แรงงานเมียนมาที่แม่สอด ฉีค 'ชิโนฟาร์ม' ฟรี สกัดโควิดระบาดหนัก

แรงงานเมียนมาที่แม่สอด ฉีค 'ชิโนฟาร์ม' ฟรี สกัดโควิดระบาดหนัก

ชาวเมียนมาในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ปลื้มได้ฉีดวัคซีน "ชิโนฟาร์ม" ฟรี 2,500 ราย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแรงงานต่างด้าว บรรเทาการระบาดในพื้นที่

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่ลานจอดรถยนต์ห้างโรบินสัน ตำบลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา และชาวเมียนมาทั่วไปในพื้นที่ตำบลแม่สอด และตำบลท่าสายลวด ประมาณ 750 คน ได้รับการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มเข็มแรก หลังจากที่ทางหอการค้า จ.ตาก สภาอุตสาหกรรม จ.ตาก แม่สอดมูลนิธิการกุศล และมูลนิธิโรงพยาบาลแม่สอด ได้รับการสนับสนุนวัคซีนชิโนฟาร์ม จำนวน 5,000 โดส สำหรับ 2,500 ราย จากมูลนิธิราชวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา2019 ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่ตำบลแม่สอด และตำบลท่าสายลวด จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

โดยเฉพาะนายจ้างคนไทยได้รับเชื้อโควิด-19 มาจากลูกจ้างชาวเมียนมาที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในเขตเทศบาลนครแม่สอดจนต้องเสียชีวิตไปหลายคน จึงขอซื้อวัคซีนชิโนฟาร์ม จำนวน 10,000 โดส ต่อมาทางมูลนิธิราชวิทยาลัยเห็นความสำคัญ และความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 จึงให้การสนับสนุนฟรี โดยมีการกำหนดระยะเวลาให้บริการวัคซีนคนต่างด้าวระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม 2564

162918940567

นายแพทย์ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไวรัสโคนา2019 (โควิด-19) ให้กับแรงงานต่างชาติ เนื่องจากการฉีดวัคซีนหลักให้กับคนต่างชาติติดระเบียบทางราชการ และแรงงานต่างชาติจำนวนมากเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาการระบาดของเชื้อโควิด-19ให้กับนายจ้าง เจ้าของร้านค้า พ่อค้า แม่ค้าในเขตตำบลแม่สอด และตำบลท่าสายลวด

ภาคเอกชนจึงร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการไปขอซื้อวัคซีนที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวน 10,000 โดส แต่ทางมูลนิธิราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เห็นว่า ทางภาคเอกชนในพื้นที่มีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา จึงยกให้ฟรี แต่จำนวนวัคซีนลดลงไปเหลือ 5,000 โดสเท่านั้น นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ถ้าหากโครงการฯนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะหาวัคซีนตัวอื่น หรือ ที่ราชวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มาให้บริการต่อไป

162918942067

นายอ่อง จ่อ อู ผู้สื่อข่าว บีบีซี. ชาวเมียนมา ประจำพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด และเป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี กล่าวด้วยน้ำตาคลอว่า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับวัคซีนเข็มแรก

ขอขอบคุณราชวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และทุกฝ่ายที่นำวัคซีนมา “ ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ได้เก็บตัวอยู่ในบ้านมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อไม่ให้ตัวเราเองไปติดเชื้อโควิด-19 ไประบาดสู่คนอื่น อยากจะฉีดวัคซีนป้องโรคมานาน แต่ไม่สามารถฉีดได้ เพราะเป็นคนต่างด้าว ขณะที่กำลังทำเรื่องขอสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้ การฉีดวัคซีนทำให้เรามีความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อตัวเราเองปลอดภัย คนอื่นก็ปลอดภัย ” อ่อง จ่ออู กล่าว