'ยูเค'เรียกร้องทั่วโลกดำเนินการเพิ่มด่วนรับมือ'วิกฤติโลกร้อน'

'ยูเค'เรียกร้องทั่วโลกดำเนินการเพิ่มด่วนรับมือ'วิกฤติโลกร้อน'

สหราชอาณาจักรเรียกร้องทั่วโลกเพิ่มการดำเนินการทางสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน หลังยูเอ็นเผยรายงานว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ พบโลกร้อนขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า

รายงานฉบับล่าสุดจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) เป็นการเตือนภัยจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกว่ากิจกรรมของมนุษย์กำลังทำลายโลกของเราในอัตราที่รวดเร็วมาก 

รายงานระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อทุก ๆ ภูมิภาคของโลกแล้วและหากไม่ดำเนินการเร่งด่วนเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ โลกจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน สภาวะฝนตกหนัก และความแห้งแล้งเพิ่มขึ้นรวมทั้งสูญเสียน้ำแข็งขั้วโลกในทะเลอาร์คติก ชั้นหิมะปกคลุม และ เพอร์มาฟรอสต์ (ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว) ไปมากขึ้น ในขณะเดียวกันแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Sinks) จะมีประสิทธิภาพน้อยลงโดยช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ในอัตราที่ช้าลง

 รายงานเน้นย้ำว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทันทีโดยตั้งเป้าให้บรรลุ Net Zero (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ให้ได้ภายในช่วงกึ่งกลางศตวรรษนี้จะเพิ่มโอกาสในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ในระยะยาว และจะช่วยหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ระบุ 

  “รายงานในวันนี้ชวนให้เราต้องฉุกคิด และชัดเจนว่าทศวรรษต่อไปจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการสร้างความมั่นคงให้กับอนาคตของโลก เรารู้ว่าต้องทำอะไรเพื่อจำกัดสภาวะโลกร้อน และนั่นคือการปิดหน้าประวัติศาสตร์ถ่านหินและเปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานสะอาด ปกป้องธรรมชาติและสนับสนุนการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ประเทศด่านหน้าที่เสี่ยงต่อภัยนี้ที่สุด 

สหราชอาณาจักรเป็นผู้นำในการยุติการปล่อยคาร์บอนจากระบบเศรษฐกิจของเราได้เร็วกว่าประเทศใดในกลุ่มG20ตลอดช่วงเวลา2ทศวรรษที่ผ่านมา ผมหวังว่ารายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ในวันนี้จะเป็นเสียงเตือนให้โลกหันมาเริ่มลงมือ(ทางสภาพภูมิอากาศ)โดยทันที ก่อนที่เราจะมาพบกันที่เมืองกลาสโกว์ในเดือนพฤศจิกายน ณ การประชุมสุดยอด COP26อันสำคัญยิ่ง”

ในขณะที่รอบโลกรับรู้ได้ถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติอันสุดโต่งตั้งแต่ไฟป่าในอเมริกาเหนือไปจนถึงน้ำท่วมใหญ่ในจีน รวมทั้งหลายพื้นที่ในยุโรป อินเดีย และในบางพื้นที่ของแอฟริกา และคลื่นความร้อนในไซบีเรีย นายอล็อก ชาร์มา ประธานการประชุมCOP26ได้เจรจากับรัฐบาลและธุรกิจต่าง ๆ ให้เพิ่มเป้าด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและเร่งดำเนินการโดยทันทีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในช่วงทศวรรษต่อไปและบรรลุเป้าNet Zeroหรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในครึ่งแรกของศตวรรษนี้เพื่อพยายามจำกัดมิให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน1.5องศาเซลเซียสดังที่ได้ระบุไว้ในความตกลงปารีส

 สหราชอาณาจักรได้แสดงความเป็นผู้นำโดยมีแผนงานชัดเจนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 68 ภายในปีพ.ศ.2573 และจะลดให้ได้ร้อยละ78ภายในปีพ.ศ.2578ซึ่งจะนำสหราชอาณาจักรไปสู่การบรรลุเป้าNet Zeroได้ภายในปีพ.ศ.2593ในวันนี้เศรษฐกิจโลกมากกว่าร้อยละ70ดำเนินการอยู่ภายใต้เป้าNet Zeroเพิ่มขึ้นจากร้อยละ30ในตอนที่สหราชอาณาจักรเพิ่งเข้ามารับช่วงต่อการเป็นประธานการประชุมCOP26

 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมากลุ่มประเทศG7ได้ตกลงรับเป้าNet Zeroอย่างพร้อมเพรียงเป็นครั้งแรก โดยทุกประเทศสมาชิกได้นำเสนอเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีพ.ศ.2573ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าNet Zeroได้ภายในปีพ.ศ.2593อย่างไรก็ตามรายงานที่ออกมาในวันนี้ชี้ให้เห็นว่าโลกยังต้องการการดำเนินการเร่งด่วนเพิ่มมากขึ้นอีก

นายอล็อก ชาร์มา ประธานการประชุม COP26 กล่าวว่า  วิทยาศาสตร์ได้ชี้ชัดแล้ว  ผลกระทบของวิกฤติสภาพภูมิอากาศมีให้เห็นแล้วทั่วโลก และหากไม่ลงมือทำอะไรในตอนนี้ จะได้เห็นผลกระทบขั้นร้ายแรงที่สุดต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ 

 “สารของเราถึงทุกประเทศ รัฐบาล ธุรกิจ และทุกภาคส่วนของสังคมนั้นมีใจความง่าย ๆ ทศวรรษต่อไปเป็นช่วงชี้เป็นชี้ตาย จงเชื่อในข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และอ้าแขนรับหน้าที่ในการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน1.5องศาเซลเซียส 

เราช่วยกันทำให้สำเร็จได้ ด้วยการก้าวขึ้นมาพร้อมกับเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ท้าทายสำหรับปีพ.ศ.2573และแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่จะนำไปสู่Net Zeroได้ในช่วงกึ่งกลางศตวรรษนี้ และเริ่มดำเนินการในตอนนี้เพื่อยุติการใช้พลังงานถ่านหิน เร่งการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า จัดการกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน”