“หมวดไวกิ้ง”บทสะท้อนยุบ นรต.หญิง “กลาโหม-ตร.”สวนกระแสปฏิรูป

“หมวดไวกิ้ง”บทสะท้อนยุบ นรต.หญิง  “กลาโหม-ตร.”สวนกระแสปฏิรูป

‘ผู้หมวดไวกิ้ง’ คือผลผลิตจาก ‘นรต.หญิง’ รุ่นท้ายๆ (72) ที่ สตช. หวังยกระดับให้โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นโรงเรียนชั้นนำเทียบเท่าของสหรัฐฯ ก่อนประกาศยกเลิกด้วยเหตุผลโรงเรียนเหล่าจะรับแต่นักเรียนเตรียมทหารเท่านั้น

หากไม่มีประเด็น ‘ผู้หมวดไวกิ้ง’ ร.ต.ท.หญิง ภัทรศยา ฤกษ์รัตน์ ตำรวจหญิงนั่งถือโทรศัพท์ไปจ่อไมค์เคียงข้าง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในวงแถลงข่าวจับกุม พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ ผู้กำกับโจ้ ผู้ต้องหาร่วมกับลูกน้องใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.)ที่ลามเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย

ก็คงหลงลืมกันไปแล้วว่าครั้งหนึ่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เคยได้รับการยกย่องจากองค์การสิทธิสตรีต่างๆ ว่า เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ให้ความเท่าเทียมกันในสังคมระหว่างชาย-หญิง ด้วยการเปิดรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง (นรต.หญิง) เข้าศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม ในปีการศึกษา 2552 ครั้งแรกในรอบ 107 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งมา

โดยเป็นความคิดริเริ่มของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย ‘บิ๊กป้อม’พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่นั่งเป็น ผบ.ตร.ในขณะนั้น และมี ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นนายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.ท.อมรินทร์ อัครวงษ์ เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (ผบช.รร.นรต.)

ร.ต.อ.ปุระชัย บอกเหตุผลการเปิด นรต.หญิงรุ่นแรก

โรงเรียนนายร้อยตำรวจชั้นนำอย่างในสหรัฐก็รับผู้หญิงเข้าเรียนร่วมกับนายร้อยตำรวจผู้ชายมานานหลายสิบปีแล้ว แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็รับผู้หญิงมาก่อนหน้านี้ เราซึ่งเพิ่งเปิดรับอาจดูช้าไปด้วย ทั้งนี้งานตำรวจหลายอย่าง ในอนาคตต้องอาศัยผู้หญิง ถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จก็จะทำงานเกี่ยวกับเด็ก เยาวชนและสตรีได้

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นบุคคลภายนอก อายุไม่เกิน 21 ปีบริบูรณ์ มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่า ม.6 รับ 60 คนกลุ่มที่ 2 เป็นข้าราชการตำรวจหญิง รับ 10 คน อายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันเปิดรับสมัคร ทั้ง 2 กลุ่มต้องมีส่วนสูงไม่น้อยกว่า 160 เซนติเมตร โดยการสอบจะแบ่งเป็น 3 รอบ คือรอบแรกข้อเขียนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รอบที่สองเป็นการสอบสมรรถภาพร่างกาย ประกอบด้วยวิ่งระยะทาง 1,000 เมตร ภายในเวลา 7 นาที และว่ายน้ำระยะทาง 50 เมตร ภายในเวลา 3 นาที

โดยผู้ที่ผ่านเข้ามาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ต้องผ่านการฝึกระเบียบวินัยแบบทหาร หลักสูตรความเป็นผู้นำ วิชากฎหมาย รวมทั้งวิชาการตำรวจ ระยะเวลา 4 ปี เช่นเดียวกับนักเรียนนายร้อยตำรวจชาย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ยศร้อยตำรวจตรี ทำหน้าที่เช่นเดียวกับตำรวจชั้นสัญญาบัตรชาย

ปีแล้วปีเล่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจผลิต นรต.หญิง ควบคู่ไปกับการประเมินผลว่าคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ อาทิ พนักงานสอบสวน โดยเฉพาะคดีสตรีและเด็ก ทำการสอบสวนคดี ส่งฟ้องต่ออัยการ ทำหน้าที่จราจร อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน สืบสวนนอกเครื่องแบบ ทำงานด้านการป้องกันและปราบปราม งานสายตรวจ เพื่อป้องกันและระงับเหตุ พิสูจน์หลักฐาน สืบหาวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ
หรือแม้แต่ภารกิจในการควบคุมดูแลฝูงชนในกรณีการชุมนุม หรือที่หลายคนคุ้นเคยกับชื่อ ‘กองร้อยน้ำหวาน’ งานตำรวจท่องเที่ยว ดูแลนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตำรวจตระเวนชายแดน โดยเป็นทั้งนักรบและครูในเวลาเดียวกัน รวมถึงตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

ในขณะที่ทุกอย่างกำลังเข้าที่เข้าทาง จู่ๆ ก็มีคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเลิกการจัดสรรอัตราในการรับสมัครและสอบคัดเลือกข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอกหญิง เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2562 โดยกำหนดผู้ที่จะสมัครเข้าเรียนต้องจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร เท่ากับปิดฉาก ‘นรต.หญิง’ ที่ดำเนินมาเข้าสู่รุ่นที่ 10 พอดี (รุ่นที่ 66-75)

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์กันขรมว่า ตร.ยุค พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.กำลังเดินถอยหลังลงคลอง โดยเฉพาะองค์กรสิทธิสตรีออกมาคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ด้วยการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่ง

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้ตอบข้อสงสัยหลังมีคำสั่งยกเลิก นรต.หญิง

เป็นมติกลาโหมและสภาการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร เพราะโรงเรียนทุกเหล่าทัพก็รับแต่นักเรียนเตรียมทหารเข้าเหล่าเท่านั้น และยืนยันว่า การยกเลิกรับบุคคลภายนอกเพศหญิงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย ไม่ได้ปิดกั้นตำรวจหญิงและไม่กระทบกับกำลังตำรวจหญิง ที่ผ่านมามี นรต. หญิง 10 รุ่นก็เป็นกำลังพลที่มีศักยภาพ แต่เมื่อเป็นมติกลาโหม เราก็ยอมรับและไม่คัดค้านหรือทักท้วงอะไร

ปัจจุบันการสมัครเข้าเป็นข้าราชการตำรวจหญิง ชั้นสัญญาบัตรในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเหลือเพียง 2 ช่องทาง คือ วุฒิปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยต่างๆ สอบเข้าในตำแหน่งที่เปิดรับสมัคร และนายทหารชั้นประทวนสอบเลื่อนฐานะ

ส่วน ‘ผู้หมวดไวกิ้ง’ คือผลผลิตจาก ‘นรต.หญิง’ รุ่นท้ายๆ (72) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติหวังยกระดับให้เป็นโรงเรียนนายร้อยตำรวจชั้นนำเทียบเท่าของสหรัฐฯ ก่อนจะประกาศยกเลิกด้วยเหตุผลโรงเรียนเหล่าจะรับแต่นักเรียนเตรียมทหารเท่านั้น

ภาพสะท้อนหน่วยงานความมั่นคง ตั้งแต่กระทรวงกลาโหม มาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เคยเข้าสู่ยุคก้าวหน้า แต่ที่สุดก็ถอยหลัง สวนกระแสปฏิรูปอย่างสิ้นเชิง