‘ไทยแอร์เอเชีย’วัดพลังใจ 60 วัน! ยื้อธุรกิจรอแสงสว่างหลังโควิด

‘ไทยแอร์เอเชีย’วัดพลังใจ 60 วัน!  ยื้อธุรกิจรอแสงสว่างหลังโควิด

“สายการบิน” ธุรกิจต้นน้ำของภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยยังคงต้องฝ่าฟันสถานการณ์อันยากลำบาก เมื่อวิกฤติโควิด-19 กระชากรายได้ลดฮวบ! ยิ่งรัฐจำเป็นต้องออกมาตรการ “ล็อกดาวน์” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดระลอก 4 ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่อง

ยิ่งทำให้รายได้ขาเดียวจากตลาดการบินในประเทศถูกหั่นจนเหลือศูนย์! หลายสายการบินเริ่มแบกต้นทุนไม่ไหว บางส่วนทยอยประกาศหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว หนึ่งในนั้นคือ “ไทยแอร์เอเชีย” พี่เบิ้มของสายการบินในไทยที่ประกาศหยุดประกอบกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราว โดยงดให้บริการทุกเส้นทางบิน และให้พนักงานหยุดปฏิบัติงาน 100% ในเดือน ส.ค.นี้

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย และบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับตัวของธุรกิจสายการบินในรายการ “The MATTER x จอมขวัญ : มาเถอะจะคุย” จัดโดยสำนักข่าวออนไลน์ “The MATTER” 

ธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันแผนปรับโครงสร้างกิจการของ “ไทยแอร์เอเชีย” เพื่อรอเงินทุนใหม่ที่จะเข้ามาเสริมสภาพคล่อง ยังอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติจากหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดเงินทุนก้อนแรกจะเข้ามาภายใน 60 วันข้างหน้าหรือราวเดือน ก.ย.นี้ เห็นแสงสว่างที่ปลายทางแน่นอน!

แต่ก่อนจะถึงเส้นชัย...ไทยแอร์เอเชียดันสะดุดล้มเสียก่อน! เพราะต้องหยุดทำการบินภายในประเทศชั่วคราวตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายใน 60 วันนับจากนี้ไทยแอร์เอเชียน่าจะลุกขึ้นมาและเดินต่อไปได้ แต่ถ้าถามว่าวิ่งได้ไหม? คงไม่วิ่ง เน้นประคองตัวจนกว่าจะเห็นภาพวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย เห็นภาพการเปิดให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางในประเทศได้ รวมถึงภาพการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชัดเจนขึ้น ถึงจะคาดการณ์ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

“เดิมแผนปรับโครงสร้างกิจการ คาดว่าจะทำให้ไทยแอร์เอเชียอยู่รอดจนถึงกลางปี 2565  บนสมมติฐานว่าตั้งแต่ต้นปีหน้าเราน่าจะเปิดทำการบินระหว่างประเทศได้ประมาณ 30% แต่ถ้าภายในไตรมาส 1 หรือครึ่งแรกของปีหน้าไทยแอร์เอเชียยังไม่ได้เริ่มบินระหว่างประเทศ ภาพที่เราฉายไว้ก็อาจจะเปลี่ยนไปเหมือนกัน”

โดยขณะนี้ปัจจัยและสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศเปลี่ยนไปจากวันที่ไทยแอร์เอเชียวางแผนปรับโครงสร้างกิจการ ทำให้ต้องดูสถานการณ์แบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เพราะนโยบายรัฐก็เปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์เหมือนกัน ไทยแอร์เอเชียจึงยังไม่สามารถคาดการณ์แนวโน้มในไตรมาส 3 และ 4 ได้

“เมื่อหยุดทำการบินชั่วคราว ทำให้ไทยแอร์เอเชียมีรายได้เป็นศูนย์ แต่ค่าใช้จ่ายยังเดินอยู่เรื่อยๆ ขณะที่เจ้าหนี้หลายรายก็มีผ่อนปรนให้บ้าง อย่างไรก็แล้วแต่ ทุกเช้าที่ตื่นนอนขึ้นมาเรามีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ด้วยฝูงบินที่มีอยู่ 60 ลำ พนักงานก็ยังต้องกินต้องใช้ โดยก่อนที่รัฐบาลจะสั่งหยุดบินชั่วคราว ไทยแอร์เอเชียทำการบินราว 30% ของจำนวนเที่ยวบินที่เคยทำการบิน คือบินยังไงก็ขาดทุน แต่อย่างน้อยยังมีกระแสเงินสดเข้ามาเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงานได้บ้าง แต่พอหยุดบินสนิท รายได้เป็นศูนย์ แต่ค่าใช้จ่ายยังมีอยู่ แม้ว่าเราจะพยายามลดค่าใช้จ่ายจนแทบไม่เหลือไขมันแล้วก็ตาม”

และจากการหยุดบินชั่วคราวถึงสิ้นเดือน ส.ค.นี้ หากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังพุ่งสูงอยู่ที่ระดับ 2 หมื่นคนต่อวัน ก็ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรเพิ่มเติมบ้าง และถ้ายอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นไปอีก เชื่อว่ารัฐบาลจะยืดมาตรการล็อกดาวน์ไปอีกเช่นกันเสมือนว่าธุรกิจสายการบินจะตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากหรือ “ซัฟเฟอร์” แบบนี้ต่อไป โดยที่เราไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

