โควิดฉุด‘สภาพคล่อง’โรงแรมไทย 1 ใน 4 ลมหายใจไม่ถึง 1 เดือน!

โควิดฉุด‘สภาพคล่อง’โรงแรมไทย  1 ใน 4 ลมหายใจไม่ถึง 1 เดือน!

จากผลการสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม” ประจำเดือน ก.ค.2564 จัดทำโดยสมาคมฯร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโรงแรมตอบแบบสำรวจจำนวน 304 แห่ง โดยเป็นโรงแรมสถานกักกันทางเลือก (ASQ) 28 แห่ง และฮอสพิเทล 4 แห่ง ระหว่างวันที่ 13-26 ก.ค.64

พบว่าผู้ประกอบการที่พักแรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 4 อย่างต่อเนื่องอัตราการเข้าพักยังอยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้เกือบ 60% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่มี “สภาพคล่อง” ลดลงจากเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า โรงแรมส่วนใหญ่ที่เปิดกิจการในเดือน ก.ค. มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% จากเดือน มิ.ย. และมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้กลุ่มที่มีสภาพคล่องเพียงพอไม่ถึง 1 เดือน พบว่ามีสัดส่วนค่อนข้างสูงถึง 23% กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค!! สำหรับกลุ่มที่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย. เกือบทั้งหมดเป็นโรงแรมในภูเก็ตที่มีการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมีอัตราการเข้าพักมากกว่า 20% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก

จากการสำรวจ “สถานะกิจการ” ของผู้ประกอบการ 272 แห่ง (ไม่รวม ASQ และฮอสพิเทล) มีโรงแรมเพียง 40.1% ที่ยังเปิดกิจการปกติ ที่เหลือ 38.2% เปิดกิจการเพียงบางส่วน และอีกกว่า 21.7% ที่ยังปิดกิจการชั่วคราว โดยสัดส่วนของโรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.เล็กน้อย 2.2% ทั้งนี้โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวกว่า 56% คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยกลุ่มที่คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการภายในไตรมาส 3 นี้มีเพียง 12% ถือว่าลดลงค่อนข้างมากจากการสำรวจในเดือน มิ.ย.ที่ 26% เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

ด้านสถานการณ์ “รายได้” เดือน ก.ค. พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่ยังมีรายได้อยู่ใน “ระดับต่ำ” โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 56.9% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด มีรายได้กลับมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่วนโรงแรมที่มีรายได้ที่ระดับ 11-30% มีสัดส่วน 18.3%, โรงแรมที่มีรายได้ระดับ 31-50% มีสัดส่วน 3.6%, โรงแรมที่มีรายได้ระดับ 51-70% มีสัดส่วน 7.1% และโรงแรมที่มีรายได้ระดับมากกว่า 70% มีสัดส่วน 14.2%

และเมื่อเจาะเรื่อง “อัตราการเข้าพัก” เดือน ก.ค. เฉลี่ยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% ทรงตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากการเข้าพักที่ปรับเพิ่มขึ้นของโรงแรมในภาคใต้ โดยเฉพาะภูเก็ตที่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นสำคัญ ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลางยังมีอัตราการเข้าพักลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากไม่รวมโรงแรมกลุ่มที่ปรับตัวมารับลูกค้าต่างชาติที่ทำงานในไทยและคนไทยที่พักแบบระยะยาว (Longstay) เที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วย (Workation) และการเข้าพักโรงแรมเพื่อการพักผ่อน (Staycation) ผ่านการออกโปรโมชั่นห้องพักราคาพิเศษ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวตามโครงการแซนด์บ็อกซ์ซึ่งจะต้องมีการเข้าพักอย่างน้อย 14 คืน ก่อนเดินทางไปเที่ยวต่อในพื้นที่อื่นๆ ของไทย ส่งผลให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้นโดยลำดับ แต่หากไม่รวมกลุ่มดังกล่าว จะทำให้อัตราเข้าพักอยู่ในระดับต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5%

“โรงแรมส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสถานการณ์ในเดือน ส.ค.นี้ จะปรับแย่ลงจากเดือน ก.ค. โดยคาดการณ์อัตราเข้าพักเฉลี่ยต่ำกว่า 10% ในทุกภาค รวมทั้งประเทศอยู่ที่ 8% และต่ำสุดคือภาคเหนืออยู่ที่ 4% เท่านั้น”

ฟาก “การจ้างงาน” จากผลการสำรวจระบุว่า เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยทรงตัวจากเดือน มิ.ย.ที่ 53% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 (หากไม่รวมกลุ่มที่ปิดกิจการชั่วคราวจะเฉลี่ยอยู่ที่ 59%) โดยโรงแรมในภาคเหนือและภาคอีสานที่จ้างงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งของการจ้างงานเดิม ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็กและกลางที่มีจำนวนแรงงานเดิมไม่มากนัก ส่วนโรงแรมในภาคใต้ แม้การจ้างงานเฉลี่ยจะทรงตัว แต่พบว่าโรงแรมในภูเก็ตที่รับนักท่องเที่ยวโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และมีอัตราการเข้าพักสูงกว่า 10% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 56%

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อโครงการแซนด์บ็อกซ์ เปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โรงแรมกว่า 69% เห็นด้วย โดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในภาคอีสานและภาคเหนือ ด้านผลต่ออัตราการเข้าพักของโรงแรมที่มีใบรับรองและสัญลักษณ์ SHA+ สามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ พบว่า 50% ของโรงแรมใน จ.ภูเก็ต มองว่าผลของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต่ออัตราการเข้าพักเป็นไปตามคาด โดยอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 16% ต่างกับโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” ซึ่ง 43% ของโรงแรมใน จ.สุราษฎร์ธานี มองว่าแย่กว่าที่คาด เนื่องจากอัตราเข้าพักเฉลี่ยยังอยู่ในระดับต่ำที่ 6%

“สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากรัฐคือต้องการให้มีการจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เร็วกว่าแผนเป็นอันดับแรก ต่างจากการสำรวจทุกรอบที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีนในสถานการณ์ปัจจุบัน รองลงมาคือการพักชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย และการสนับสนุนค่าจ้างพนักงานเดิมด้วยวิธีรัฐช่วยจ่าย (Co-payment) นายกทีเอชเอกล่าวปิดท้าย