'HAC – FIBO' ศูนย์รวมวิจัย พัฒนา 'หุ่นยนต์ทางการแพทย์'

'HAC – FIBO' ศูนย์รวมวิจัย พัฒนา 'หุ่นยนต์ทางการแพทย์'

มจธ. ตั้ง “HAC – FIBO” ศูนย์รวมงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้าน 'หุ่นยนต์ทางการแพทย์' อาทิ หุ่นยนต์ส่งอาหาร ส่งยา ฟื้นฟูผู้ป่วย ต่อยอด เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงในโรงพยาบาล

เป็นที่ยอมรับกันว่าเทคโนโลยี AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้แก้โจทย์ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการและยังคงมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์

Hospital Automation Research Center หรือ HAC เป็นศูนย์ที่มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ที่นำไปใช้ในโรงพยาบาล จัดตั้งขึ้นภายใต้สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เมื่อเดือนธันวาคม 2563 

วัตถุประสงค์เพื่อต้องการขับเคลื่อนองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในห้องแล็บจากรั้วมหาวิทยาลัยออกไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ โดยการผูก partner ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐและโรงพยาบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 70 แห่ง มีเป้าหมายหลักคือไปสู่การผลักดันเทคโนโลยีให้เข้าสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ ปัจจุบัน HAC ถือเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาชั้นนำด้านนวัตกรรมระบบอัตโนมัติของโรงพยาบาล แห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

162979823276

  • ผลักดันองค์ความรู้สู่การใช้จริงเชิงพาณิชย์

ผศ.ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้ก่อตั้งศูนย์ กล่าวถึงที่มาของศูนย์ Hospital Automation Research Center ว่า HAC เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มอาจารย์ในฟีโบ้ที่ทำ Robot Automation หรือ AI งานที่เกี่ยวกับการแพทย์ สุขภาพ และ Healthcare 

และมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับโรงพยาบาลทั้งในและต่างประเทศกว่า 30 แห่ง มีผลงานสะสมมาไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นกลุ่มอาจารย์ที่มีแนวคิดคล้ายกันในการที่จะผลักดันองค์ความรู้และ Technology จากมหาวิทยาลัยออกไปขยายผลต่อสู่การใช้จริงในเชิงพาณิชย์รวมถึงการผลักดันให้เกิด Start-ups ให้มากขึ้น

“ฟีโบ้นอกจากหลักสูตรการเรียนการสอนแล้ว ยังมีงานวิจัยเรื่องหุ่นยนต์ทุกแขนง ซึ่งในขณะนี้อาจมองได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มบริการภาคอุตสาหกรรม กลุ่มการศึกษา และกลุ่มทางการแพทย์ ซึ่งมีผลงานอยู่มากมาย ทางกลุ่มอาจารย์ที่ทำ Robot Automation หรือ AI ที่เกี่ยวกับ Medical และ Healthcare เองจึงได้ทดลองมารวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นศูนย์ HAC ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์ต้นแบบ และต้องการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของเราให้ไปสู่การใช้งานจริง โดยการผูกพันธมิตรกับทุกภาคส่วนทั้งระดับสากลและระดับประเทศเข้าด้วยกัน” ผศ.ดร.สุภชัย กล่าว

ปัจจุบัน HAC มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และโรงพยาบาล รวมกันกว่า 70 แห่ง  โดยมีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเป็นพันธมิตรในด้านการทำตลาด การลงทุนและสนับสนุนด้านการผลิต ส่วนหน่วยงานภาครัฐ ให้การสนับสนุนเรื่องของแหล่งทุนและเรื่องของมาตรฐาน

162979822643

นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศร่วมเป็นพันธมิตรทั้งจากเยอรมัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และภาคที่สำคัญคือ โรงพยาบาลในฐานะผู้ใช้และส่วนของการขยายผล โดยมีเครือข่ายความร่วมมือกับโรงพยาบาลกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็น eco system แบบครบวงจร โดยมี HAC เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนระบบดังกล่าวให้เกิดขึ้น  

  • "หุ่นยนต์ทางการแพทย์" ที่ถูกนำมาใช้จริง

ด้านผลงาน ศูนย์ HAC – FIBO แม้จะเพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ แต่มีผลงานวิจัยอยู่มากมาย มีทั้งสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรมากกว่า 30  ฉบับ มีผลงานทางด้านวิชาการมากกว่า 60 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติอีกกว่า 10 รางวัล ที่สำคัญ มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานและถูกนำมาใช้จริงแล้วอีกหลายผลงาน ได้แก่ 

