‘สินค้าไทย’โกอินเตอร์ไม่ใช่เรื่องยาก เจาะทริคขายบน ‘Amazon’ ให้ยอดปัง และน่าสนใจ

‘สินค้าไทย’โกอินเตอร์ไม่ใช่เรื่องยาก  เจาะทริคขายบน ‘Amazon’ ให้ยอดปัง และน่าสนใจ

รวมเทคนิคดันสินค้าให้น่าสนใจ และสร้างยอดสั่งปังๆ ผ่านเว็บ "Amazon" เพื่อเพิ่มสกิลผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยให้เติบโตระดับโลกมากขึ้น

วงการอีคอมเมิร์ซ หรือการขาย-ซื้อของออนไลน์ กลายเป็นตลาดหลัก และเป็นตัวเลือกแรกของการจับจ่ายใช้สอยของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะการใช้ชีวิตช่วงล็อคดาวน์จากโรคระบาดโควิด-19 ดังนั้นแล้วผู้ประกอบการที่คิดจะเจาะแค่ตลาดไทย อาจจะไม่เพียงพอ เพราะการพาสินค้าไทยโกอินเตอร์ไปเจาะตลาดต่างชาติก็น่าสนใจไม่แพ้กัน และไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป 

ากสัมมนาออนไลน์ “เคียงคู่ผู้ลงมือทำ 2021” EP.1 “Made in Thailand สร้างแบรนด์ไทย ส่งไกลทั่วโลก  ที่ไปรษณีย์ไทยร่วมมือกับ Amazon Global Selling Thailand ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีทริคที่น่าสนใจเพิ่มสกิลผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยให้เติบโตระดับโลกมากขึ้น 

  • สินค้าไปได้ไกล ต้องใช้ DATA เข้าร่วม 

จารุสตรี สุวรรณวงศ์ ตัวแทนจาก Amazon Global Selling Thailand ได้ให้ข้อมูลด้านการขายออนไลน์ ระหว่างประเทศ โดยเล่าให้เห็นภาพรวมว่า ปัจจุบัน Amazon คือแพลตฟอร์ม e-commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เข้าถึงลูกค้ากว่า 300 ล้านคนใน 180 ประเทศทั่วโลก มีคนเข้าเว็บมากกว่า 200 ล้านคนในแต่ละเดือน และยังมีบริการที่ช่วยจัดการด้านขนส่งถึงผู้ซื้อ

Amazon จะใช้การทำข้อมูล (Data) เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากๆ ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าเส้นทางการซื้อสินค้า การตัดสินใจมาจากไหน และควรศึกษาหาเทคนิคที่นำไปต่อยอดกับธุรกิจได้

ดังนั้น การจะเริ่มขายสินค้าสักชิ้น สิ่งที่ต้องรู้เป็นอันดับต้นๆ คือเรื่อง “การเข้าใจ Customer Journey ของลูกค้า” ซึ่งการจะนำสินค้ามาขายใน Amazon เราจะต้องเข้าใจ Traffic คนที่เข้ามาดูสินค้า ว่าพวกเขามาจากที่ไหนบ้าง? โดยมีข้อแนะนำ คือ

1. โฮมเพจ โดยปกติแล้ว บน Amazon จะปรับหรือโชว์สินค้าจากความสนใจของลูกค้าในแต่ละบุคคล เช่น สินค้าที่ดูล่าสุด, ความสนใจในช่วงเวลานั้น, สินค้าที่เคยค้นหา เป็นต้น

2. Browse node บางครั้งลูกค้าอาจจะยังไม่มีไอเดีย ว่าฉันอยากได้อะไร หรือซื้ออะไรดี เช่น ลูกค้าอยากซื้อกระเป๋า แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อกระเป๋าแบบไหน ซึ่งใน Amazon จะมีสิ่งที่เรียกว่า “Browse node” หรือแปลง่ายๆ คือ Category สินค้านั่นเอง ซึ่งมีเมนูให้ลูกค้าตัดสินใจง่ายขึ้น เช่น กระเป๋าสะพาย, กระเป๋าถือ, กระเป๋าสตางค์ เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ และตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

3. คำที่ใช้ค้นหา อีกหนึ่งช่องทางที่ลูกค้าเข้ามาคือการ “Search” จากช่องค้นหาสินค้า

