นบข.เคาะกรอบเงินจ่าย 'ประกันรายได้ชาวนา' พ่วงมาตรการเสริมวงเงิน1.5 แสนล้านบาท 

นบข.เคาะกรอบเงินจ่าย 'ประกันรายได้ชาวนา'  พ่วงมาตรการเสริมวงเงิน1.5 แสนล้านบาท 

นบข.เคาะช่วยชาวนาประกันรายได้/คู่ขนาน 64/65 รวม 1.52 แสนล้านบาท แบ่งเป็นมาตรการประกันรายได้ 8.9 หมื่นล้านบาท มาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว 5.4 หมื่นล้าน พ่วงมาตรการคู่ขนานและสินเชื่อ ดอกเบี้ย จ่ายขาด7.7 พันล้านบาท พาณิชย์เร่งเสนอไม่รอคลังตอบความเห็น

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานวานนี้ (23 ส.ค.) เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/2564 รอบที่ 1 มาตรการช่วยเหลือค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 และมาตรการที่คู่ขนานเพื่อช่วยเหลือชาวนากรอบวงเงินรวมกว่า 1.52 แสนล้านบาท

โดยวงเงินที่จะมีการใช้ในปี 2564 ที่มีการอนุมัติในหลักการประกอบไปด้วย 1.โครงการประกันรายได้ชาวนาจำนวน 4.69 ล้านครัวเรือน วงเงิน 89,402 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้วงเงินเพียง 50,642 ล้านบาท 2.โครงการช่วยเหลือค่าบริหารจัดการข้าว โดยจ่ายให้กับครัวเรือนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำกัดไม่เกิน 20ไร่ต่อครัวเรือนหรือไม่เกิน 20,000 บาท วงเงินรวม 54,972.72 ล้านบาท 

3.มาตรการคู่ขนาน โดยมีเป้าหมายชะลอการขายข้าว 10.5 ล้านตัน เป็นวงเงินที่ีรัฐบาลต้องจ่ายขาด 7,765.98 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 1)สินเชื่อชะลอการเก็บเกี่ยวข้าวฯวงเงิน 20,410.9 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายขาด 5,853.48 ล้านบาท 2)สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เป็นงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายขาด 562.5 ล้านบาท 3)การชดเชยดอกเบี้ย วงเงิน 540 ล้านบาท 4)การส่งเสริมและผลักดันการส่งออก วงเงิน 810 ล้านบาท 

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเลขานุการของ  นบข.ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าราคาข้าวในปีการผลิต 2564 /2565 มีแนวโน้มที่จะลดลงจากผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับการส่งออกข้าวชะลอตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงส่งผลให้ภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นมากจากส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมาย และราคาตลาดปัจจุบันทำให้วงเงินที่ใช้ในการประกันราคาปีนี้ค่อนข้างสูง โดยก่อนมีการประชุมได้มีการมอบหมายให้กรมการค้าภายในประสานกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการใช้วงเงินดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 รวมทั้งได้มีการทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 11 ส.ค.และขอให้กระทรวงการคลังตอบกลับมาภายในวันที่ 18 ส.ค.อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังยังไม่ได้ตอบกลับหนังสือนี้กลับมาแต่อย่างไร 

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ในฐานะกรรมการ นบข. เปิดเผยว่า เป็นการประกันรายได้ให้กับชาวนาที่ปลูกข้าว 5 ชนิดในราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40ไร่ ยกเว้นข้าวเจ้าไม่เกิน 50 ไร่ โดยมีราคาประกันรายได้และการชดเชยคือ

1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ 15,000 บาท/ตัน จำนวนครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน

2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

3.ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

4.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนไม่เกิน 25 ตัน

และ 5.ข้าวเปลือกเหนียวราคาประกันรายได้ไม่เกิน 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

 

นอกจากนั้นที่ประชุม นบข.เห็นชอบค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 รวมวงเงิน 54,972.72 ล้านบาท โดยวิธีการดำเนินการให้เกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 ส่งให้ ธ.ก.ส.เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาท ส่วนมาตรการคู่ขนานต่างๆที่ประชุม นบข.ได้มีการเห็นชอบโดยรัฐบาลจะมีวงเงินจ่ายขาดในส่วนของมาตรการคู่ขนานอีกประมาณ 7,000 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม นบข.เห็นชอบในหลักการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนานโดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือแนวทางการจัดสรรงบประมาณพร้อมจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อนำเสนอครม. พิจารณาต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้ใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อประชาชนเกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกร จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแลเกษตรกรและประชาชนให้ดีที่สุด โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

“นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใยต่อปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เช่น การแข่งขันกับต่างประเทศที่มีราคาข้าวถูกกว่าของไทย การขาดแคลนตู้สินค้า ค่าระวางเรือที่สูง โรงสีขาดสภาพคล่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น แม้ผู้ส่งออกจะได้รับผลดีในเรื่องของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าถึง8% จึงอยากให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก รวมถึงการบริหารจัดการตู้สินค้าสำหรับข้าวให้เพียงพอ นายกรัฐมนตรียังเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำนาได้ปีละครั้ง โดยให้หันมาปลูกพืชอื่นควบคู่การปลูกข้าวให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และปริมาณน้ำ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนสามารถมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวแทนการเข้ามาหางานทำในเมืองด้วย”

 

ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจรในระยะที่ 2 (ปี 2565 – 2568) โดยกระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ร่วมเป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการ และให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมดำเนินการประชาสัมพันธ์และการตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP

รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ จัดสรรโควตา10% ของโควตาการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป (EU) จำนวน 1,700 ตันต่อปี สำหรับจัดสรรให้เฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ให้กับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ที่ดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับคาดว่าคือ เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตข้าวคุณภาพที่แน่นอนไม่น้อยกว่า 30,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 350 ล้านบาท (ข้าว GAP เพิ่มขึ้นตันละ 500 บาท ข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นตันละ 2,000 บาท) รวมถึงขยายพื้นที่การผลิตข้าวคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์และข้าว GAP อย่างน้อย 700,000 ไร่ นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้บริโภคยังมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรและสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย