รวมพลังชายเกาหลีใต้ต้าน‘เฟมินิสต์'

รวมพลังชายเกาหลีใต้ต้าน‘เฟมินิสต์'

กระแสตอบโต้แนวคิดสตรีนิยมกำลังมาแรงในเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นการประณามการให้โควตาผู้หญิง ตำหนินักกีฬาเหรียญทองโอลิมปิกผู้ตัดผมสั้น ไปจนถึงเรียกร้องให้ยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศ แม้แต่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ร่วมวงด้วย

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก และก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี แต่ยังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีประวัติด้านสิทธิสตรีย่ำแย่

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการท้าทาย เมื่อหญิงสาวต่อสู้เรื่องทำแท้งถูกกฎหมาย จัดทำแคมเปญ#MeToo เผยแพร่เป็นวงกว้าง ต่อต้านการใช้กล้องแอบถ่ายจนนำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสตรีครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลี

ที่ห้าวหาญที่สุดคือนักรณรงค์บางคนประกาศเลยว่า ชาตินี้จะไม่แต่งงาน ไม่มีลูก หรือไม่มีเซ็กส์กับผู้ชายเด็ดขาด ขณะที่คนอื่นๆ ถ่ายคลิปทุบทำลายเครื่องสำอางเพื่อต่อต้านมาตรฐานความงามอันเป็นที่ต้องการในประเทศนี้ คลิปดังกล่าวถูกแชร์ไปอย่างกว้างขวาง

โลกออนไลน์เดือด

ขณะนี้ขบวนการสิทธิสตรีกำลังเจอกระแสโต้กลับอย่างดุเดือดในโลกออนไลน์สมาชิกกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ บ่อยครั้งที่เป็นพวกฝ่ายขวา ดูหมิ่น “อันซาน” แชมป์ยิงธนูสามเหรียญทองโอลิมปิกจากโตเกียวเกมส์เพราะเธอตัดผมสั้น ไม่เพียงเท่านั้นยังเรียกร้องให้เธอคืนเหรียญและขอโทษ

 กลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์กลุ่มหนึ่งเปิดช่องยูทูบเมื่อเดือน ก.พ. ถึงขณะนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 คน และการรณรงค์บนโลกออนไลน์ของกลุ่มกำลังร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ

พวกเขาเรียกร้องคำขอโทษจากบริษัทรวมไปถึงกระทรวงหนึ่งก็โดนด้วย โทษฐานใช้ภาพการจีบนิ้วในโฆษณา โดยอ้างว่า นี่เป็นการต่อต้านผู้ชายอย่างสุดโต่งของเฟมินิสต์หัวรุนแรง เพราะใช้สัญลักษณ์หมายถึงอวัยวะเพศชายขนาดเล็ก

นักการเมืองกระแสหลักสายอนุรักษนิยมหลายคน รวมถึงสองผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ก็โหนกระแสต่อต้านเฟมินิสต์ด้วยการให้คำมั่นว่าจะยุบกระทรวงความเสมอภาคทางเพศ

นักวิจารณ์กล่าวหาว่ากระทรวงนี้มีแต่ทำให้สังคมเกาหลีใต้ตึงเครียด เหล่าชายหนุ่มอ้างว่านโยบายความเท่าเทียมทางเพศไม่สามารถแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบถึงผู้ชายได้

พวกเขากล่าวว่า ไม่สมเหตุสมผลอย่างที่สุดที่มีแต่ชายเกาหลีใต้เท่านั้นต้องเป็นทหารเกือบสองปี ทำให้การเริ่มต้นการงานอาชีพต้องล่าช้าออกไปในสังคมที่การแข่งขันสูงมาก ขณะที่ผู้หญิงได้รับการยกเว้น

ส.ส. ฮา แตกึง ที่ต้องการเป็นตัวแทนพรรคพลังประชาชน (พีพีพี) ฝ่ายค้านสายอนุรักษนิยม ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี กล่าวว่า กระทรวงความเสมอภาคทางเพศล้าสมัย เขากล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า จำเป็นต้องยุบกระทรวงเพื่อลดต้นทุนทางสังคมมหาศาล ผลจากความขัดแย้งเรื่องความเสมอภาคทางเพศ

ตอนไปร่วมรายการที่สถานีโทรทัศน์เอ็มบีซี ฮา ระบุ “มันเหมือนซอมบี้ กระทรวงยังอยู่ทั้งๆ ที่ตายไปแล้ว นั่นคือเหตุผลว่าทำไมกระทรวงถึงได้แต่สร้างเรื่องร้ายๆ”

