เกาะติด! โฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ ‘อัฟกานิสถาน’

เกาะติด! โฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ ‘อัฟกานิสถาน’

"กลุ่มตาลีบัน" เตรียมประกาศจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ในเร็วๆนี้ ท่ามกลางการเจรจาวางโครงสร้างการบริหารแบบยกเครื่อง และวิ่งเต้นแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ชนิดขาขวิดทีเดียว

แม้ว่า กลุ่มตาลีบันกำลังแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลก แต่ก็ไม่อาจเก็บซ้อนรอยร้าวภายในกลุ่มได้ อย่างการที่มุลเลาะห์ ยาคูบ บุตรชายของมุลเลาะห์ โอมาร์ ต้องการนำโครงสร้างทางทหารเข้าสู่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มากกว่าที่จะเป็นโครงสร้างทางการเมือง ขณะที่อีกฟากหนึ่งเป็นกลุ่มของ มุลเลาะห์ บาราดาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบันกำลังเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ 

มุลเลาะห์ ยาคูบ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการการทหาร และรองหัวหน้ากลุ่มตาลีบัน เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า ผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหราในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์อยู่ตอนนี้ ไม่อาจจะต่อรองการจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มตาลีบันในประเทศที่ยืนหยัดต่อต้านการยึดครองของสหรัฐ

ขณะที่กลุ่มของมุลเลาะห์ บาราดาร์ และโมฮัมเหม็ด สตานิคไซ ทำหน้าที่เจรจาต่อรองทางการทูตกับสหรัฐ ในกรุงโดฮา โดยมีปากีสถานและอังกฤษเป็นตัวกลางประสาน

มีรายงานว่า ผู้นำตาลีบัน กับเครือข่ายฮัคคานีได้เจรจาอย่างวุ่นวาย เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่อัฟกานิสถาน ซึ่งคาดว่า จะมีการประกาศใน 1-2 วันนี้

นายอาห์มาดุลเลาะห์ มุทตากี เจ้าหน้าที่ของกลุ่มตาลีบัน ระบุทางโซเชียลมีเดียว่า ขณะนี้มีการเตรียมจัดพิธีที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงคาบูล ขณะที่สถานีโทรทัศน์ Tolo ระบุว่า การประกาศจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่นั้นใกล้จะเกิดขึ้นแล้ว 

มีการคาดการณ์ว่า คณะรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถาน ว่า นายไฮบาตุลเลาะห์ อัคฮุนด์ซาดา ผู้นำสูงสุดทางศาสนาจะเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของสภาการปกครอง โดยมีประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งรองลงมา

ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า องค์กรด้านความช่วยเหลือระหว่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนมองว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของอัฟกานิสถาน ซึ่งส่อเค้าว่าจะล่มสลาย หลังกลุ่มตาลีบันกลับขึ้นสู่อำนาจ

กลุ่มตาลีบันพยายามจะประนีประนอมมากขึ้น หลังจากยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดก่อนสหรัฐหนุนหลังเมื่อเดือน ส.ค. โดยกลุ่มตาลีบันให้คำมั่นที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน และจะไม่แก้แค้นศัตรู

อย่างไรก็ดี สหรัฐ สหภาพยุโรป (EU) และประเทศอื่นๆ แสดงความไม่เชื่อมั่นถึงคำรับรองของกลุ่มตาลีบัน โดยระบุว่า การยอมรับรัฐบาลชุดใหม่อย่างเป็นทางการนั้น เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับการกระทำในอนาคต

นายกันนาร์ วีแกนด์ ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ฝ่ายกิจการเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) จะไม่ยอมรับกลุ่มตาลีบัน จนกว่าจะทำตามเงื่อนไข ซึ่งได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลที่เปิดกว้าง การเคารพสิทธิมนุษยชน และการให้อิสระแก่ เจ้าหน้าที่ผู้ให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน