  ดันเขตเศรษฐกิจเข้า 'แผนพัฒนาฯฉบับ 13'

แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่หรือ “Area-Based Development” เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมที่เป็นเป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 จะมีการขยายผลจากอีอีซีนำความสำเร็จไปขยายในเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ

ในการพัฒนาประเทศตลอดเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 5 ถึงฉบับปัจจุบัน มีพัฒนาการของแผนการพัฒนาพื้นที่จากการกระจายความเจริญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับนโยบายการพัฒนาชนบท จนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการมีส่วนรวมในการวางแผนการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง 

ในปัจจุบันความสำเร็จของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการต่อยอดความสำเร็จมาจากการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีตทำให้เกิดรูปธรรมของการพัฒนาเชิงพื้นที่มากขึ้น รัฐบาลมีแนวคิดที่จะต่อยอดความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีไปสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นๆเพื่อให้มีการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศ 

รัฐบาลได้วางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการ 2 ชุดมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้โดยตรง ได้แก่ คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) และ ณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งการพัฒนาภาคและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งถือเป็นการวางอนาคตของประเทศไทยในการลงทุนในกิจการที่เหมาะสมกับภูมิภาค และนำมาสู่การสร้างงาน อาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนไทยทุกภาคของประเทศ

163066216057

ทั้งนี้ในการประชุม กพศ.เมื่อเร็วๆนี้ได้กำหนดพื้นที่และกิจการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษใน 4 ภาค และแบ่งเป็นระเบียงเศรษฐกิจ 4 พื้นที่โดยใช้ความสำเร็จจากอีอีซีเป็นต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย

1.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ตะวันตก (Central-Western Economic Corridor : CWEC) ประกอบไปด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี และกาญจนบุรีเพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของภาคกลาง-ตะวันตกในด้านอุตสาหกรรมเกษตร อาหารสุขภาพและอาหารทางการแพทย์ การท่องเที่ยวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้มาตรฐานระดับสากล ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบและอีอีซี

2.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปางเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เป็นแหล่งผลิตสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากฐานวัฒนธรรมล้านนา ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าบริการเพื่อสุขภาพ พัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ผสานวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงการท่องเที่ยว

3.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี และหนองคายเพื่อพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ที่เชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากอ้อยและมันสำปะหลัง สินค้าและบริการด้านอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงโปรตีนจากแมลง

4.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราชโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ให้เป็นประตูการค้า ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ การแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง แปรรูปปาล์มน้ำมันและยางพาราขั้นสูง อาหารทะเลปลอดภัย รวมทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่ระดับนานาชาติ

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า อีอีซีเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการจะขยายโมเดลของอีอีซีไปยังพื้นที่อื่นจะกำหนดอุตสาหกรรมให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในอีอีซีและเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่นจะถูกผลักดันเข้าไปเป็นหนึ่งใน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 13 (2566-2570) ที่เป็นแผนการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19

ส่วนเป้าหมายการลงทุนในอีอีซีได้มีการสรุปในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ถึงความคืบหน้าโครงการสำคัญและความคืบหน้าในการลงทุนในอีอีซีทั้งโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อีอีซีเกิดการลงทุนรวม 1.6 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่มีการกำหนดว่ามีไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2565 แต่ปัจจุบันมีการลงทุนรวมแล้วคิดเป็น 94% ของเป้าหมาย ถือว่าเร็วกว่าที่กำหนด

การลงทุนในอีอีซีในแผนเดิมอาจเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 2.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากยังรอการลงทุนอีกไม่น้อยกว่า 6 แสนล้านบาท จากโครงการที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกปีละ 1 แสนล้านบาท และเมืองใหม่น่าอยู่และเมืองอัจฉริยะ 4 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ในส่วนนี้อีอีซีอยู่ระหว่างปรับแผนการลงทุนในอีอีซีใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะปรับเพิ่มเป้าหมายจากเดิมที่กำหนดว่าจะมีการลงทุนในพื้นที่ปีละ 3-4 แสนล้านบาท เป็น 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้รวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นได้ 2% ช่วยให้จีดีพีโดยรวมของประเทศเติบโตได้ 4-5%