เช็ค!แผนปริมาณ-เป้าฉีดวัคซีนโควิด 4 เดือนท้ายปี 64

เช็ค!แผนปริมาณ-เป้าฉีดวัคซีนโควิด 4 เดือนท้ายปี 64

สธ.คาดเริ่มเข็ม 3 ประชาชนทั่วไปต.ค. เป็นแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์  เผย 4 เดือนสุดท้ายของปี64 ปริมาณวัคซีนโควิด 19 รัฐจัดหาอยู่ที่ 79.3 ล้านโดส ภาพรวมทั้งปีส่งมอบ 124 ล้านโดส เร่งฉีดตามแผนรายเดือนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตามเป้าในสิ้นปี

      เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 สำหรับประชาชนทั่วไป ว่า การฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดสให้กับประชาชนทั่วไป จากการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวิชาการ ในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีมติให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นแก่ประชาชน  ซึ่งกำลังเวียนมติให้กรรมการให้ความเห็นชอบ และจะมีการลงความเห็นชอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ส.ค. 2564 หลังจากนั้นจะนำเสนอที่ประชุมศูนย์EOCของกระทรวงสาธารณสุขให้รับทราบ และเสนอต่อที่ประชุม ศบค. ต่อไป

      “การกระตุ้นเข็ม 3 นั้น จะขึ้นกับปริมาณวัคซีนที่เข้ามา ซึ่งจากการคาดการณ์พบว่า เดือน ต.ค. นี้จะมีวัคซีนเข้ามามากประมาณ 20 ล้านโดส ดังนั้น ช่วงเดือน ต.ค. จะสามารถฉีดวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชาชนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มมาก่อนหน้านี้ แต่หากในกรณีที่วัคซีนไม่เข้ามาตามกำหนดการก็จะขยับปริมาณการให้วัคซีนออกไป ทั้งนี้ โดยหลักในการฉีดเข็ม 3 กระตุ้นต้องเป็นวัคซีนคนละชนิด โดยหากใครได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ซึ่งเป็นเชื้อตาย ก็จะได้รับการกระตุ้นเป็นไวรัลแวกเตอร์ คือแอสตร้าเซนเนก้า หรืออาจเป็นชนิด mRNA คือ ไฟเซอร์ จึงมีการเตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ รองรับ แต่เพื่อความชัดเจนขอให้รอมติอย่างเป็นทางการต่อไป”นพ.โอภาสกล่าว

     

        

ต่อมาเวลา 13.30 น.  ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับปริมาณวัคซีนและความสามารถในการฉีดวัคซีนในอีก 4 เดือนของปี 2564 นั้น  ตั้งแต่เดือนก.ย. ธ.ค. 2564 เดือนก.ย.มีวัคซีน 15.3 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 7.3 ล้านโดส และไฟเซอร์ 2 ล้านโดส เดือนต.ค.มีวัคซีน 24 ล้านโดส เป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 8 ล้านโดส เดือนพ.ย. และธ.ค.มีวัคซีนเดือนละ 20 ล้านโดส เป็น แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์ 10  ล้านโดส โดยรวมปี 2564มีแผนส่งมอบวัคซีน 124 ล้านโดส  และหากรวมกับซิโนฟาร์ม และโมเดอร์นาจะได้จำนวนรวมเป็น 140 ล้านโดส

        “ผลิตภัณฑ์วัคซีนต้องเน้นความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อส่งมอบแต่ละประเทศ รวมทั้งไทยก็ต้องตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียดก่อนกระจายให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งยอดในแผนนี้ก็คาดหวังว่าจะไม่มีอะไรติดขัด และจำนวนวัคซีนก็ยังขึ้นกับการส่งมอบจากบริษัทผู้ผลิตเช่นกัน หากกระบวนตรวจสอบคุณภาพยืนยันว่าไม่ควรส่งมอบก็อาจจะไม่ได้ตามเป้านี้ อย่างไรก็ตาม แต่ด้วยวิธีการกระบวนการผลิตต่างๆ ก็เชื่อว่าจะได้มาตามกรอบเป้าหมายนี้” นพ.เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า การกระจายวัคซีน มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการวิชาการให้ความเห็นในการเน้นให้กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงก่อน เพื่อการควบคุมป้องกันโรค โดยภาพรวมเดือน ส.ค. เป้าหมายฉีดวัคซีนจะฉีดให้ครอบคลุม 70% สำหรับวัคซีนเข็มที่ 1  โดยเน้นกลุ่มเสี่ยง608คือผู้สูงอายุ ผู้มี 7 โรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์  ใน 12 จังหวัด 

เดือน ก.ย. จะเพิ่มการฉีดเข็มที่ 1 ให้ครอบคลุมมากกว่า 70% ในกลุ่มเสี่ยง 608 ทุกจังหวัด

เดือนต.ค. จะเป็นการฉีดตามมาในเข็มที่ 2 เพื่อให้ครบ 2 เข็มมากกว่า 70% ในกลุ่ม 608 และมากกว่า 50% เข็มที่ 1 ทั้งประเทศ รวมทั้งเด็ก 

เดือน พ.ย. จะต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มากกว่า 70% ของประชาชนทั้งประเทศ และมีการพิจารณาการฉีดเข็มที่ 3 กระตุ้นสำหรับพื้นที่เสี่ยง ซึ่งกรณีวางเป็นแนวทาง

และเดือน ธ.ค. ทุกพื้นที่ทั้งประเทศต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ครบ 2 เข็ม และมีส่วนเติมเข็ม 3 ไล่หลังมา อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ไม่ใช่แค่วัคซีน ยังต้องมีมาตรการส่วนบุคคล มาตรการองค์กรต้องไปด้วยกัน

         นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงคำถามวัคซีนยังป้องกันสายพันธุ์เดลตาหรือไม่ว่า  เดลตาระบาดมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 2.5 เท่า ซึ่งการระบาดรวดเร็ว หลายประเทศที่เคยฉีดวัคซีนได้กว้างขวางก็ประสบปัญหาเจอการระบาดเดลตาจำนวนมาก เพราะฉะนั้น วัคซีนอย่างเดียวไม่เพียงพอในการหยุดการแพร่เชื้อ ยังต้องมีมาตรการอื่นๆร่วมด้วย ทั้งการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด

        ส่วนกรณีองค์การอนามัยโลกให้ฉีดวัคซีนแบบไขว้ได้หรือไม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า  องค์การอนามัยโลกไม่ได้แนะนำให้ประชาชนเลือกวัคซีนไขว้เอง แต่แนะนำให้หน่วยงานสาธารณสุขของประเทศพิจารณาฉีดวัคซีนแบบไขว้ได้ เพราะจะมีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาที่มีข้อมูลวิชาการมาประกอบ โดยองค์การอนามัยโลก พูดถึงสูตรการสลับวัคซีน โดยเข็มที่ 1 เป็นแอสตร้า หรือไวรัลเวกเตอร์ และตามด้วย mRNA แต่ไม่ได้ปิดกั้นหากประเทศไหนมีองค์ความรู้ในการฉีดไขว้ที่แตกต่างออกไป ซึ่งไทยก็มีผลการศึกษาว่า ซิโนแวคและตามด้วยแอสตร้าฯ ห่างกัน 3 สัปดาห์พบว่าภูมิคุ้มกันสูงระดับพอกับแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสั้นกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าบุคลากรการแพทย์ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ เข็ม 3 พบภูมิคุ้มกันสูงมากถึง 271.1