CARVER หุ่นยนต์ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ สำหรับผู้ป่วยในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาล พร้อมฟอกอากาศและฆ่าเชื้อไวรัส

CARVER-Mini หุ่นยนต์ขนอาหารและยา สำหรับโรงพยาบาลสนาม เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ช่วยอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

162979822677

Sensible Series หุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้กลับมาเคลื่อนไหวได้ปกติมากขึ้น เช่น การเดิน การเคลื่อนไหวแขน 

NEF ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวบนเตียง ช่วยบุคลากรทางการแพทย์และผู้ดูแลผู้ป่วยที่ต้องพักฟื้นอยู่บนเตียง ระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวของผู้ป่วย ประเมินความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

162979822774

เช่น พลัดตกเตียง รวมทั้งการเกิดแผลกดทับ โดยการแจ้งเตือน, ระบบจัดการและลำเลียงยาอัตโนมัติในโรงพยาบาล เพิ่มความแม่นยำด้านเภสัชกรรมและความรวดเร็วในการบริการ, และ การใช้ AI วินิจฉัยโรคจากฟิล์ม X-ray ซึ่งผลงานทั้งหมดนี้ได้เข้าไปใช้จริงในโรงพยาบาลแล้วทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ ระบบ AI คัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะตาเหลือง ซึ่งเป็นอาการที่แสดงออกถึงความผิดปกติของตับ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัว เป็นผลงานที่ร่วมกันพัฒนาขึ้นกับภาคเอกชน FREAK Lab มจธ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น , หุ่นยนต์ถือกล้องในการผ่าตัดกระดูกที่กำลังพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลตำรวจ 

และระบบหุ่นยนต์ช่วยในการจัดการและทำความสะอาดเครื่องมือผ่าตัด เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงานของแพทย์และพยาบาล ระบบ PharmaHome ,ระบบจ่ายยาส่วนบุคคลที่จะช่วยในการติดตามการกินยาของผู้ป่วยที่บ้านเพื่อลดความผิดพลาดในการรับประทานยาและทำให้การรักษามีประสิทธิผลสูงสุด เป็นต้น

162979822656

  • AI วินิจฉัยโรคตาเหลือง

ผศ.ดร.สุภชัย  กล่าวเสริมว่า กรณีโรคตาเหลือง หรือโรคที่เกี่ยวกับตับนั้นในต่างประเทศยังไม่มีการวิจัยเกี่ยวกับการนำระบบ AI มาใช้ เนื่องจากโรคตาเหลืองถือเป็นโรคประจำถิ่นในแถบภูมิภาคเอเชีย คนไทยหรือคนเอเชียจึงมักจะมีปัญหาเรื่องตับกันเยอะมาก ขณะที่พบน้อยมากในประเทศตะวันตกจึงไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ซึ่งปกติการวินิจฉัยโรคนี้จะต้องเจาะเลือดไปตรวจในห้องแล็บ และการติดตามผลค่อนข้างยาก แต่ตอนนี้เรามีการพัฒนา AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ โดยร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชน FREAK Lab มจธ. และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะมีประโยชน์มากเพราะจะทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคสะดวกรวดเร็วขึ้นและง่ายต่อการติดตามผล

รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ FIBO กล่าวยอมรับว่า การรวมกลุ่มหุ่นยนต์ทางการแพทย์เอาไว้ในศูนย์ HAC@FIBO จะช่วยให้คนภายนอกได้เห็นว่าเรามีผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรมและศักยภาพอย่างไรบ้าง ซึ่งก็จะทำให้เราเข้มแข็งมากขึ้น และการรวมผลงานเฉพาะกลุ่มยังช่วยเรื่องของการหาแหล่งทุน และมี impact มากขึ้น เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดตั้งศูนย์ลักษณะนี้

"ส่วนใหญ่จะเน้นงานวิจัย แต่ HAC เน้นการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ไปประยุกต์ใช้ทางการแพทย์นำไปใช้ในโรงพยาบาลเป็นหลัก โดยเน้นการร่วมพัฒนากับโรงพยาบาลและพันธมิตรภาคเอกชน เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานจริง ซึ่งแม้แต่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือในเอเชียก็ยังไม่มีที่ไหนทำเหมือนเรา”