คร.เผยคนฉีด'วัคซีนไขว้'แล้วกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิต 1 คน

คร.เผยคนฉีด'วัคซีนไขว้'แล้วกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิต 1 คน

คร.เผยคนฉีดวัคซีนไขว้แล้วกว่า 1 ล้านคน เสียชีวิต 1 คน น้อยมากเมื่อเทียบกับคนไม่ได้ฉีดเสียชีวิต 70-140 คนต่อล้าน ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ในกทม.ค่อนข้างคงที่

เมื่อเวลา 11.30 น.  วันที่ 21 ส.ค.2564 ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 20,571 ราย และเสียชีวิตรายใหม่ 261 ราย ส่วนหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตที่เพิ่งเสียชีวิตกับที่ตกค้าง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ประเทศไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 2 หมื่นราย มีแนวโน้มว่าจะไม่พุ่งทะยานต่อ โดยนการติดเชื้อในกทม.และปริมณฑล วันละ 8 พันกว่าราย หรือคิดเป็น 72% ที่เหลือเป็นต่างจังหวัด ซึ่งแนวโน้มค่อนข้างคงที่มาหลายวัน  ส่วนข้อมูลการตรวจด้วยชุดแอนติเจน เทสต์ คิท หรือATK  วันที่ 20 ก.ค.-20 ส.ค. ในพื้นที่กทม.มีการตรวจมากที่สุด ซึ่งเปอร์เซ็นต์การพบเชื้อค่าเฉลี่ยเมื่อวันที่ 20ส.ค.อยู่ที่ 5 %  แสดงถึงการตรวจพบเชื้อมีแนวโน้มลงลงเมื่อเทียบกับหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

  

   “ภาพรวมระดับโลกจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยทั่วโลกมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นเดลตา แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตค่อนข้างคงที่ แม้จะมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม แต่ผู้เสียชีวิตเพิ่มเล็กน้อย แตกต่างจากอดีต”นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า  

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ผู้เสียชีวิต 261 ราย เป็นชายมากกว่าหญิง โดยพบทั้งสัญชาติไทย 250 ราย  เมียนมา 6 ราย  กัมพูชา 2 รายลาว จีน และเบลเยี่ยมอย่างละ 1 ราย  โดย 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่อายุน้อยกว่า 60 ปีแต่มีโรคเรื้อรัง รวม 2 กลุ่มประมาณ 87%  นอกนั้นไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง แต่มีหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย และมีผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งไม่มีประวัติฉีดวัคซีน ส่วนปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว มีโรคอ้วน โรคไต และมีผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ ยังพบปัจจัยเสี่ยงจากแหล่งโรคทำให้ติดเชื้อ โดยติดจากพื้นที่ระบาดมากที่สุด 235 ราย ติดจากคนรู้จัก เพื่อนบ้าน 97 ราย ติดเชื้อจากครอบครัว 24 ราย ที่เหลืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง 114 ราย   โดยจำนวนผู้เสียชีวิต 261 รายพบว่าเดิมกทม.มาก แต่ขณะนี้เหลือครึ่งหนึ่ง โดยกทม. 88 ราย  พื้นที่รอบๆกทม.ปริมณฑล 53 ราย ที่เหลือพบในจังหวัดชายแดนใต้ 24 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 ราย ที่เหลือภาคเหนือและภาคกลาง

 

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดไขว้ ขณะนี้มีคนฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ มากกว่า 1 ล้านคนแล้ว มี 1 รายเสียชีวิต คิดเป็น 1 ในล้าน แต่ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนสูตรใด ฉีดตัวใดก็มีโอกาสเสียชีวิตได้ แต่ยังถือว่าน้อยกว่าไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสและเสียชีวิต เฉลี่ยคิดประมาณ 4.4 ต่อล้านคน ซึ่งต่ำกว่าการไม่ได้ฉีดที่มีอัตราเสียชีวิตตั้งแต่ 70-140 ต่อล้านคน จึงมีความมั่นใจสูง การฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ ป้องกันการป่วยหนักและรุนแรงได้ โดยเฉพาะมีการระบาดของเดลตา ภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูงสู้กับเดลตาได้ จึงอยากชวนทุกคนในกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังให้รีบฉีดวัคซีนโดยเร็ว ไม่ว่าสูตรใดก็ตาม แต่ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ฉีดสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าฯ ห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งภูมิคุ้มกันจะขึ้นได้เร็วและสูง