หนังเล่าโลก: Mimi 'การเป็นแม่คือของขวัญวิเศษ'

หนังเล่าโลก: Mimi  'การเป็นแม่คือของขวัญวิเศษ'

หนังเล่าโลกชวนดูชีวิตหญิงสาวเปี่ยมฝันผู้ต้องกลายเป็นแม่เพราะความจำเป็น ตัดสินใจรับจ้างอุ้มบุญเพื่อเงิน แต่เธอก็รักลูกในท้องยิ่งกว่าแม่แท้ๆ ด้วยซ้ำ

ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่อาจทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งได้เป็นแม่โดยไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ อย่างกรณี “แม่อุ้มบุญ” แต่จะปฏิเสธได้อย่างไรว่า แม่ประเภทนี้ไม่มีความรักความผูกพันกับชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ในครรภ์ของเธอนาน 9 เดือนเหมือนแม่ในนิยามเดิม ดูได้จากภาพยนตร์อินเดียเรื่อง Mimi 

Mimi เป็นภาพยนตร์ปี 2564 ผลงานการกำกับของ  Laxman Utekar บอกเล่าเรื่องราวของมีมี่ หญิงสาววัย 25 ปี ที่สาวๆ แถวบ้านมีสามีกันไปหมดแล้ว แต่เธอยังครองตัวเป็นโสดเพราะมุ่งมั่นจะไปเป็นดาราบอลลีวูด ซึ่งการเข้าวงการไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องต้นมีมี่ต้องมีทุนในการถ่ายรูป ถ่ายคลิป ส่งไปยังเอเยนซี่ถึง 1 ล้านรูปี แต่โอกาสของเธอมาถึงเมื่อจอห์นและซัมเมอร์ คู่สามีภรรยาชาวอเมริกันตระเวนมายังรัฐราชสถานของอินเดีย เพื่อเสาะหาหญิงสุขภาพแข็งแรงไปเป็นแม่อุ้มบุญ  ทั้งคู่ถูกใจมีมี่จึงให้ภาณุ คนขับรถไปทาบทามมาให้ได้ ภาณุซึ่งมีปัญหาแต่งงานแล้วไม่มีลูกเหมือนกันเข้าใจความทุกข์ของจอห์นและซัมเมอร์ดี เขาทำทุกวิถีทางให้มีมี่ตกลงรับ “อุ้มบุญ” พร้อมค่าจ้าง 2 ล้านรูปี (ราว 1 ล้านบาท)  ส่วนหนึ่งของความพยายามโน้มน้าวใจคือ “การได้เป็นแม่คือของขวัญวิเศษ”

มีมี่ไม่ได้เคลิ้มไปกับคำพูดของภาณุ แต่รับงานเพราะยอมตั้งท้องแค่ 9 เดือน  ก็จะมีเงินพาตัวเองเข้าวงการบันเทิงได้ ทุกอย่างเป็นไปตามแผน เทคโนโลยีไอวีเอฟช่วยให้มีมี่อุ้มบุญตัวอ่อนของสามีภรรยาอเมริกันได้จริง ทุกคนมีความสุขไปตามๆ กัน แต่แค่ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาสถานการณ์ก็พลิกผันเมื่อผลการตรวจล่าสุดพบว่า เด็กในท้องของมีมี่มีอาการดาวน์ซินโดรม ซัมเมอร์แม่แท้ๆ รับไม่ได้หากจะมีลูกพิการแบบนี้ เธอตัดสินใจชวนสามีกลับสหรัฐอย่างเร่งด่วน  แล้วฝากภาณุไปบอกมีมี่ให้ทำแท้งเด็ก  โดยไม่ได้คำนึงสักนิดว่าชีวิตของมีมี่นับจากนี้จะเป็นอย่างไร 

สถานการณ์แบบนี้ช่างน่าเป็นห่วง เว็บไซต์ time.com รายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2545 ที่อินเดียอนุญาตให้อุ้มบุญเชิงพาณิชย์ หรือการที่หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรของผู้อื่นแลกกับเงิน มีผู้หญิงเลือกเป็นแม่อุ้มบุญมาแล้วหลายพันคน แม้ไม่มีตัวเลขที่แท้จริงแต่ผลการศึกษาในปี 2555 จัดทำโดยกลุ่มซามารีสอร์ซเพื่อผู้หญิงและสุขภาพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติประเมินว่า ธุรกิจอุ้มบุญของอินเดียมีมูลค่ากว่า 400 ล้านดอลลาร์ต่อปี คลินิกการเจริญพันธุ์ราว 3,000 แห่งทั่วประเทศ

จากการที่อินเดียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศรวมทั้งรัสเซีย และยูเครน ที่อนุญาตให้อุ้มบุญเพื่อการพาณิชย์ได้จึงถูกจับตามากในแง่ของจริยธรรม รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี  ร่างกฎหมายเตรียมห้ามการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ทุกรูปแบบ ในมุมของนายกฯ สายอนุรักษนิยมมองครอบครัวด้วยนิยามดั้งเดิม ในมุมของ ส.ส.มองว่าธุรกิจนี้เอาเปรียบผู้หญิงยากจน แต่ในมุมของผู้เชี่ยวชาญมองว่าหากห้ามเด็ดขาดจะเป็นการตัดหนทางหลุดพ้นจากความยากจนที่ผู้หญิงมีอยู่เพียงไม่กี่หนทาง โดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 กำลังเล่นงานเศรษฐกิจอินเดีย และอาจนำไปสู่การลักลอบอุ้มบุญ 

ส่วนกรณีของมีมี่นั้นเธอตัดสินใจเก็บลูกดาวน์ซินโดรมไว้ในท้อง แม้ต้องเจอแรงกดดันทั้งจากครอบครัวและสังคมมากมาย เมื่อลูกน้อยลืมตาดูโลกมีมี่ยอมทิ้งความฝันเป็นดารามาทำอาชีพดั้งเดิมเป็นนักเต้นแลกเงินเล็กๆ น้อยๆ เพราะตอนนี้ความฝันไม่สำคัญกับเธออีกแล้ว หนูน้อย “รัจ” ลูกชายต่างหากที่เป็นโลกทั้งใบของมีมี่ แต่แล้วจู่ๆ เมื่อ รัจอายุได้ 4 ขวบ จอห์นและซัมเมอร์ก็กลับมาทวงลูกคืน แน่นอนว่ามีมี่ไม่มีวันยอม เธอถูกพ่อแม่ที่แท้จริงของหนูน้อยขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดี มีมี่ พ่อแม่ ภาณุ และทุกคนที่รักหนูน้อยรัจรวมพลังสู้คดี 

ดูมาถึงตรงนี้อีก 10 นาทีหนังจบ ชั่วโมงเน็ตดันหมดกะทันหันดูต่อไม่ได้ ชวนให้นึกถึงตอนดูหนังกลางแปลงสมัยเด็กแล้วหนังขาดเอาดื้อๆ เล่นเอาเสียอารมณ์ ก็ได้แต่เดาว่าหนังจะจบลงในรูปใด คิดว่าสุดท้ายแล้วมีมี่คงเห็นแก่อนาคตลูกให้ได้ไปเติบโตเป็นพลเมืองอเมริกันกับพ่อแม่ที่แท้จริง แต่ไม่ว่าเธอจะตัดสินใจแบบใดก็อยู่บนพื้นฐานความรักของคนเป็นแม่ แม้จะเป็นแม่อุ้มบุญก็ตาม