ททท.ชูอาวุธ 'The 5 Highs-Digital 3I' ฝ่าสงครามโควิด ลั่นท่องเที่ยวไม่มีวันตาย!

ททท.ชูอาวุธ 'The 5 Highs-Digital 3I' ฝ่าสงครามโควิด ลั่นท่องเที่ยวไม่มีวันตาย!

สงครามโรคระบาด “โควิด-19” ยังไม่จบ!! แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังต้องเดินไปข้างหน้าภายใต้การบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความระมัดระวัง พร้อมปรับตัวรับกับบริบทใหม่หลังโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน

ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันอาจต้องเลือกนักท่องเที่ยวที่พร้อมจะทำตามกติกาที่กำหนด เน้นความปลอดภัย ในภาวะที่คนเดินทางอาจน้อยลงทั้งจำนวนและความถี่

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลง จะรุนแรงยิ่งกว่าเดิม! เพราะทุกประเทศต้องทำทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด

ประเทศไทยเองควรใช้โอกาสนี้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่! ด้วยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ เพื่อให้การท่องเที่ยวเติบโตอย่างยั่งยืน ลดอุปทานส่วนเกิน สร้างอุปสงค์การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ทำให้เกิดการพัฒนาอุปทานในมิติต่างๆ ที่สร้างสรรค์เพิ่มคุณค่า มีความแตกต่าง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ยอมรับว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยเกิดความถดถอยอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็น “ปัญหาเรื้อรัง” ด้านโครงสร้างที่เติบโตแบบขาดสมดุลอย่างชัดเจน! โดยเฉพาะปัญหาเรื่องอุปทานห้องพักส่วนเกินและการพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก รวมถึงปัญหาความสามารถในการปรับตัวของผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายใต้วิกฤติ ในทางกลับกันสภาพธรรมชาติที่เสื่อมโทรมกลับฟื้นตัวเป็นอย่างดีเมื่อว่างเว้นจากภาวะการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเกินขีดความสามารถในการรองรับ  

สำหรับแนวทางหลักที่ ททท.ต้องทำในระยะต่อไป ภายใต้แนวคิด The 5 Highsประกอบด้วย 1.High Quality ขยายตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงที่มุ่งเน้นคุณค่าของประสบการณ์เหนือราคา แก้ปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวหลักและวันหยุดสุดสัปดาห์ 2.High Value พัฒนาสินค้ามูลค่าสูงและมีเอกลักษณ์ที่สอดคล้องกับสินค้าหลักทางการท่องเที่ยวที่กำหนดในยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวแห่งชาติ

3.High Impacts สนับสนุนการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวที่ช่วยลดการสร้างมลภาวะและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงการใช้เรื่อง Carrying Capacity เป็นเงื่อนไขในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม ทั้งด้านการพัฒนาและการตลาดการท่องเที่ยว

4.High Skills เพิ่มสมรรถนะของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีความยืดหยุ่นและสร้างสรรค์ในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้งในภาวะวิกฤติและภาวะปกติ และ 5.High Tech ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำตลาดการท่องเที่ยวเชิงรุกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจและชุมชน

ยุทธศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ททท.จะเข้าไปมีบทบาทส่งเสริมให้ภาคเอกชนปรับเปลี่ยนสู่ระบบ “ดิจิทัล” นำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบด้วย! ช่วยเพิ่มศักยภาพและผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวคว้าโอกาสใหม่ๆ และฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้นจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ภายใต้แนวทาง Digital 3I ได้แก่ 1.Digital Industry สนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปปรับใช้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งอุตสาหกรรม นำโซลูชั่นดิจิทัลมาใช้ในการเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ ติดต่อสื่อสาร และการทำธุรกรรมของผู้คน โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความคาดหวังของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

2.Digital Investing ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพลิกโฉมสู่ยุคดิจิทัลของภาคธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ มุ่งสร้างความยืดหยุ่นทางธุรกิจและการเชื่อมต่อที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย และ 3.Digital Innovation ร่วมพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลด้วย ทั้งทักษะด้านเทคโนโลยี และทักษะด้านการจัดการเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาความคิดริเริ่มด้านดิจิทัล

“ท่องเที่ยวไม่มีวันตาย! (Tourism Never Die) เป็นเรื่องที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกัน ในลักษณะรัฐหนุน เอกชนดัน เพื่อทำให้การท่องเที่ยวกลับมาอย่างรวดเร็วพร้อมคุณภาพและความยั่งยืน ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ต่อไป สอดรับกับโจทย์ที่เปลี่ยนไปซึ่งมุ่งสู่โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ท่องเที่ยวคุณภาพสูง และท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ สร้างแลนด์สเคปใหม่แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านการจัดการด้านซัพพลายอย่างเหมาะสม ผลักดันให้การท่องเที่ยวในประเทศมีความสำคัญเพิ่มขึ้น และเตรียมความพร้อมรับมือกับการดิสรัปด้านเทคโนโลยี”

สำหรับปี 2565 ททท.ตั้งเป้าหมายสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นซีนาริโอที่ดีที่สุดจากแนวโน้มการเติบโตทางการท่องเที่ยวของไทย คิดเป็น 2 ใน 3 เมื่อเทียบกับรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 โดยมีเงื่อนไขสำคัญ นั่นคือ “การกระจายวัคซีน” จะคุมการระบาดให้ได้ในช่วงต้นไตรมาส 4 ปีนี้! รวมถึง “การเปิดประเทศ” รับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแบบไม่กักตัว เป็นไปตามแผนเริ่มเปิดรับได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ และมีการปลดล็อกการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ขณะที่ปี 2564 ททท.คาดการณ์แนวโน้มประเทศไทยมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งตลาดในและต่างประเทศที่ 625,700 ล้านบาท แบ่งเป็นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1.2 ล้านคน ก่อให้เกิดรายได้ 85,000 ล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวไทยคาดอยู่ที่ 100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 540,700 ล้านบาท