“ตอนนี้ผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าเราผ่านจุดที่แย่ที่สุดของสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้วหรือยัง เพราะเรายังเห็นยอดผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งอยู่ และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหน”

ย้อนกลับไปเมื่อไตรมาส 4 ปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจสายการบินกลับมาทำการบินเส้นทางในประเทศได้ พบว่ามีการฟื้นตัวของจำนวนเที่ยวบินมากถึง 90% ของภาวะปกติก่อนเจอวิกฤตินี้ ได้อานิสงส์จากมาตรการรัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน และคนละครึ่ง หนุนการท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น แต่พอเข้าเดือน ม.ค.2564 เจอการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 เป็นต้นมา เท่ากับว่าธุรกิจสายการบินอยู่ในสภาพเปิดๆ ปิดๆ ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันไทยแอร์เอเชียทำการบินเส้นทางในประเทศแค่ 25-30% เท่านั้น

“แต่ถ้ายอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังเป็นพุ่งสูงในลักษณะนี้ และถ้ารัฐขยายมาตรการล็อกดาวน์อีกในเดือน ก.ย.นี้ ก็คงจะจบสนิทเหมือนกัน”

ส่วนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองว่าต้องรอให้ตลาดท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวถึงระดับ 80-90% ก่อนอย่างน้อย 2-3 เดือน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ทั้งคนไทยรวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามา

ธรรศพลฐ์ ฉายภาพรวมเพิ่มเติมว่า ธุรกิจ “สายการบิน” มีรูปแบบเฉพาะที่ไม่เหมือนธุรกิจอื่น! เพราะบุคลากรมีราคาแพง เช่น นักบิน และฝ่ายช่าง ขณะเดียวกันเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินกว่า 80-90% นอกจากนั้นเป็นทรัพย์สินอย่างอื่น เช่น อะไหล่ และเครื่องยนต์ ซึ่งนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้บ้าง

แต่พอเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็พอจะมีเครื่องบินที่เราเป็นเจ้าของเองซึ่งผ่านการผ่อนชำระจากสถาบันการเงินแล้ว สามารถนำไปจำนำแล้วค่อยมาไถ่ถอนคืน โดยไทยแอร์เอเชียมีเครื่องบิน 60 ลำ เป็นเจ้าของเองประมาณครึ่งหนึ่ง มีการนำเครื่องบินทีละ 4 ลำ หรือ 6 ลำ ไปตึ๊งมาเรียบร้อยเพื่อให้เราอยู่ได้ แต่พอหมดเครื่องบินที่สามารถนำไปตึ๊งได้แล้ว เราก็แทบจะเป็นบริษัทที่ไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย เพราะฉะนั้นเวลาไปคุยกับสถาบันการเงินในช่วงวิกฤติก็จะลำบากยากเย็นนิดหนึ่ง หรือแม้จะมีเครื่องบิน ทางสถาบันการเงินบางแห่งก็จะไม่รับ เพราะหากมีการผิดนัดชำระขึ้นมา เขาก็ไม่รู้จะเอาเครื่องบินไปทำอะไร เอาไปขายทอดตลาดก็ลำบาก เครื่องบินจึงเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าก็จริง แต่ในทางปฏิบัติของสถาบันการเงิน ไม่ใช่ทุกที่จะรับ โดยเฉพาะสถาบันการเงินในประเทศไทยที่ไม่ค่อยเชี่ยวชาญการดูแลเรื่องอากาศยานเท่าไร จะเป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

“ถามว่าทำไมทุกวันนี้ธุรกิจสายการบินมีเครื่องบินอยู่ แต่ไปกู้เงินจากธนาคารไม่ได้ ก็เพราะว่าเราไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นเลยนอกจากเครื่องบิน ซึ่งสถาบันการเงินหลายๆ แห่งเขาก็ไม่รับอยู่แล้ว”

และหลังจาก “สมาคมสายการบินประเทศไทย” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ บางกอกแอร์เวย์ส นกแอร์ ไทยสมายล์ ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในรูปแบบสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาทไปตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อเดือน มี.ค.2563 กระทั่งได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 28 ส.ค.2563 เพื่อขอให้เร่งพิจารณาซอฟท์โลนแก่ 7 สายการบิน หลังจากนั้น มีประชุมวงเล็กร่วมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือชัดเจน ล่าสุดทั้ง 7 สายการบินได้ปรับลดวงเงินซอฟท์โลนเหลือ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมารักษาการจ้างงานพนักงานซึ่งมีรวมกันกว่า 2 หมื่นคน ในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค.2564

“เราทำทุกอย่างแล้วเพื่อให้พนักงานอยู่ได้ พยายามรักษาการจ้างงานเอาไว้ เพราะทางรัฐบาลบอกว่าจะดูแลสายการบิน และขอให้เราดูแลพนักงาน แต่ทั้ง 7 สายการบินก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลเลย” ธรรศพลฐ์กล่าว