4. หน้ารายละเอียดสินค้า ความน่าสนใจคือนอกจากลูกค้าจะเลือกสินค้าที่สนใจแล้ว ในหน้ารายละเอียดสินค้า จะมีสินค้าอื่นๆ ที่ระบบเลือกมาให้ เช่น สินค้าที่ถูกซื้อบ่อย, สินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ลูกค้าได้มีการเปรียบเทียบ และเลือกสินค้าได้ตรงใจมากที่สุด

ถ้ายังไม่มีสินค้าเลย จะเริ่มยังไงดี? คุณจารุสตรี แนะนำว่าให้เข้าไปศึกษาบนเว็บไซต์ Amazon.com ว่าสินค้าไหนขายดีมี Demand เยอะ ก็เลือกเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนั้นมากกว่า หรือหาสินค้าที่ใกล้เคียงกัน

162935789492

  • 5 สินค้าไทยที่มียอดขายดี บน Amazon (US)

จากข้อมูลของ Amazon Thailand สรุปสินค้าไทยที่มียอดขายสูงได้แก่ 

ศาลพระภูมิ บน Amazon จะมีชื่อว่า Spirit House โดนเน้นเอาไปใช้ตกแต่งบ้านให้สวยงาม

ถ่าน สำหรับย่างบาร์บีคิว โดยจะเน้นถ่านแท่งเรียวยาวเพื่อจะใส่ได้พอดีกับเตาย่างบาร์บีคิว

ครก เอาไปบดวัตถุดิบทำอาหาร เช่น การทำซอสเพสโต้

ชิ้นส่วนประดับยนต์รถ VIP มีการชื่นชอบฝีมือคนไทยที่มีการสร้างสรรค์อุปกรณ์ตกแต่งรถที่สวยงาม และหลากหลาย 

หนังยาง เน้นช้ในการมัดอุปกรณ์เข้าด้วยกัน 

มีด KIWI (Kitchenware) มีดแบรนด์ KIWI เป็นสินค้าคนไทยที่สร้างกระแสไวรัลในเกาหลี เพราะมันทั้งคม คงทน และมีราคาที่คุ้มค่า จึงทำให้มีความต้องการสูงสำหรับชาวอเมริกาด้วยเช่นกัน

  • เทคนิคขายของบน Amazon ให้ประสบความสําเร็จไปไกลทั่วโลก 

ด้าน มัณฑิตา จินดา Founder of Digital Tips Academy ก็เสริมทัพความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ ด้วยประเด็นเกี่ยวกับการขายออนไลน์ระหว่างประเทศ โดยแนะนำเทคนิคขายของบน Amazon คือ 

1. ดันสินค้าให้อยู่หน้าแรกของ Amazon การดันสินค้าให้อยู่หน้าแรก Amazon มีระบบหลังบ้านคล้าย กับ Google ในการแนะนําคอนเทนต์ หรือรายการสินค้าที่มีคุณภาพไปอยู่หน้าแรก ทำให้ลูกค้าพบเจอได้ง่าย โดยมีปัจจัยง่าย คือ ตั้งราคาสินค้าและค่าจัดส่งให้ถูก ทําแคมเปญยิงแอดโฆษณาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย ใช้รูปภาพและรายละเอียดสินค้าอย่างครบถ้วน โดยใช้ Keyword สําคัญที่ลูกค้าใช้บ่อย เป็นต้น

2. ตอบลูกค้าให้เร็ว อีกอย่างที่สำคัญ คือ การตอบลูกค้าให้เร็ว Amazon ให้ความสําคัญกับประสบการณ์ลูกค้าเป็นอย่างมาก และตั้งกฎไว้ว่า ผู้ขายควรจะต้องตอบกลับลูกค้าภายใน 24 ชม. เพื่อแสดงถึงความเอาใจใส่ของร้านค้า ยิ่งเราตอบได้เร็วเท่าไหร Amazon ก็จะมองว่าร้านเราเป็นร้านค้าที่มีคุณภาพมากเท่านั้น

3. คําอธิบายสินค้าต้องครบและอ่านง่าย แน่นอนว่าข้อมูลสินค้าเป็นสิ่งสําคัญในการซื้อของออนไลน์เราควรเขียนข้อมูลสินค้าให้ละเอียดครบถ้วน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยเทคนิคจะประกอบด้วย การเริ่มต้นเขียนถึงประโยชน์ของสินค้า พยายามใช้ Keyword ที่ไม่ซํ้ากับชื่อสินค้า เรียบเรียงข้อมูลให้สวยงามอ่านง่ายเป็น Bullet Point

