เปิดต้นแบบ 'อุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์'สร้างความมั่นคงทางทะเล

เปิดต้นแบบ 'อุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์'สร้างความมั่นคงทางทะเล

'สทป.'ส่งมอบต้นแบบ 'อุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์' เพื่อความมั่นคงทางทะเล ให้กองทัพเรือ เพื่อตอบสนองภารกิจของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ

วันนี้ (16 ส.ค.2564) ที่บริเวณหาดน้ำใส หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ มีพิธีส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) กับ กองทัพเรือ โดยหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.)

โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นผู้ส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ให้กับ พลเรือเอกชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ โดยมี พลเอกพอพล  มณีรินทร์  ประธานกรรมการ สทป. พลเรือเอก สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ  เข้าร่วมแสดงความยินดี  

  • 'อุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์'หนุนภารกิจความมั่นคง3 ด้าน

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา กล่าวถึง โครงการพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล ถือเป็นโครงการวิจัยและพัฒนายานพาหนะทางน้ำโครงการแรกของ สทป. เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สทป. กับ กองทัพเรือ เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านความมั่นคงและการใช้งานของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (นสร.กร.) 3 ด้าน

162912409971

1.ด้านความมั่นคงทางทหาร สนับสนุนภารกิจหลักสูตรต่างๆ ของ นสร.กร. เช่น นักทำลายใต้น้ำจู่โจม, ปฏิบัติงานใต้น้ำ และลาดตระเวน การขนส่งในพื้นที่ที่เรือใหญ่เข้าไม่ถึง (เข้าเกยหาด)

2.ด้านความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในนามของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย (อพ.สธ.) เช่น การวางทุนสำหรับผูกเรือ การเป็นฐานปฏิบัติการดำน้ำ การเก็บขยะในทะเล

3.ด้านความมั่นคงทางสังคม การมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคมสร้างการตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะในทะเลให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะให้หมดไป โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการโครงการฯ 2 ปี จนแล้วเสร็จ

  • สร้างต้นแบบ 'อุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์'

สทป.วิจัยและพัฒนาสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลในปี 2563 เป็นไปตามความต้องการใช้งานของหน่วยผู้ใช้ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ในการพัฒนาจัดสร้างต้นแบบเรืออเนกประสงค์ฯ ตามแบบของ สทป. ให้เป็นไปตามความต้องการใช้งานของหน่วยผู้ใช้ โดยมีการควบคุมการจัดสร้างตามมาตรฐานสากล เมื่อจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเลแล้วเสร็จ ได้ทำการทดสอบระบบและสมรรถนะ ดังนี้  

การทดสอบนำเรือลงหน้าท่าเพื่อทำการทดสอบระบบย่อยของเรือระหว่างวันที่ 12-13 มกราคม 64 ณ บริษัท โชคนำชัย ออโตเพรสซิ่ง จ.สุพรรณบุรี

การทดสอบประเมิน Function การใช้งานระบบต่างๆ ของเรือ (Hat) และทดสอบสมรรถนะทางทะเล (Sat) ระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม 2564 ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

162912415922

การส่งมอบต้นแบบ อุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์ เพื่อความมั่นคงทางทะเลเพื่อทดสอบภาคสนามโดยหน่วยผู้ใช้ ให้กับกองเรือยุทธการ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ณ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งผลการทดสอบสมรรถนะได้รับผลสำเร็จด้วยดีสามารถสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการใช้งานให้กับหน่วยผู้ใช้ในระดับที่น่าพอใจ

สทป.ได้แถลงปิดโครงการฯ ต่อสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) มีมติเห็นชอบให้ปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 64   จึงนำมาสู่การส่งมอบต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อ ความมั่นคงทางทะเล

  • เปิดจุดเด่น ลักษณะพิเศษ ใช้ปฎิบัติงานได้ระดับSea State3

นาวาโท ณัฐภัทร  คุ้มปรีดี  ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาจัดสร้างต้นแบบอุตสาหกรรมเรืออเนกประสงค์เพื่อความมั่นคงทางทะเล กล่าวว่า จุดเด่นและลักษณะพิเศษของเรือในโครงการนี้ คือ ผลิตจากวัสดุอะลูมิเนียมเกรดคุณภาพ ทำให้มีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรงสูง สามารถใช้ปฏิบัติงานได้ในระดับ Sea State3

นอกจากนี้ยังสามารถเปิดปิด Ramp หัวเรือเพื่อรับส่งรถขนาด 1.5 ตันได้และมีตระกร้าเก็บขยะที่รับน้ำหนักได้ถึง1ตัน พร้อมระบบดูดขยะ ที่ยกเข้ายกออกได้ ส่วนระบบเดินเรือและสื่อสาร ถือว่ามีประสิทธิภาพตอบโจทย์การใช้งานทั้งกลางวันกลางคืน  และเครื่องยนต์ยังเป็นระบบแบบ Outboard 2 เครื่อง ขนาด 300 แรงม้า ทำความเร็วสูงสุดได้ไม่ต่ำกว่า 20 นอต ปฏิบัติงานได้ 48 ชั่วโมง และยังมีอุปกรณ์ช่วยยกหรือเครน ช่วยยกน้ำหนักได้ 1ตัน  

162912411585

“ทั้งหมดนี้คือความก้าวหน้าของการดูแลอนาคตทางทะเล เพื่อสร้างสำนึกรับผิดชอบ นำไปสู่ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความมั่นคงทางสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึง ยังก่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านต่างๆ อาทิ ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดการนำเข้า หรือการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง เพิ่มมูลค่าของผลงานวิจัยและพัฒนาในอนาคต” นาวาโท ณัฐภัทร  กล่าว

 อีกทั้งยังเกิดความคุ้มค่าด้านความมั่นคง ตอบสนองยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหม สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมกิจการ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงความคุ้มค่าด้านการเมือง ก่อให้เกิดพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ บูรณาการและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือตามแผนยุทธศาสตร์ของ สทป. เกิดการพึ่งตนเองด้านการวิจัยและพัฒนา ที่สำคัญยังคุ้มค่าด้านเทคโนโลยี ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรของหน่วยงานรัฐได้ร่วมวิจัยและพัฒนา