'วัคซีนพาสปอร์ต-โควิดเดลต้า'ความท้าทายของเอเชีย

'วัคซีนพาสปอร์ต-โควิดเดลต้า'ความท้าทายของเอเชีย

'วัคซีนพาสปอร์ต-โควิดเดลต้า'ความท้าทายของเอเชีย ขณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเริ่มต้นเดินทางในเอเชียอีกครั้งคือการฉีดวัคซีนในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นและการลดลงของยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่

ประเทศในเอเชียพยายามพึ่งพาวัคซีนพาสปอร์ตมากขึ้น ด้วยความหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นการเดินทางเพื่อทำธุรกิจของทั่วโลกให้กลับมาคึกคักเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19ได้

แต่ปัญหาคือการระบาดอย่างรวดเร็วของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาอาจจะบั่นทอนความพยายามในเรื่องนี้ เนื่องจากวัคซีนพาสปอร์ตไม่ได้มีมาตรฐานแบบเดียวกัน ,อัตราการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกัน และขีดความสามารถด้านสุขภาพสาธารณะในเอเชียที่ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ จึงทำให้วัคซีนพลาสปอร์ตกลายเป็นอุปสรรคมากกว่าจะเป็นตัวช่วยให้เกิดการเดินทางข้ามพรมแดนสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความท้าทายในการเปิดพรมแดนและการยกเว้นไม่กักตัวบรรดานักเดินทางที่มีวัคซีนพาสปอร์ต ในรูปแบบเดียวกับที่ยุโรปกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา สิงคโปร์อนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ถือวีซ่าทำงานและได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ครบแล้ว รวมถึงผู้ติดตาม สามารถเข้าประเทศได้ เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศคลี่คลายลง เพราะจนถึงวันที่ 5 ส.ค.ประชาชนสิงคโปร์ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วในสัดส่วน 67% และได้รับการฉีดวัคซีนถึง 70% ในวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา

สิงคโปร์กำหนดให้ชาวต่างชาติที่ขออนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศต้องได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 2 สัปดาห์ โดยใช้วัคซีนของไฟเซอร์ โมเดอร์นา หรือวัคซีนที่อยู่ในบัญชีการใช้ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)

ส่วนผู้ติดตามต้องปฏิบัติตามหลักการอยู่ในที่พักอาศัย หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามกฎหมาย และในระยะต่อไป สิงคโปร์จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วจากประเทศที่มีอัตราการระบาดในระดับที่ยอมรับได้ สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้เช่นกัน โดยจะประกาศรายชื่อกลุ่มประเทศดังกล่าวในวันที่ 20 ส.ค.นี้

ด้านเวียดนาม ได้ปรับลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจาก 2 สัปดาห์ เหลือเพียง 7 วัน

ในปีที่ผ่านมาเวียดนามประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19ได้เป็นส่วนใหญ่ จากการตรวจหาเชื้อแบบมุ่งเป้าและการกักกันโรคแบบรวมศูนย์ แต่นับตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. เวียดนามก็พบผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งเป็นผลจากสายพันธุ์เดลตา

ทางการเวียดนามจึงตัดสินใจปิดพรมแดนทั้งหมด ยกเว้นพลเมืองเวียดนามที่เดินทางกลับประเทศ ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ นักลงทุน หรือนักการทูต ซึ่งทุกคนต้องถูกกักตัว 14 วัน ในสถานที่ที่ได้รับการจัดการจากส่วนกลาง

ขณะที่“แฮร์รี โร้ก” โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ฟิลิปปินส์ปรับลดระยะเวลาในการกักตัวเพื่อเฝ้าระวังโรคโควิด-19 จาก 14 วัน ลงเหลือ 7 วัน สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศทุกคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดสในประเทศฟิลิปปินส์

“ผู้เดินทางที่เข้ามายังฟิลิปปินส์ทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT PCR หรือการเก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูกเมื่อเดินทางมาถึงอีกต่อไป ส่วนวิธี RT PCR จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ที่เดินทางเข้ามาแสดงอาการโควิด-19 ในช่วงกักตัว 7 วัน” โร้ก กล่าว

ส่วนในเกาหลีใต้ นักเดินทางเพื่อทำธุรกิจชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว สามารถยื่นเอกสารเพื่อขอรับการยกเว้นถูกกักตัวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.โดยมีเงื่อนไขต่างๆมากมาย ขณะที่นักวิชาการและผู้ที่ต้องการเดินทางเยือนเกาหลีใต้ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ที่ครอบคลุมถึงผู้ต้องการเดินทางมาเยี่ยมครอบครัวก็มีสิทธิที่จะยื่นขอรับการยกเว้นจากการถูกกักตัวได้เช่นกัน

รัฐบาลโซลไม่เพียงแต่อนุญาตให้ผู้รับวัคซีนครบโดสแล้วเดินทางเข้ามาในเกาหลีใต้ได้เท่านั้น แต่ผู้ที่รับการฉีกวัคซีนซิโนฟาร์มและซิโนแวคของจีนก็สามารถยื่นเอกสารขอรับการยกเว้นไม่ต้องถูกกักตัวได้ โดยนับจนถึงวันเสาร์(14ส.ค.) อัตราการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19แบบครบโดสในเกาหลีใต้อยู่ที่ 19% ของประชากรทั้งหมด

“เกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่ยกเว้นผู้รับการฉีดวัคซีนของจีนไม่ต้องถูกกักตัวเมื่อเดินทางเข้าประเทศ” ลี ดอง กู นักวิจัยจากสถาบันอาเซียนเพื่อการศึกษานโยบายกล่าว

“โจเซฟ เอ็ม.เชียร์”ศาสตราจารย์จากศูนย์วิจัยการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยวากายามาของญี่ปุ่นมีความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเริ่มต้นเดินทางในเอเชียอีกครั้งคืออัตราการฉีดวัคซีนในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นและการลดลงของยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่

“ดูเหมือนว่าตอนนี้รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียกำลังวุ่นวายอยู่กับการรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งแก้ปัญหาอัตราการฉีดวัคซีนที่ยังต่ำอยู่ แต่การรับมือกับการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาและการฉีดวัคซีนอย่างเป็นเอกภาพของเอเชียเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะยังมีความแตกต่างกันอยู่มากในภูมิภาคนี้ ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อ อัตราการฉีดวัคซีน และโรงพยาบาลที่จะรองรับคนไข้” เชียร์ กล่าว

การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในเอเชียแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับยุโรปที่มีแนวทางการทำงานส่วนใหญ่ที่เป็นเอกภาพ โดยเมื่อวันที่1 ก.ค.สหภาพยุโรป (อียู)เริ่มต้นใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิดแบบดิจิทัล หรือ พาสปอร์ตวัคซีนโควิดแบบดิจิทัล

เอกสารยืนยันการรับวัคซีนโควิดแบบดิจิทัลของอียู ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยสำหรับการเดินทางภายในกลุ่มสหภาพยุโรป เพื่อให้พลเมืองในสหภาพยุโรปที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว สามารถใช้เอกสารนี้ในการเดินทางผ่านพรมแดนประเทศในสหภาพยุโรปได้ โดยไม่ต้องมีการกักตัวหรือต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อเพิ่ม