'ปกรณ์วุฒิ' ชำแหละ 'กรมประชา' ใช้งบ 54 ล้าน สร้าง 'แอปพลิเคชัน' ไม่คุ้มค่า

'ปกรณ์วุฒิ' ชำแหละ 'กรมประชา' ใช้งบ 54 ล้าน สร้าง 'แอปพลิเคชัน' ไม่คุ้มค่า

'ปกรณ์วุฒิ' ชำแหละ 'กรมประชา' ใช้งบ 54 ล้าน สร้าง 'แอปพลิเคชัน' ไม่คุ้มค่า สอนมวยพัฒนาคุณภาพของ content - เนื้อหารายการ

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 วาระที่ 2 ในมาตรา 7 สำนักนายกรัฐมนตรี 

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการผู้สงวนความเห็น กล่าวว่า ได้ขอตัดงบประมาณในส่วนของกรมประชาสัมพันธ์ในโครงการ พัฒนาการให้บริการสื่อวิทยุโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงผ่านเทคโนโลยีสื่อผสมจำนวน 54,724,400 บาท ซึ่งพูดให้เห็นภาพ คือโครงการจะทำแอพพลิเคชั่นที่จะให้ผู้ที่ดาวน์โหลดสามารถดูรายการสดและรายการย้อนหลังของกรมประชาสัมพันธ์ หรือ ช่อง NBT จุดประสงค์คือเพื่อให้มีผู้ชมมากขึ้น

ซึ่งตนอยากชี้ให้เห็นว่าโครงการนี้ไม่ตอบโจทย์สิ่งที่หน่วยงานต้องการแม้แต่น้อย และไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จเลย ซึ่งต่อให้ไม่มีวิกฤตโควิด โครงการแบบนี้ก็ยังถือว่าสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ และยิ่งมีวิกฤติโควิดด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรปล่อยให้งบนี้ถูกนำไปใช้โดยเปล่าประโยชน์เช่นนี้

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนจะวิเคราะห์ถึงความไม่เหมาะสมของโครงการนี้ ใน 3 มิติ โดย มิติแรก คือตลาดโดยรวมของแอปพลิเคชันมือถือ จากสถิติเราเรียกว่า Retention Rate หรืออัตราผู้ใช้งานคงเหลือ ในปี 2020 พบว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก คนที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทั้งหมด เมื่อผ่านไป 7 วัน จะเหลือแค่ประมาณ 10% ที่ยังใช้แอปพลิเคชันนั้นอยู่ และผ่านไปประมาณ 3 เดือน จะเหลือเพียง 5%เท่านั้น ที่ยังใช้อยู่ พูดง่ายๆ คือ 100 คนที่ดาวน์โหลดลงเครื่องไป เมื่อผ่านไป 7 วัน จะเหลือ 10 คน ที่ยังใช้แอปพลิเคชันนั้น และเมื่อผ่านไป 3 เดือน จะเหลือแค่ 5 คน หรืออีกสถิติหนึ่ง ซึ่งทำเมื่อต้นปีนี้เอง

ผลสรุปคือ กลุ่มคนที่อายุ 21 ปีขึ้นไป จะใช้งานแอปพลิเคชันแค่ไม่ถึงครึ่งของที่มีในสมาร์ทโฟนตัวเอง พิจารณาจากเราเองก็ได้ว่าในมือถือเรามีอยู่กี่แอปพลิเคชันและเราใช้กี่แอปพลิเคชัน ทั้งนี้ สิ่งที่ตนจะบอกก็คือ ยุคที่ใครๆ ก็ต้องทำแอพเป็นของตัวเอง มันคือเมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ที่นึกอะไรไม่ออกก็ต้องทำแอปพลิเคชันออกมา ไม่ต่างจากยุคฟองสบู่ดอตคอม ที่ใครๆ ก็ต้องทำเว็บไซต์ แต่ถึงวันนี้ เวลาก็พิสูจน์แล้วว่า ในบรรดาแอปพลิเคชันต่างๆ นับร้อยนับพันนั้น เหลือผู้อยู่รอดที่มีผู้ใช้งานจริงๆ น้อยมาก เพราะวันนี้ ถ้าเราอยากจะติดตามข่าวสาร เราจะเปิดเฟซบุุ๊กหาเพจข่าว เปิด youtube ดูรายการข่าวย้อนหลัง แทบไม่มีใครเปิดแอปพลิเคชันของช่องทีวีนั้นๆ ดู

"ในมิติที่สอง คือ ตัวหน่วยงานนั้นมีศักยภาพแค่ไหน และการทำแอปพลิเคชันคือปัจจัยที่ทำให้มีคนเพิ่มขึ้นจริงหรือ? ในที่นี้เรากำลังพูดถึงศักยภาพของ กรมประชาสัมพันธ์และช่อง NBT ซึ่งเรตติ้ง ของช่องนั้น อยู่ใน 3-4 อันดับท้าย จากช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมดมาตลอด แม้กระทั่งช่วงฟุตบอลยูโร ที่มีการถ่ายทอดสดตลอดทั้งเดือนเกือบทุกวันก็ทำเรตติ้งได้เพียง อันดับที่ 13 เท่านั้น หรือเราลองมาดูช่องทางในโซเชียลมีเดียของกรมประชาสัมพันธ์ ในเพจเฟซบุ๊กมีผู้ติดตามประมาณ 260,000 คน ซึ่งไม่เลวครับ แต่ทว่าวิดีโอต่างๆ มียอดวิวเฉลี่ยหลักพันเท่านั้น ยอดไลค์ในโพสต์ต่างๆ อยู่ที่หลักร้อย หรือแม้กระทั่งหลักสิบ หรือไม่ถึง 0.1% ของยอดผู้ติดตาม ส่วนในช่องยูทูปมีผู้ติดตามอยู่ประมาณ 20,000 คน แต่ยอดวิว มีตั้งแต่หลักพัน หลักร้อย หลักสิบ ต่ำสุดที่เห็น คือ คลิปที่ลงเมื่อปีที่แล้วมีคนดู 3 ครั้ง ผมเห็นแล้วสงสาร เลยกดเข้าไปดูเพิ่มให้แล้ว ตอนนี้เป็น 4 ยอดวิวแล้ว" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวอีกว่า เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ตนจะลองรวมรวบสถิติที่ชัดเจนจากยูทูปของกรมประชาสัมพันธ์ เปรียบเทียบกับช่องข่าวอีก 2 ช่อง คือ ไทยรัฐทีวี และวอยซ์ ทีวี จากสถิติจะเห็นว่าช่องของกรมประชาสัมพันธ์ มีผู้ติดตาม 2 หมื่นคน เฉลี่ยแล้ว 1 คลิป จะมีคนดู 1,855 ครั้ง, ช่องไทยรัฐทีวี มีผู้ติดตาม 12 ล้านคน เฉลี่ยแล้ว 1 คลิปจะมีคนดู 50,000 ครั้ง และ ช่องวอยซ์ทีวี มีผู้ติดตาม 3.3 ล้าน เฉลี่ยแล้ว 1 คลิป จะมีคนดู 77,000 ครั้ง และถึงแม้ว่าสื่อมวลชนทั้ง 2 ช่อง จะมีแอปพลิเคชั่นของตัวเอง แต่ยอดดาวน์โหลด เทียบกับยอดผู้ติดตามในยูทูปก็มีแค่ไม่ถึง 10%

ดังนั้น ปัจจัยที่ทำให้ 2 ช่องนี้ มีคนดูเยอะ แทบจะไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการมีแอปพลิเคชันเลย ซึ่งถ้าจะถามว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ช่องมีคนดูเพิ่มขึ้น คำตอบง่ายมากและถามใครก็ตอบได้ว่านั่นคือ การพัฒนาคุณภาพของ content หรือ เนื้อหารายการ เพราะถ้าการมีแอปพลิเคชันมันสามารถเพิ่มคนดูได้จริง ที่ผ่านมาหลายๆ ช่องคงไม่ต้องเอาสัมปทานดิจิทัลทีวีมาคืนรัฐหรอก แต่ทว่า ถ้าท่านยังคงคิดว่าการมีแอปพลิเคชันสามารถเพิ่มคนดูได้จริงๆ ตนก็อยากจะบอกว่าปัจจุบัน กรมประชาสัมพันธ์ มีอยู่แล้ว 2 แอปพลิเคชัน มียอดดาวน์โหลด 5,000.และ 100 และยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนด้วยว่า “ทำได้ห่วยมาก” และลองเข้าไปใช้งานก็จะพบว่า บางเมนูใช้งานไม่ได้ด้วยซ้ำ

"สมมุติว่าถ้าหน่วยงานยังดื้อดึงจะทำแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมาจริงๆ ด้วยเงิน 54 ล้านบาท ซึ่งผมต่อให้มียอดดาวน์โหลด 20,000 เท่ากับยอดผู้ติดตามในYoutube และให้ retention rate 10% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่าคือในระยะยาว จะมีผู้ใช้งานจริง 2,000 คน นั่นเท่ากับว่าเราจะใช้ต้นทุน 27,362 บาท ในการดึงผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน 1 คน ซึ่งนี่ยังไม่นับค่าบำรุงรักษาต่างๆ ในอนาคต ผมอยากฝากไปลองคิดดูหน่อยว่า งบประชาสัมพันธ์แบบนี้ มันคุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับในมิติสุดท้าย คือ ตัวโครงการ กับเงิน 54 ล้านบาทนั้น ถามว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งจากเมื่อสักครู่ ที่พูดถึงแอปพลิเคชันของไทยรัฐทีวี และวอยซ์ทีวี เราพบว่าทั้งสองแอปพลิเคชันเป็นการใช้ทรัพยากรที่สถานีโทรทัศน์ทุกแห่งพึงต้องมีอยู่แล้ว เช่น การดูสดผ่านอินเตอร์เน็ต คลิปย้อนหลังของรายการต่างๆที่เคยออกอากาศ เพียงแต่เอามาจัดวางและออกแบบใหม่ให้เป็นรูปแบบของตัวเองเท่านั้น ซึ่งไม่ซับซ้อนและไม่ได้ใช้ต้นทุนที่มากมายอะไร ซึ่งนี่คือแอปพลิเคชันของช่องที่มีผู้ติดตามหลัก 3 ล้าน และ 12 ล้าน แต่ในรายละเอียดงบที่กรมประชาสัมพันธ์ขอมา กลับมีรายการ Hardware เยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งอุปกรณ์เข้ารหัสสัญญาณสำหรับถ่ายทอดสด อุปกรณ์นำเข้าสัญญาณภาพและเสียง Harddisk จัดเก็บข้อมูล ซึ่งเหล่านี้ก็ปาไป 32 ล้านบาทแล้ว ขอมาเหมือนไม่เคยมีสถานีโทรทัศน์ของตัวเองมาก่อน ทั้งๆ ที่บนเว็บของกรมประชาสัมพันธ์ก็มีระบบดูรายการสดผ่านอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีค่าพัฒนาระบบจัดทำกระบวนการและ แอปพลิเคชัน 15 ล้านบาท ซึ่งสูงมาก

"บนช่องยูทูปของกรมประชาสัมพันธ์ มีคลิปรายการย้อนหลังอยู่แล้วมากกว่า 3,000 คลิป ผมฝากหน่วยงานไปศึกษาวิธีทำแอปพลิเคชันแบบ Web view แล้วใช้วิธี Embed วิดีโอ จากยูทูปไปลงบนหน้าแอปพลิเคชัน ซึ่งกอปปี้วางไม่กี่ครั้งเท่านั้นก็ใช้ได้แล้ว ซึ่งถ้าทำแอปพลิเคชันรูปแบบนี้ ตั้งราคาแค่ 2 ล้าน ก็มีคนมายื่นซองกันเต็ม แต่นี่ไม่รู้ให้ใครทำ TOR ให้ ถึงโดนโขกมาหนักถึง 54 ล้าน ซึ่งกับโครงการแบบนี้เอาให้ใครดูก็อายเขา ว่าตั้งราคามาแพงขนาดนี้ได้อย่างไร และพูดกันตามตรง ถ้าผมมีอำนาจตัดสินใจ แม้แต่ 2 ล้านบาท ผมก็ไม่ให้ เพราะแอปพลิเคชันแบบนี้มันไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย สู้เอา 2 ล้าน ให้ไปฝึกอบรมจรรยาบรรณสื่อให้คนในองค์กรจะมีประโยชน์กว่า" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ คือหน่วยงานที่มีงบประมาณปีละ 2 พันกว่าล้าน มีช่องทีวีดิจิทัลที่ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน วันหนี่งผู้บริหารอยากจะทำอะไรทันสมัย ชิคๆ คูลๆ แต่วิสัยทัศน์ตัวเองกลับล้าหลังเป็น10 ปี ตามไม่ทันว่าโลกมันไปถึงไหนแล้ว ไม่ดูพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่หันมาดูตัวเองว่าทำ content ได้มีคุณภาพเพียงพอให้คนเขามาดูได้หรือยัง สุดท้ายแทนที่จะเอางบไปพัฒนาคุณภาพของ content กลับเอามาใช้ในโครงการที่ไม่มีทางนำไปสู่ผลลัพธ์ที่กล่าวอ้างได้ อยากฝากไปถึงผู้บริหารหน่วยงานว่า ขอให้ทบทวนโครงการนี้เถอะ ลองถามตัวเองว่า ถ้านี่เป็นธุรกิจของท่านเอง ท่านจะใช้เงิน 54 ล้าน ไปกับโครงการแบบนี้หรือไม่ ได้โปรด ใช้งบประมาณอย่างเคารพเงินภาษีของประชาชนที่จ่ายเงินเดือนให้พวกท่านด้วย