ฟันวินัยร้ายแรง เหลือบ อคส. ทุจริตซื้อถุงมือยางแสนล้าน 

ฟันวินัยร้ายแรง เหลือบ อคส. ทุจริตซื้อถุงมือยางแสนล้าน 

ชงฟันวินัยร้ายแรง  3 เจ้าหน้าที่ อคส. ทุจริตถุงมือยางแสนล้านบาท ไล่บี้ต่อ ชงป.ป.ช.ฟันอาญา-แพ่งโทษหนักคุก 10 ปี  คาดสาวไม่ถึงผู้บงการ

งวดเข้ามาทุกทีสำหรับสอบสวนการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยาง 500 ล้านกล่องมูลค่า 112,500  ล้านบาท ขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ภายหลังที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่มีนายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการสอบสวนทางวินัยเสร็จสิ้นแล้วหลังจากใช้เวลาการสอบสวนยาวนานถึง 5 เดือน และมีความเห็นชี้มูลเจ้าหน้าที่ อคส. 3 รายมีความผิดวินัยร้ายแรงประกอบด้วยพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการอคส. และเจ้าหน้าที่บริหาร ระดับ 8 คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์   

ทั้งนี้กก.สอบวินัยจะส่งผลสอบไปนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการอคส.พิจารณาลงโทษตามที่เสนอ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของอคส. สำหรับโทษความผิดทางวินัยร้ายแรงคือ การไล่ออก สถานเดียว และจะส่งผลให้ผู้ทำความผิดวินัยร้ายแรง 3 คน ไม่ได้รับเงินบำเหน็จ หรือบำนาญใดๆ   

ย้อนรอยการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางมูลกว่าแสนล้านบาท เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2563 เมื่อนายนายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการอคส.คนใหม่เมื่อเดือนก.ย.63  ตรวจพบพิรุธการโอนเงินค่ามัดจำการซื้อถุงมือยางจำนวน 2,000 บาท ไปให้กับบริษัท การ์เดียน โกลฟส์ จำกัด  เมื่อดำเนินการตรวจสอบลึกลงไปก็พบว่า พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง องค์การคลังสินค้า (อคส.)  ในขณะนั้น อยู่ในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการอคส.    

162945324520          

           

โดยเมื่อเดือน ส.ค. 63  พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ได้ดำเนินการทำสัญญากับการ์เดียนโกลฟส์ ผู้ผลิต และผู้ซื้อถุงมือยางจากอคส.เพื่อไปขายต่ออีก 7 ราย และได้นำเงินของอคส. 2,000 ล้านบาทจ่ายให้การ์เดียนโกลฟส์เป็นค่ามัดจำสินค้า โดยไม่ผ่านการพิจารณาของบอร์ดอคส. ถือว่าผิดกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นการกระทำโดยมิชอบ ส่งผลให้บอร์ดอคส.มีมติให้นายเกรียงศักดิ์ ซึ่งเพิ่มรับตำแหน่งผู้อำนวยอคส.คนใหม่เมื่อวันที่ 10 ก.ย.63 ทำหนังสือถึงดีเอสไอ, คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พิจารณาความผิด และส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน( ปปง.) อายัดเงิน 2,000 ล้านบาท รวมถึงให้ระงับการดำเนินการตามสัญญาทั้งหมด    

ปมทุจริตถุงมือยางแสนล้านกลายเป็นประเด็นฉาวโฉ่ และเป็นประเด็นร้อนแรงโยงใยไปถึงการเมือง  จนนำไปสู่การอภิปราบไม่ไว้วางใจนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ แต่เรื่องนี้อาจทำให้อคส.ต้องเสียค่าโง่  2,000 ล้านบาท เนื่องจากได้จ่ายค่ามัดจำไปแล้ว  

แต่นายเกรียงศักดิ์  ผอ.อคส.ยืนยันว่า จะติดตามเงินค่ามัดจำนี้กลับมาให้ได้ พร้อมทั้งไล่เบี้ยทวงคืนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอคส. โดยการตั้งคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิด ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ มีนายวันชัย วราวิทย์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณามูลค่าความเสียหายที่ทั้ง 3 รายทำให้เกิดขึ้นกับอคส. และจะต้องชดใช้ให้อคส. รวมไปถึงการที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดก็จะส่งให้อัยการฟ้องอดำเนินคดีอาญาต่อไป 

             

สำหรับความผิดทางแพ่งและอาญานั้น โดยความผิดทางแพ่งจะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 11 ผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

ส่วนทางอาญา จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ.2499 มาตรา 151 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท รวมถึงมาตรา 157 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

สุดท้ายตัวละครที่โยงในในการทุจริตถุงมือยางที่เปิดเผยมีเพียง 3 ตัวละครเท่านั้น ทัั้งที่หลายคนตั้งยังตั้งข้อสงสัยว่า ทั้ง 3 คนกล้าพอที่จะทุจริตหรือไม่ หากไม่มี”ใคร” หนุนหรือเปิดทางให้ดำเนินการทั้งๆที่รู้ว่า ไม่มีอำนาจในการเซ็นสัญญาซื้อขายถุงมือยาง ผู้ที่ต้องถูกดำเนินคดีก็เป็นเพียงผู้รับคำสั่งเท่านั้นไม่สามารถสาวถึงผู้บงการได้ ทำให้ผู้บงการเบื้องหลังยังคงลอยนวลเพราะไม่มีใบเสร็จ