กรีนพีซเตือน'โตเกียว-ปักกิ่ง'เจอสภาพอากาศ'อันตราย'

กรีนพีซเตือน'โตเกียว-ปักกิ่ง'เจอสภาพอากาศ'อันตราย'

กรีนพีซเตือน'โตเกียว-ปักกิ่ง'เจอสภาพอากาศ'อันตราย' นอกจากนี้ บรรดานักวิเคราะห์ในกลุ่มกรีนพีซ ยังเตือนว่า อากาศร้อนที่มาเร็วกว่ากำหนดอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งชีวิตผู้คนและพืชผลทางการเกษตร

กรีนพีซ อีสต์ เอเชียเผยผลศึกษาชิ้นล่าสุดที่บ่งชี้ว่าสภาพอากาศร้อนระอุจะเริ่มต้นเร็วกว่ากำหนดและมีความเป็นไปได้สูงที่คลื่นความร้อนจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น พร้อมทั้งเตือนว่า กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นที่ขณะนี้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนจะเจอกับสภาพอากาศที่รุนแรงผิดปกติ โดยเฉพาะสภาพอากาศที่ร้อนจัด

บรรดานักวิเคราะห์ในกลุ่มกรีนพีซ เตือนว่า อากาศร้อนที่มาเร็วกว่ากำหนดอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งชีวิตผู้คนและพืชผลทางการเกษตร และจะส่งผลกระทบกว่า 80% ของเมืองต่างๆที่ถูกสุ่มสำรวจทั้งหมด 57 เมืองในจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

“ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นแล้วว่ามีนักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเป็นลมแดดกันหลายคนเพราะสภาพอากาศที่ร้อนจัด และช่วงต้นฤดูร้อนปีนี้ อุณหภูมิในกวางตุ้งของจีนรุนแรงมาก ทำให้โรงงานหลายแห่งตัดสินใจปิดสายการผลิตชั่วคราวส่วนในเกาหลีใต้ สัตว์ตามคอกปศุสัตว์หลายพันตัวล้มตายเพราะคลื่นความร้อน”มิกวง คิม ผู้จัดการโครงการด้านสภาพอากาศฉุกเฉินของกรีนพีซประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก กล่าว

กรีนพีซ ซึ่งเผยแพร่รายงานนี้เมื่อวันพฤหัสบดี(5 ส.ค.)ระบุว่า การที่สภาพอากาศหรืออุณภูมิรุนแรงแบบสุดขั้ว( Extreme Weather Event )ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและการที่สภาพอากาศเป็นแบบนี้เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของภูมิภาค

“อุณหภูมิรุนแรงสุดขั้วที่เป็นอันตรายต่อชีวิตผู้คนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้นนอกเสียจากว่ารัฐบาลประเทศต่างๆจะเลิกใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและหันมาใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดแทน ซึ่งรวมถึง พลังงานจากลมและแสงอาทิตย์”คิม กล่าว

สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วสะท้อนถึงภัยทางธรรมชาติที่ส่งผลรุนแรงและบ่อยขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง พายุฝน ยกตัวอย่างเช่น ภัยแล้งและพายุฝนที่ดูเป็นภัยที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน แต่กลับมีความเชื่อมโยงกัน เพราะเมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงขึ้นจากกิจกรรมการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์ ก็ทำให้น้ำมีแนวโน้มที่น้ำจะระเหยไปในอากาศมากขึ้น จึงเกิดฝนตกบ่อยครั้งขึ้น

อุณหภูมิที่สูงขึ้น ยังทำให้ภัยแล้งรุนแรงมากกว่าเดิม โดยข้อมูลจากศูนย์เพื่อการแก้ปัญหาด้านพลังงานและสภาพอากาศ( Center for Climate and Energy Solutions)หรือซีซีอีเอส ระบุว่า เมื่อน้ำระเหยขึ้นไปในอากาศในปริมาณที่มากขึ้นก็เป็นสาเหตุที่น้ำในดินหายไป และทำให้เกิดความแห้งแล้ง

อากาศร้อนสุดขั้วส่งผลกระทบไปทั่วโลกในช่วงไม่กี่วันมานี้ ทั้งเหตุไฟไหม้ป่าในตุรกี กรีซและพื้นที่ทางตอนใต้ของยุโรปทั้งในรูปแบบของไฟป่าและไฟไหม้ที่พักอาศัยของผู้คน

ผลศึกษาที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วของกรีนพีซ บ่งชี้ว่าเกิดหายนะภัยทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งเกิดคลื่นความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์และเกิดไฟไหม้ป่าในออสเตรเลีย และในสหรัฐ

การศึกษาล่าสุดของกรีนพีซครอบคลุมเมืองต่างๆในจีน 28 เมือง ในญี่ปุ่น 21 เมืองและในเกาหลีใต้ 8 เมือง โดยในจีน24 เมืองจาก 28 เมืองที่กรีนพีซทำการศึกษาพบว่า วันที่เผชิญอากาศร้อนวันแรกของปี วัดอุณหภูมิได้ 30 องศาเซลเซียส (86 องศาฟาเรนไฮต์) หรือสูงกว่านั้น และอากาศร้อนมาเร็วขึ้นในช่วงปี 2544-2563 เทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

ส่วนในนครเซี่ยงไฮ้ เผชิญอากาศร้อนวันแรกเร็วกว่าเดิม 12 วัน ส่วนกรุงปักกิ่ง อากาศร้อนมาถึงเร็วขึ้นโดยเฉลี่ย 4.7 วัน ขณะที่กรุงโตเกียวและกรุงโซล เผชิญอากาศร้อนวันแรกของปีเร็วขึ้น 11 วันในช่วงปี 2544-2563 เทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อน

นอกจากนี้ กรีนพีซ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในทันทีเพื่อลดภาวะก๊าซเรือนกระจกสาเหตุของโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม

“รัฐบาลทุกประเทศต้องดำเนินมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดในทันทีเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนท่ามกลางสภาพอากาศที่รุนแรงสุดขั้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนด้านสภาพอากาศ เช่น ยุติการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลและเปลี่ยนไปใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้100% เต็มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” คิมกล่าว

ทั้งนี้ ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์จะถูกหยิบยกขึ้นมาหาหรือกันในการประชุมซัมมิต COP 26ในกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์เดือนพ.ย.นี้