จากม.44 คดีข้าว สู่นิรโทษโควิด ทางรอด “ประยุทธ์-อนุทิน”

จากม.44 คดีข้าว สู่นิรโทษโควิด  ทางรอด “ประยุทธ์-อนุทิน”

การออกกฎหมายนิรโทษกรรม มองมุมกลับ “พล.อ.ประยุทธ์-อนุทิน” อาจจะรู้ตัวว่ามีจุดอ่อนที่อาจจะโดนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ การหาทางออกเตรียมเอาไว้ก่อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาตัวรอด!

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ยังไม่ใครการันตีได้ว่า การแพร่ระบาดจะลดลงหรือจะเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่แพร่กระจายในหลายจังหวัดจะพุ่งแรงแซงผู้ติดเชื้อในกทม.หรือไม่ มิหนำซ้ำยอดผู้เสียชีวิตไม่มีทีท่าว่าจะต่ำกว่าหลักร้อยคนต่อวัน

ที่สำคัญการบริหารจัดการวัคซีนของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข มีเครื่องหมายคำถามมากมายที่ประชาชนยังคงคาใจ โดยเฉพาะสัญญาที่เซ็นกับ “แอสตร้าเซนเนก้า” เกี่ยวการผลิตวัคซีนที่ทางการไทยยืนยันตัวเลข 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่แอสตร้าเซเนก้าการันตีตัวเลข 5-6 ล้านโดสต่อเดือน

เมื่อสถานการณ์ไม่คงที่-ไม่แน่นอน “อนุทิน” จึงจำเป็นต้องหามาตรการที่สร้างความเชื่อมั่น เรียกศรัทธาจาก “บุคลากรทางการแพทย์” โดยการออกกฎหมาย พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เจตนาของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมครั้งนี้ เกือบทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ยากต่อการรักษา ซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องตัดใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งญาติของผู้ป่วยอาจมีความเห็นไม่ตรงกับบุคลากรทางการแพทย์

หากไม่มีการคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ญาติของผู้ป่วย-ผู้เสียชีวิต มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้กับการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์เอาไว้

ทว่า ที่หลายคนข้องใจ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่เห็นว่า เนื้อหาของกฎหมายนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึงการจัดหาวัคซีน อย่างที่รู้กันว่าทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. และ “อนุทิน” มีส่วนในการจัดหาวัคซีนร่วมกัน

“อนุทิน” ยอมรับว่า หากผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีน มีเจตนาสุจริต การตัดสินใจดำเนินการเป็นไปตามหลักวิชาการที่สนับสนุนในขณะนั้น กฎหมายนี้จึงเห็นควรให้ความคุ้มครองบุคคลหรือคณะบุคคลเหล่านั้นด้วย

จับสัญญาณจาก “อนุทิน” บ่งบอกชัดเจนว่า กฎหมายนิรโทษกรรมครอบคลุมการจัดหาวัคซีน และให้คลุมไปถึงการตัดสินใจตามหลักวิชาการ ในช่วงเวลาที่ตัดสินใจเลือกวัคซีนของ “รัฐบาล-สาธารณสุข” ด้วย

ดังนั้น หากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ การจะฟ้องร้องเอาผิด “รัฐบาล-สาธารณสุข” กรณีการจัดหาวัคซีนที่อาจจะมีข้อผิดพลาดไม่สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้

จึงต้องจับตาว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ไม่มีใครคัดค้านประเด็นคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ แต่ปมปัญหาการจัดหาวัคซีนที่อาจจะผิดพลาด เสียงคัดค้านจะไม่ให้กฎหมายครอบคลุมการบริหาร-การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูโมเดลการออกกฎหมายนิรโทษกรรมบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ต่างอะไรจากคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด โดย “พล.อ.ประยุทธ์” ออกมาคุ้มครองการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้น

โดยในส่วนของการดำเนินการต่อผู้รับผิดนั้น คำสั่งระบุให้ ยังกำหนดให้กรมบังคับคดี มีอำนาจหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง กรณีที่หน่วยงานรัฐมีคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่ง หรือศาลมีคำพิพากษา ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล

คำสั่งดังกล่าวเปิดทางให้กรมบังคับคดีไปดำเนินการ ยึด อายัดทรัพย์แทนหน่วยงานผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดการละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ทันทีที่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่รับมอบหมายลงนามในคำสั่งทางปกครอง เพื่อเรียกชดใช้ค่าสินไหมจากการกระทำละเมิดในคดีข้าว

ภายหลังคำสั่งดังกล่าวออกมา เหมือนการติดดาบให้ “เจ้าหน้าที่รัฐ” สามารถฟ้องร้องเอาผิด ยึดทรัพย์ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีจำนำข้าวได้ทุกคน

หลังจากนั้นกระทรวงการคลังมีคำสั่งที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าสินไหมเป็นเงิน 35,717 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของมูลค่าความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวรวม 1.78 แสนล้านบาท

โดยในปี 2560 ได้ขออายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร หน่วยลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์และกองทุนต่างๆ ซึ่งมีการส่งเงินตามคำสั่งอายัด 7.9 ล้านบาท และการจ่ายเงินให้กระทรวงการคลังไปแล้ว 

นอกจากนี้ กรมบังคับคดีได้ยึดที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดอีกหลายรายการ รวมราคาประเมินทรัพย์สินเป็นเงิน 199.2 ล้านบาท

ทว่า “ยิ่งลักษณ์” ได้ส่งทนายยื่นฟ้อง “พล.อ.ประยุทธ์” กับพวกรวม 9 คน และขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง จนศาลปกครองสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์ เมื่อช่วงเดือนเม.ย. 2564

สะท้อนให้เห็นว่า แม้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจะมีกฎหมายคุ้มครอง แต่หากเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด สร้างความเสียหายให้กับบุคคลทั่วไปย่อมมีช่องทางทางกฎหมายให้เอาผิดได้อยู่

ฉะนั้นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม มองมุมกลับ “พล.อ.ประยุทธ์-อนุทิน” อาจจะรู้ตัวว่ามีจุดอ่อนที่อาจจะโดนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ การหาทางออกเตรียมเอาไว้ก่อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเอาตัวรอด!