ผ่าเส้นทาง ‘สินบนนำจับรถหรู’ กลวิธีฟอก ‘ผิด’ เป็น ‘ถูก’
เปิดโปงขบวนการหาผลประโยชน์จาก สินบนนำจับรถหรู กลวิธีฟอกผิดเป็นถูก ฟอกรถหรู “ผิดกฎหมาย” ให้กลายเป็นรถที่ “ถูกกฎหมาย” โดยมีผลประโยชน์ “ก้อนโต” เป็นแรงจูงใจ
จากกรณีที่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยผลการตรวจสอบกรณีที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีต “ผู้กำกับโจ้” ครอบครองรถยนต์หรูจำนวนหลายคัน
พบว่าในช่วงปี 2554-2560 ผู้กำกับโจ้ ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เป็นเจ้าของสำนวนและนำส่งรถยนต์ที่ถูกจับกุม เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายศุลกากรจำนวน 368 คันมาส่งมอบให้กรมศุลกากร โดยมีทั้งรถยนต์ทั่วไปและรถยนต์หรู
เมื่อกรมศุลกากรได้รับการส่งมอบรถยนต์ ก็นำมาเปิดประมูล “ขายทอดตลาด” ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยขายทอดตลาดได้จำนวน 353 คัน คิดเป็นเงินที่ได้รับจากการประมูลประมาณ 1 พันล้านบาท
เงินที่ได้จากการประมูลดังกล่าวจะถูกจัดสรรเป็นค่าสินบนนำจับ 30% และ รางวัล 25% ซึ่ง “ผู้กำกับโจ้” จะได้รับส่วนแบ่งจากเงินรางวัลตามสัดส่วน
“เราบอกไม่ได้ว่า เงินนี้ ใครเป็นผู้ได้รับบ้าง เพราะไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นความลับทางราชการ"
เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การล่าเงินรางวัลนำจับรถหรู มีการทำเป็นขบวนการแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ต้นทาง ขับรถมาทิ้ง ชี้เป้าให้จับ ตามไปซื้อคืน ขายทำกำไรในตลาด และ รับส่วนแบ่งรางวัลนำจับที่สูง
กลวิธีนี้ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของขบวนการฟอกรถ“ผิดกฎหมาย” ให้กลายเป็นรถที่ “ถูกกฎหมาย” โดยมีผลประโยชน์ “ก้อนโต” เป็นแรงจูงใจ
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามของกรมศุลกากรท่านหนึ่ง เล่าถึงขบวนการหากินกับการจับกุมรถหรู ต้องแบ่งเป็น 2 ช่วง คือในอดีต และ ปัจจุบัน ซึ่งจะมีความแตกต่างกันมาก โดยขอไม่พาดพิงถึงผู้กำกับโจ้ แต่เป็นการบอกเล่าถึง วิธีการทำมาหากินของขบวนการเหล่านี้
เขาเล่าว่า ในอดีตช่องทางการลักลอบนำเข้ารถหรูผิดกฎหมาย จะมาในหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมกันมากคือการนำเข้ามาตามชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ต้นทางของรถหรูส่วนใหญ่มาจาก 2 ประเทศ คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ และบางส่วนมาจากฮ่องกง เพราะเป็นรถพวงมาลัยขวาเหมือนกัน
ช่องทางแรก นำเข้าจากมาเลเซีย วิธีการง่ายๆคือไปซื้อรถหรูจากตัวแทนจำหน่ายในมาเลเซียในลักษณะเงินผ่อน เมื่อไฟแนนซ์ผ่านก็นำรถเข้ามาเมืองไทย พูดง่ายๆคือ เชิดรถหนีไฟแนนซ์ เข้ามา
ทำไมถึงทำตรงนี้ได้ เพราะข้อกฎหมายซื้อรถเงินผ่อนของมาเลเซียต่างจากของไทยที่เมื่อซื้อรถเงินผ่อน ชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ และ ครอบครองรถ เป็นของเจ้าของรถ ไม่ใช่ไฟแนนซ์ ต่างจากของไทยที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์คือไฟแนนซ์ และคนซื้อคือผู้ครอบครอง
ดังนั้นเมื่อเครือข่ายซื้อรถหรูเงินผ่อนมาจากมาเลเซีย ก็นำผ่านด่านได้ เพราะมีเอกสารการครอบครองถูกต้อง กรมศุลกากรทั้ง 2 ฝ่ายก็ต้องให้ผ่านแดนได้ หลังจากนั้นเครือข่ายนี้ก็จะนำรถมาจอดทิ้งไว้ในฝั่งไทย และแจ้งตำรวจให้มาจับ เพราะเป็นรถนำเข้าแบบผิดกฎหมาย ไม่เสียภาษี ชุดจับกุมก็จะส่งเข้าสำนวนดำเนินคดี และเมื่อคดีสิ้นสุด ก็ส่งต่อให้กรมศุลกากรทำการขายทอดตลาดต่อไป
“ตรงนี้เป็นช่องโหว่ใหญ่ เราเคยมีปัญหากับมาเลเซียในกรณีนี้มาแล้ว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นกฎหมายนี้อยู่”
นี่ยังไม่นับรวมกรณีที่รถถูกโจรกรรมเข้ามา และ เข้าขบวนการฟอกรถให้ถูกกฎหมายผ่านขั้นตอนการขายทอดตลาด
ช่องทางที่ 2 นำเข้าจากสิงคโปร์ เนื่องจากกฎหมายของสิงคโปร์ รถมีอายุการใช้งาน 10 ปี รถหรูพวกนี้เมื่อใช้งานมาได้สัก 8 ปี ก็จะถูกนำออกมาจำหน่าย มีขบวนการนายหน้ามาซื้อขาย เมื่อซื้อขายเสร็จก็นำเข้ามาเมืองไทย ข้ามแดนในรูปแบบของนักท่องเที่ยว และส่งมอบในไทย จากนั้นก็ทิ้งรถไว้ให้รอจับ
ถามว่าทำแบบนี้ทำไมและได้อะไร คุ้มค่าหรือไม่
เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร อธิบายว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อน ทำแล้วคุ้ม แต่ปัจจุบันนี้ทำยังไงก็ไม่คุ้ม เพราะกรมศุลกากร กรมการขนส่งทางบก และ กระทรวงพาณิชย์ ปิดช่องโหว่ต่างๆเกือบหมดแล้ว ทำให้ขบวนการหากินทางนี้หายไปเกือบจะหมดแล้ว
เขาย้อนถึงขั้นตอนหากินกับขบวนการนำเข้ารถหรูในอดีตว่า เมื่อสามารถนำรถเข้ามาได้จาก 2 ช่องทางหลักๆข้างต้นแล้ว จนมาถึงขั้นตอนการประมูลขายทอดตลาด ซึ่งราคากลางที่ตั้งประมูล ก็จะเป็นตามสภาพรถ สภาพทรัพย์สิน
จึงมีข่าวออกมาจนเป็นรู้กันว่า รถที่ขายทอดตลาดส่วนใหญ่ จะถูกถอดอุปกรณ์สำคัญออกไป เช่น กล่องสมองกล(อีซียู) หรือ ไม่มีกุญแจรถ เพื่อที่จะได้ประมูลออกไปในราคาที่ถูก โดยหน้าม้าของขบวนการ และนำไปขายต่อทำกำไรในตลาดเกรย์มาร์เก็ต
กลุ่มคนพวกนี้จะได้กำไรอย่างไรบ้าง คุ้มหรือไม่คุ้ม คำตอบคือ ในอดีตกฎหมายเดิม (พ.ร.บ.ศุลกากร ปี 2469) สูตรแบ่งเงินรางวัลนำจับ กำหนดไว้ว่า เมื่อสิ้นสุดการขายทอดตลาด เงินที่ได้จะแบ่งเป็น 45% เข้าหลวง 55% แบ่งให้ สายลับ 30% และ ผู้จับกุม 25% ของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด ยังไม่นับรวมกำไรที่จะได้จากการนำรถไปขายต่อในตลาด
“กรมศุลกากรไม่ทราบหรอกว่า เงิน 55% ที่ได้ไปนั้น สายลับ หรือ ผู้จับกุม จะไปแบ่งกันหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ที่ทราบ สายลับมักจะมอบอำนาจให้ผู้จับกุมเป็นผู้รับเงินแทน โดยอ้างว่าไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ซึ่งก็เป็นอีกช่องโหว่ ที่เอื้อให้เกิดการทำกันเป็นขบวนการ”
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายสมัยก่อน ตราขึ้นมาในภาวะที่มูลค่าของกลางไม่ได้มากขนาดนี้ จึงจำเป็นต้องเอื้อให้มีการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย สินค้าหนีภาษี แต่ระยะหลังมานี้ บ้านเรามีคนซื้อรถหรูเยอะมาก ก็เลยเกิดขบวนการนี้ขึ้นมา คิดง่ายๆ ถ้ากรมศุลกากร ขายลัมโบร์กินี่ 1 คัน ที่ราคา 15 ล้านบาท ก็ได้รางวัลนำจับแล้ว 8.25 ล้านบาท
4 เงื่อนไขสกัดขบวนการค้ารถหรู ทำไปก็ไม่คุ้มเสี่ยง
แหล่งข่าวบอกว่า จะบอกว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่รับรู้การมีอยู่ของขบวนการนี้เลยก็คงไม่ถูกนัก เพียงแต่รู้แล้ว ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง เพื่อสกัดกั้นเส้นทางการหากินแบบนี้ บอกได้ว่า ถึงจะทำก็ทำได้ แต่ไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยง เพราะเหตุผลหลายประการ
1. แก้กฎหมายลดรางวัลนำจับ
ปัจจุบันมีการแก้กฎหมายรางวัลนำจับ (ตามพ.ร.บ.ศุลกากร 2560 และระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2560 มีผลเมื่อ 13 พ.ย. 2560) มีการปรับสูตรจ่ายกันใหม่ มีเพดานขั้นสูง โดยสายลับจะได้ 20% แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผู้จับกุม 20% แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ที่เหลือ 60% นำส่งเข้าหลวง
พูดง่ายๆต่อให้ขายรถ 1 คันได้ 100 ล้านบาท แต่ผู้จับกุม สายลับ ก็จะถูก limit รางวัลนำจับไว้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จากเดิมเคยได้ถึง 55 ล้านบาทไปแบ่งกัน
2.กรมขนส่งทางบกเข้มงวดในการจดทะเบียนรถมากขึ้น โดยก่อนที่กรมศุลกากรจะนำรถยนต์ออกขายทอดตลาด รถทุกคันจะต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกให้ถูกต้อง เพราะในอดีตเคยมีปัญหา ผู้ที่ชนะประมูลไปแล้ว ไม่สามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกได้
ในขั้นตอนนี้ ก่อนที่จะจดทะเบียนให้ กรมขนส่งทางบก จะตรวจสอบข้อมูลรถเข้มงวดมาก เช่น สอบถามตำรวจสากล (อินเตอร์โพล)ว่า รถคันนี้ ตัวถังนี้ หมายเลขเครื่องนี้ มีการแจ้งหายไว้หรือไม่ มีประวัตินำเข้าชิ้นส่วนหรือไม่ หากมีก็จะตีเป็นรถจดประกอบ ทำให้จดทะเบียนไม่ได้
3.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 13 มิ.ย.2562 กระทรวงพาณิชย์ประกาศ กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้ว รวมถึงรถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 ถ้ามีรถที่นำเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ทุกคันจะต้องทำลายทิ้งสถานเดียว ห้ามนำออกไปขายทอดตลาด ทุกวันนี้รถยนต์ที่กรมศุลกากรนำออกมาประมูล จึงเป็นรถยนต์ตกค้างก่อนปี 2562 ซึ่งเหลือไม่มากแล้ว
อย่างไรก็ตามคุณสมบัติของรถยนต์/จักรยานยนต์ ที่กระทรวงพาณิชย์ อนุญาตให้นำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่1.รถสถานทูตที่ขอนำเข้ามาใช้ 2.รถขององค์กรระหว่างประเทศ หรือ รถที่บริจาค 3.รถเก่าที่นักเรียน นักศึกษานำเข้ามาใช้ส่วนตัว
4.รถที่กรมศุลกากรนำออกขายทอดตลาด มีการปรับกติกาใหม่ โดยจะขายรถที่สามารถขับขี่ได้เท่านั้น รถที่ไม่ ”สมประกอบ” ขับเคลื่อนไม่ได้ อุปกรณ์ไม่ครบ ก็จะไม่ถูกนำขายทอดตลาดเด็ดขาด ซึ่งทำให้ขบวนการถอดชิ้นส่วนสำคัญของรถ หวังจะให้รถราคาถูกลงนั้น หมดโอกาสที่จะใช้ช่องทางนี้ ถึงจะส่งรถมา แต่ถ้า“ไม่สมประกอบ” กรมศุลกากรก็จะไม่ขายทอดตลาดให้ สุดท้ายคนนำจับ ชุดจับกุม ก็จะไม่ได้ส่วนแบ่ง ซึ่งขณะนี้ตอนนี้รถไม่สมประกอบ จอดอยู่ลานของกรมศุลกากรเป็น 100 คัน