กกพ.หนุน 'เอกชน' นำเข้าก๊าซฯ ลดภาระค่าไฟ

กกพ.หนุน 'เอกชน' นำเข้าก๊าซฯ ลดภาระค่าไฟ

กกพ.หนุนเอกชนนำเข้าแอลเอ็นจี โควตา 4.8 แสนตันปีนี้ ตามแนวทางเปิดเสรีก๊าซฯ ระยะที่ 2 ป้องผลกระทบค่าไฟ คาดสรุปแนวทางชัดภายใน ส.ค.นี้ ย้ำหากไม่มีผู้สนใจจะโอนสิทธิให้ ปตท.

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (ใหม่)ตามแนวทางของที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กพช.) เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ที่มีมติกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 2. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ปตท. ขายในกลุ่ม Old Supplyและ 3. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ New Shipper ขายไฟฟ้าเข้าระบบใน Regulated Market นั้น

ขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ 7 ราย คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.),บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด,บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด,บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก,บริษัท PTT Global LNG Company Limited หรือ PTTGL และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ที่จะยื่นแสดงเจตจำนงในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ภายใต้โควตา 4.8 แสนตัน ว่ามีความต้องการนำเข้าในปีนี้ หรือไม่

โดยหากทั้ง 7 ราย ไม่มีความต้องการนำเข้า LNG หรือ การนำเข้ามาจะมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศนั้น ทาง กกพ. ก็จะไม่อนุมัติการนำเข้า และจะส่งโควตานำเข้าคืนกลับไปให้กับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้จัดหาก๊าซ(เก่า) อยู่แล้ว นำเข้ามาป้อนความต้องการใช้ก๊าซฯในประเทศ

162858678023

“ตอนนี้ PTTGL และหินกองฯ ชัดเจนว่า ไม่ต้องการนำเข้าLNG ในปีนี้ ส่วน กฟผ.หากนำเข้า Spot LNG ซึ่งตอนนี้ราคาตลาดโลกแพงกว่าก๊าซฯในอ่าวมาก ก็อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าไฟได้ ดังนั้น หากเอกชน นำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตัวเอง หรือ แยกตัวออกไปจากระบบก๊าซรวม ก็น่าจะเป็นผลดีกว่า ซึ่งเท่าที่ดูตอนนี้ ก็มีประมาณ 2 รายที่อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะนำเข้าหรือไม่

อย่างไรก็ตาม กกพ. ยืนยันว่า ไม่ได้ตัดสิทธิการนำเข้าทั้ง 7 Shipper แต่การนำเข้ามาแล้วประเทศต้องได้ประโยชน์ ซึ่งเบื้องต้นแนวทางที่ กกพ.นำเสนอต่อ กพช.ไปนั้น จะเปิดทางให้ 7 Shipper สามารถแยกตัวออกไปจากสูตรโครงสร้างก๊าซฯ ที่ผูกพันกับต้นทุนค่าไฟฟ้ารวม คือ ให้เอกชนแต่ละรายพร้อมรองรับบริหารความเสี่ยงต้นทุนก๊าซฯที่นำเข้ามาผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือขายให้ลูกค้าโดยตรงก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งก็จะเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบการนำเข้า Spot LNG ในปีนี้

ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งเป็นหนึ่งใน Shipper รายใหม่ สามารถนำเข้าได้ แต่ต้องแสดงข้อมูลว่าการนำเข้า LNG ครั้งนี้ ราคาจะไม่สูงกว่าการนำเข้า LNG ของ ปตท. และไม่เกิดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชน

162858675982

แต่หาก 7 Shipper ไม่สนใจนำเข้า LNG ในปีนี้ โควตา 4.8 แสนตัน ก็จะเป็นการนำเข้าโดย ปตท. ส่วนผลกระทบต่อทุนต้นค่าไฟฟ้านั้นยอมรับว่า ต้องมีผลกระทบบ้าง แต่ กกพ.จะพยายามดูแลให้เกิดภาระต่อค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด โดยการนำเข้าLNG ในช่วงที่เหลือของปีนี้(ก.ย.-ธ.ค.) จะมีผลสะท้อนต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าในปีหน้า ซึ่งเบื้องต้น กกพ.ยังมีเงินเหลืออยู่ในมือเกือบ 3,000 ล้านบาท ที่จะสามารถนำมาบริหารจัดการค่าไฟฟ้าในปีหน้าได้

นายคมกฤช กล่าวว่า ส่วนของการจัดทำโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่ ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามมติ กพช.ที่ผ่านมานั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อในส่วนของต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ ที่จะมีภาระเพิ่มขึ้น 95 ล้านบาทต่อเดือน และการกำหนดอัตราคาค่าผ่านท่อก๊าซใหม่ ซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง 56 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft)ลดลง 39 สตางค์ต่อหน่วยนั้น เบื้องต้นคาดว่า การจัดทำรายละเอียดต่างๆจะแล้วเสร็จและเริ่มมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2565