World Pulse: คิดถึง‘ถนนหนังสือสายคาบูล’

World Pulse: คิดถึง‘ถนนหนังสือสายคาบูล’

ท่ามกลางความวิตกกังวลเรื่องสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน ภาพยนตร์และหนังสือมากมายที่เกี่ยวข้องกับประเทศนี้ถูกพูดถึง รวมทั้งหนังสือเล่มนี้ "ถนนหนังสือสายคาบูล"

กว่าคอลัมน์ World Pulse จะมาถึงมือผู้อ่านในวันนี้ บทวิเคราะห์สถานการณ์และอนาคตของอัฟกานิสถานในอุ้งมือตาลีบันก็มีให้อ่านจนปรุแล้วทั้งจากสื่อไทยและสื่อต่างชาติ แต่ตลอดเวลาที่มีข่าวตาลีบันรุกคืบหลังสหรัฐถอนทหารออกไป รอเวลายึดกรุงคาบูล สิ่งเดียวที่ผู้เขียนนึกถึงอยู่ตลอดเวลาคือ “ถนนหนังสือสายคาบูล” หนังสือยอดนิยมตลอดกาลในนอร์เวย์ ได้รับการแปลแล้วหลายภาษารวมทั้งภาษาไทยเมื่อปี 2550 วันนี้เห็นควรได้เวลากลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง 

ถนนหนังสือสายคาบูล หรือ The Bookseller of Kabul ผลงานของอัสนี เซียร์สตัด (Asne Seierstad) นักข่าวหญิงชาวนอร์เวย์ แปลโดยจิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ จึงไม่แปลกที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเหมือนล่องลอยอยู่ในม่านเมฆ ด้วยสำนวนแปลที่ลื่นไหลราวบทกวีไม่มีสะดุดแตกต่างจากการอ่านหนังสือแปลเล่มอื่นๆ  คำนำสำนักพิมพ์ระบุ “แม้ว่าถนนหนังสือสายคาบูลจะถูกนำเสนอในรูปแบบของนิยาย หากแต่เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดในเล่มนี้เป็นความจริงทั้งหมด” ผู้เขียนอ่านครั้งแรกเมื่อราว 4-5 ปีก่อนโดยให้ลูกสาวยืมมาให้จากห้องสมุดมหาวิทยาลัย อ่านแล้วประทับใจยกให้เป็นหนังสือขึ้นหิ้ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อเรื่องยังหลงเหลือในความทรงจำเพียงเล็กน้อย จนกระทั่งเดือนก่อนนักอ่านนักแปลรุ่นพี่มอบหนังสือเล่มนี้ที่เธอมีไว้ในครอบครองให้เป็นของขวัญ ผู้เขียนจึงเตรียมลงมืออ่านรอบสองอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ 

อย่างที่บอกว่าด้วยสำนวนแปลของจิระนันท์ พิตรปรีชา แค่บทเปิดเล่มก็สนุกแล้ว เซียร์สตัดบันทึกไว้ที่กรุงออสโล เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2545 เล่าความเป็นมาเป็นไปของนิยายเล่มนี้ว่า ระหว่างฤดูใบไม้ผลิปี 2544 เธอเข้าไปทำข่าวในอัฟกานิสถาน ติดสอยห้อยตามกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือที่กำลังต่อสู้กับตาลีบันไปในทุกๆ ที่อย่างสมบุกสมบัน จนกระทั่งตาลีบันถูกโค่นเซียร์สตัดเข้าสู่กรุงคาบูลพร้อมกองกำลังพันธมิตรฝ่ายเหนือในเดือน พ.ย. ที่นั่นเธอได้รู้จักกับสุลต่าน คาน เจ้าของร้านหนังสือในกรุงคาบูล เธอพบว่า สุลต่านคือผู้รักชาติที่อกหักกับประเทศของตนครั้งแล้วครั้งเล่า 

“ทีแรกพวกคอมมิวนิสต์เผาหนังสือผม หลังจากนั้นมูจาฮิดีนก็รืื้อค้นปล้นชิง แล้วพอมาถึงยุคตาลีบัน หนังสือก็โดนกวาดไปอีกรอบ” นี่คือปากคำของสุลต่านที่ปรากฏอยู่ในบทเปิดเล่ม ไม่เพียงตัวเขาเท่านั้นที่น่าสนใจ เซียร์สตัด พบด้วยว่า สมาชิกในครอบครัวสุลต่านล้วนมีเสน่ห์เธอควรเขียนหนังสือถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวนี้ไว้ สุลต่านจึงเชิญชวนเธอซึ่งเป็นคนแปลกหน้าให้มาอยู่ในบ้าน 

ย่อหน้าท้ายๆ ของบทเปิดเล่ม เซียร์สตัดกล่าวว่า “ฉันอยู่ในคาบูลในฤดูใบไม้ผลิหลังจากตาลีบันพ่ายหนีออกไป บรรยากาศช่วงนั้นเริ่มมีความหวังรำไร ผู้คนสบายอกสบายใจ ไม่ต้องกลัวโดนตำรวจศาสนาจับไปลงโทษด้วยข้อหาสารพัด ผู้หญิงสามารถเดินถนนคนเดียวได้ ไปศึกษาเล่าเรียนได้ แต่ในขณะเดียวกันนั่นก็เป็นช่วงเวลาแห่งความขมขื่นที่ยังคงค้างคาหลังจากสั่งสมมานานร่วมทศวรรษจะเปลี่ยนแปลงไปทำไมอีก ในเมื่อเราอยู่กันอย่างนี้มาได้ตั้งนาน?” 

ย่อหน้าเดียวบอกครบทั้งความดีอกดีใจและความหวาดหวั่นกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึง ไม่ต่างอะไรกับความรู้สึกของชาวอัฟกันในวันนี้ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง สิ่งที่ประชาคมโลกห่วงที่สุดคือสิทธิของผู้หญิงและเด็กหญิง เพราะตลอดการปกครองช่วงแรกระหว่างปี 2539-2544 ภายใต้กฎหมายอิสลาม ตาลีบันห้ามผู้หญิงทำงาน เด็กผู้หญิงไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่อออกนอกบ้านต้องสวมชุดบุรกาคลุมทั้งตัวและต้องมีญาติผู้ชายคอยดูแล ตาลีบันยุคใหม่ดูเหมือนจะรู้ทิศทางลม การแถลงข่าวครั้งแรกนับตั้งแต่ยึดประเทศสำเร็จเมื่อวันอังคาร (17 ส.ค.) โฆษกแถลง "ไม่อยากมีศัตรูไม่ว่าภายในหรือภายนอก ผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้เรียนหนังสือและทำงาน และจะมีบทบาทอย่างแข็งขันในสังคม แต่ภายใต้กรอบของอิสลาม" 

ณ บัดนี้ที่โลกกำลังจับจ้องอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของตาลีบัน (อีกครั้ง) ผู้เขียนจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิด “ถนนหนังสือสายคาบูล” อ่านอีกรอบ เพื่อเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของประเทศที่ได้ชื่อว่า “หลุมฝังศพของมหาอำนาจ” แห่งนี้ให้มากกว่าเดิม แม้เซียร์สตัดออกตัวว่า ในหนังสือเล่มนี้เธอไม่ได้เลือกเขียนถึงครอบครัวคานเพราะเป็นตัวแทนของครอบครัวอัฟกันทั่วไป แต่เลือกเพราะครอบครัวนี้มีอะไรบางอย่างที่เธอติดอกติดใจเป็นพิเศษ ตัวของคานในสายตาเซียร์สตัดคือ “ตำราประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอัฟกันที่เดินได้” ดังนั้้นในฐานะคนอ่านการอ่านซ้ำย่อมถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ตรวจสอบร่องรอยการปกครองของตาลีบันดูว่า 20 ปีผ่านไปอัฟกานิสถานจะหมุนกลับไปอยู่ที่จุดเดิมหรือไม่