สื่อนอกตีข่าว ‘นักวิจัยไทย’ สุดล้ำ! พัฒนา ‘หุ่นยนต์ดึงวัคซีน’

สื่อนอกตีข่าว ‘นักวิจัยไทย’ สุดล้ำ! พัฒนา ‘หุ่นยนต์ดึงวัคซีน’

สื่อนอกตีข่าว ทีมนักวิจัยจุฬาฯ สุดล้ำ! พัฒนา “หุ่นยนต์ดึงวัคซีน” หวังเพิ่มโอกาสกระจายการฉีดและลดการสูญเสียวัคซีน

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานวันนี้ (25 ส.ค.) ว่า คณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาหุ่นยนต์ “AutoVacc” หรือเครื่องแบ่งบรรจุวัคซีนอัตโนมัติที่สามารถดึงวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ออกจากขวดได้ 12 โดสภายใน 4 นาที และเปิดใช้งานเมื่อวันจันทร์ (23 ส.ค.) ที่ผ่านมา

จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยของศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยกับรอยเตอร์ว่า หุ่นยนต์นี้สามารถดึงปริมาณวัคซีนมาใช้ได้มากกว่าแรงคน 20% หรือจาก 10 โดสเป็น 12 โดส ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการกระจายวัคซีน และลดความเหนื่อยล้าจากการใช้แรงบุคลากรทางการแพทย์

162989787011
(เครดิตภาพ: รอยเตอร์)

“ส่วนที่เพิ่มขึ้น 20% หมายความว่า หากเรามีวัคซีนแอสตร้าฯ 1 ล้านโดสสำหรับฉีด 1 ล้านคน หุ่นยนต์นี้จะช่วยเพิ่มตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนเป็น 1.2 ล้านคน”

รอยเตอร์ระบุว่า นับถึงวันที่ 25 ส.ค. ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิดครบโดสแล้วราว 9% ของจำนวนประชากรกว่า 66 ล้านคน ขณะที่จำนวนวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศนั้น ต่ำกว่าที่คาดไว้

162989795054
(เครดิตภาพ: รอยเตอร์)

ทีมวิจัยจุฬาฯ คาดว่า จะสามารถผลิตหุ่นยนต์ AutoVacc ได้อีก 20 เครื่องภายใน 3-4 เดือน แต่อาจจำเป็นต้องได้รับเงินทุนและการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลเพื่อกระจายเครื่องนี้ไปทั่วประเทศ

จุฑามาศ กล่าวว่า เครื่องต้นแบบ AutoVacc มีราคา 2.5 ล้านบาท รวมอุปกรณ์ทุกอย่าง และมีแผนจะพัฒนาหุ่นยนต์แบ่งดูดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) และโมเดอร์นา (Moderna) ด้วย

162989798433

162989798338
(เครดิตภาพ: รอยเตอร์)