  • ประสบการณ์ผู้ประกอบการผู้พาสินค้าไทยตีตลาดต่างชาติ 

แนท มีชูบท GM, Opimus เจ้าของแบรนด์ Banana Joe ติดปีกกล้วยทอดอบกรอบโกอินเตอร์ แบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมบน amazon การันตียอดขายนับล้านซองต่อเดือน โดยได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ไว้ว่า

เราเริ่มแรกด้วยการทดลองทำโรงงานทำขนม ซึ่งก็ใช้เวลาลองผิดลองถูกจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยฉาบ  พอมีสินค้าก็ลองหาช่องทางขาย ซึ่งมีความสนใจใน amazon เพื่อจะตีตลาดอเมริกา เคล็ดลับของการทำสินค้าให้ติดตลาดอย่างแรกคือ การทำสินค้าให้น่าสนใจ มีคู่แข่งน้อยเท่าไหรยิ่งดี อย่างเช่นกล้วยฉาบที่อาจจะมีแบรนด์อื่นทำขายเหมือนกัน แต่เรามีการปรับสูตรให้ไม่เหมือนเจ้าอื่น คือ ทำกล้วยฉาบรสชาติเค็มๆ มันๆ ซึ่งตรงกับรสชาติที่ชาวต่างชาตินิยม แทนรสชาติหวานที่เป็นรสชาติส่วนใหญ่ในตลาด

และสิ่งที่สำคัญมากๆ คือ การทำคุณภาพสินค้าที่ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร ถ้าลูกค้าทานแล้วติดใจ ต้องมีการซื้อต่อแน่นอน ซึ่งทางแบรนด์เราใช้ของเกรดเอ และไม่มีการลดคุณภาพแต่อย่างใด

162935701462

ทรัพย์ เกียรติฐิตินันท์ Founder & CEO, Bophie เจ้าของแบรนด์สบู่ Kojicwhite แบรนด์สินค้า ไทยที่กําลังได้รับความนิยมบน amazon การันตีด้วยยอดรีวิวสินค้าจากชาวอเมริกันกว่า 10,000 รีวิว ก็ได้แชร์ประสบการณ์ตรงของตนเองว่า

เราขายสินค้าทั่วไปตั้งแต่ปี 2013 เรื่อยมาจนมี Data และมั่นใจว่าสินค้าไทยขายได้ดีบน amazon จึงค่อยๆ เริ่มสร้างแบรนด์ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ ซึ่งกว่าจะจับทางได้ทางเราต้องทดลองสร้างแบรนด์มากกว่า 10 แบรนด์เจ้าของแบรนด์ Kojicwhite เล่าว่าสิ่งสำคัญที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาดคือการใส่ใจบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ฉลาก รูปทรง ที่ตรงกับรสนิยมของกลุ่มลูกค้าต่างชาติ รวมถึงการควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เช่น ISO, GMP, อย. ในฉลากสินค้า ที่ตรงตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ซึ่งส่วนตรงนี้ต้องมีการศึกษากฎหมายเข้ามาเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ความงามที่ต้องมีผลการรับทางวิทยาศาสตร์ การทดลองใช้กับมนุษย์เพื่อการันตีความปลอดภัย

นอกจากนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้สินค้าก็ล้วนสำคัญ โดยเฉพาะวัฒนธรรมผู้ซื้อชาวต่างชาติที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ผู้ขายเองก็เอาคำแนะนำ คำติชมมาปรับปรุงแก่ผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราก็เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากคำแนะนำของผู้ใช้งานที่เข้ามาแสดงความคิดเห็น

ที่มา : 

งานสัมมนา Made in Thailand “สร้างแบรนด์ไทย ส่งไกลทั่วโลก” (วันที่11 .. 64)

https://postfamily.thailandpost.com/post-update/แบรนด์สินค้า-ไปรษณีย์ไท/?fbclid=IwAR1_Q2uI0BsFWv9HZd6VL6WEZFI8-wBAfuW77Cvl6r2uZzt1qV4Z-kENU_4