กระแสโต้กลับโตไม่หยุด

ชารอน ยุน อาจารย์ด้านเกาหลีศึกษา มหาวิทยาลัยนอเตรดามในสหรัฐ ระบุ

“สิ่งที่เราเห็นตอนนี้คือความก้าวหน้าทุกอย่างที่ขบวนการเฟมินิสต์ในเกาหลีทำไว้ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ถูกโต้กลับอย่างรุนแรงมาก”

ด้านลี จุน ซก หัวหน้าพรรคพีพีพี วัย 36 ปี สถาปนาตนเองเป็นหนึ่งในนักการเมืองยอดนิยมที่สุดในบรรดาหนุ่มๆ เกาหลีใต้ เขากล่าวเสมอมาว่า ไม่เอาโควตาเพศหญิงและ “เฟมินิสม์หัวรุนแรง” กระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัวจำเป็นต้องถูกยุบ

ลี ผู้ถูกบางคนเปรียบเทียบกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ในแง่พูดจาโผงผางสร้างความแตกแยก ยืนยันว่า สาวๆ ประเทศนี้ไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติในการศึกษาหรือไม่ได้เข้าทำงานตั้งแต่เนิ่นๆ อีกแล้ว

“พวกผู้หญิงวัย 20-30 ปี ดูหนัง อ่านนิยายแล้วก็มโนว่าพวกตนตกเป็นเหยื่อถูกเลือกปฏิบัติ” หัวหน้าพรรคพีพีพีกล่าวกับหนังสือพิมพ์โคเรียอีโคโนมิกส์เดลี

จินซุก คิม นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า นักการเมืองกำลังแสวงหาประโยชน์จากความรู้สึกไม่พอใจของผู้ชายมาสร้างคะแนนเสียงให้ตนเอง ถึงวันนี้ผู้ชายเหล่านี้บางคนมองว่า ตนเองตกเป็นเหยื่อของแนวคิดเฟมินิสม์จากการกระทำอันเป็นปรปักษ์ของพวกเธอ

สูญเสียสิทธิพิเศษ

ปฏิกิริยานี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้โตสะดุด ความเหลื่อมล้ำสูง บ้านราคาแพง ชาวเกาหลีหลายคนสิ้นหวังในการซื้อบ้านเป็นของตนเอง

โอ แจโฮจากสถาบันวิจัยกย็องกีชี้ว่า ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกำลังแรงงานและแข่งขันกับผู้ชายเพิ่มมากขึ้น ขณะที่มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ถูกเกณฑ์ทหาร

“ชายหนุ่มรู้สึกว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม จึงร้องขอการชดเชยสิทธิพิเศษทางเพศที่ชายรุ่นก่อนๆ เคยได้รับ”

สิทธิพิเศษเหล่านั้นดำรงอยู่ยาวนาน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่จ่ายค่าจ้างหญิงชายเหลื่อมล้ำมากที่สุดในองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ผู้หญิงทำงานบ้านที่ไม่ได้ค่าจ้างมากกว่าชาย 2.6 เท่า บริษัทใหญ่ของเกาหลีใต้เพียง 5.2% เท่านั้นที่ีมีผู้หญิงร่วมอยู่ในคณะกรรมการบริหาร

แอบถ่าย-แก้แค้นด้วยภาพโป๊

การแอบถ่ายภาพอนาจารเพื่อไปแก้แค้นกันกำลังเพิ่มขึ้นมากในเกาหลีใต้ แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีอย่างอันห์ โซจัง กล่าวว่า นักการเมืองปฏิเสธว่าการเลือกปฏิบัติเชิงสถาบันต่อผู้หญิงยังมีอยู่

“และพวกเขาไล่ผู้หญิงที่แสดงความกังวลเรื่องสิทธิสตรีออกจากงาน หาว่าเป็นต้นตอความขัดแย้งระหว่างเพศ” นักเคลื่อนไหวให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ด้านกระทรวงความเสมอภาคทางเพศและครอบครัวที่ตกเป็นเป้าหมายเรียกร้องให้ยุบ ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 มีบทบาทในการยกเลิกระบบโฮจูที่เลือกปฏิบัติกับผู้หญิงในเกาหลีใต้ ระบบนี้กำหนดให้ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว เด็กเกิดมาใช้นามสกุลพ่อและต้องอยู่ในสายตระกูลของพ่อ

นอกจากนี้กระทรวงยังตั้งหน่วยงานช่วยเหลือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเก็บเงินค่าเลี้ยงดูบุตร ทำโครงการสำหรับคุณแม่ทำงานและหญิงต่างชาติที่มาแต่งงานกับชายเกาหลีใต้

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องยุบกระทรวง แน่นอนว่าชอง ยังเอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงร้องขอให้กระทรวงอยู่ต่อ

“สิทธิสตรีที่ดีขึ้นในทุกวันนี้เป็นเพราะได้เพราะกระทรวงของเรายังอยู่” รมว.ยืนยัน