'เตียงโควิดสีแดง'กทม.ต้องรอเกิน 1 วันลดฮวบ

'เตียงโควิดสีแดง'กทม.ต้องรอเกิน 1 วันลดฮวบ

สธ.เผยสถานการณ์เตียงโควิด 19กทม.สีเหลือง-แดงดีขึ้น  ระยะเวลารอคอยเกิน 24 ชั่วโมงไม่มาก  ย้ำแยกกักที่บ้านหากอาการเปลี่ยนสีเหลือง ขอคนไข้อย่าปฏิเสธเข้ารับบริการในรพ.-ออสพิเทล

      เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 26 สิงหาคม 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประเด็น “สถานการณ์เตียง” นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์เตียงทั่วประเทศ ในต่างจังหวัดเริ่มตึงๆ แต่การบริหารจัดการค่อนข้างเบ็ดเสร็จในแต่ละจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผอ.รพ.สามารถที่จะรวมพลังในแต่ละจังหวัดและมีการขยายเตียงไปรพ.ชุมชนได้จังหวัดก็ปัญหาไม่มาก 

     หากโฟกัสที่กทม.ซึ่งเตียงที่ว่างเป็นเพราะมีการทำการแยกกักที่บ้าน(Home Isolation:HI)  โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมที่ทำHI จำนวน 86,188 ราย  หายป่วยสะสม 28,812 ราย และอยู่ระหว่างรับบริการ 57,376 ราย

   

 

ทั้งนี้ ในพื้นที่กทม.ยังพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 4,000 รายต่อวัน  มีผู้ป่วยที่ยินยอมทำHI วันละราว 1,400-1,500 ราย นอกจากนี้ ในส่วนของศูนย์พักคอย(Community Isolation :CI)พื้นที่กทม. เปิดบริการแล้ว 64 แห่ง จำนวน 8,694 เตียง  จากทั้งหมด 70 แห่ง จำนวน 9,674 เตียง นำเข้ารายวันราว 200-300 ราย  ผู้ป่วยสะสม 15,749 ราย ครองเตียงปัจจุบัน 3,410 ราย คงเหลือ 5,284 ราย โดยจากผู้ป่วยรายวันที่เข้าHI และCI รวมกันวันละราว 1,600-1,700 ราย ที่เหลือจึงไปเข้าฮอสพิเทลหรือรพ. เป็นกระบวนการที่ดำเนินการทำให้คนที่จำเป็นต้องใช้เตียงจริงๆได้เข้าไปอยู่ในฮอสพิเทลหรือรพ.

162996379529

     ผลทำให้ผู้ติดเชื้อทั้งสีน้ำเงินไม่มีอาการ สีเขียวมีอาการเล็กน้อย สีเหลืองมีอาการมากขึ้น และสีแดง มีจำนวนการรอคอยเตียงลดลงอย่างชัดเจน หลังจากที่ใช้ระบบHI และCI  โดยสีเหลืองและแดงระยะเวลาการรอคอยดีขึ้น ส่วนใหญ่รอคอยเกิน 24 ชั่วโมงไม่มากนัก

   “เตียงสีเหลืองดีขึ้นมาก  ส่วนสีแดงยังมีต้องรอคอยอยู่ ถ้าคนไข้ในกทม.เกินวันละ 1,000ราย ขึ้นไป ซึ่งทุกวันนี้อยู่ที่ราว 4,000 ราย ที่กลัวคือเตียงไอซียูไม่พอ ยังต้องดูวันต่อวัน และตอนนี้เจอปัญหาอีกด้าน มีประชาชนที่แยกกักที่บ้าน ที่อาการเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ออกซิเจนเริ่มลดลงแพทย์ให้มารพ.หรือฮอสพิเทลเพราะมีเครื่องให้ออกซิเจน แต่มีหลายคนขอไม่มา เพราะรู้สึกว่าอยู่บ้านปลอดภัยดี ได้ยาฟาวิพิราเวียร์กินแล้ว ยาอื่นๆก็ได้ด้วย มีอาการไม่มาก จึงอยากขอว่าถ้าแพทย์แนะนำขอให้มารับการดูแลแบบสีเหลือง อย่าอยู่บ้าน”นพ.สมศักดิ์กล่าว  

    ต่อข้อถามว่า  กรณีรายงานยอดผู้หายป่วยแล้วนั้นหายแล้วจริงหรือไม่ เนื่องจากมีการจำหน่ายออกจากสถานพยาบาลหลังอยู่ครบ 10 วันเท่านั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยที่อยู่รพ. หรืออยู่ในการดูแลของบุคลากรการแพทย์ แล้ว 10 วัน ได้รับอนุญาตให้กลับมาพักต่อที่บ้านอีก 4 วัน ซึ่งต้องย้ำว่าแม้จะออกจากรพ.มา 10 วันแล้ว เราจะยังจำหน่ายออกว่าเป็นผู้หายป่วยแล้ว จะไม่ประกาศเป็นผู้หายป่วยในอินโฟกราฟฟิกที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ตัวเลขที่เห็นเผยแพร่นั้น ย้ำว่าผ่านการรักษาจนครบกำหนดถ้วนระยะเวลาการรักษาแล้ว