ทำไม'วัคซีนไฟเซอร์'ให้บุคลากรฯด่านหน้าเฉพาะเป็นเข็ม3

ทำไม'วัคซีนไฟเซอร์'ให้บุคลากรฯด่านหน้าเฉพาะเป็นเข็ม3

สธ. แจงกรณีเกณฑ์จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรฯด่านหน้าเป็นเข็ม 3 กระตุ้น อิงข้อมูลวิชาการ ส่วนคนที่ไม่เคยได้วัคซีน หากเหตุเพราะรับวัคซีนอื่นไม่ได้ ก็ฉีดไฟเซอร์เข็ม 1 พิจารณาเป็นรายบุคคล  กรณีบุคลากรส่วนอื่นที่เสี่ยง เล็งเสนอศบค.ขอจัดสรรเพิ่ม 

       เมื่อวันที่ 31 ก.ค.  นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 กรณีวัคซีนโควิดไฟเซอร์ กล่าวถึงกรณีเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ล็อต 1.5 ล้านโดส ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขว่า การจะใช้วัคซีนตัวไหนเพื่อความปลอดภัยจะมีอนุกรรมการวิชาการด้านวัคซีนพิจารณา ซึ่งกรณีเกณฑ์การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็มนั้น

การพิจารณาเป็นไปตามข้อมูลวิชาการ ที่ก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้เสนอต่อ ศบค. เนื่องจากมีการศึกษาว่า เมื่อรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยเข็มที่ 3 หรือบูสเตอร์โดส ด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ จึงต้องระบุเกณฑ์เช่นนั้น โดยต้องอิงข้อมูลทางวิชาการ ส่วนกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากนั้น เช่น กลุ่มได้รับแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม หรือกลุ่มฉีดซิโนแวค 1 เข็มแล้วแอสตร้าฯเข็มที่ 2 นั้น ได้มีการเตรียมศึกษาวิจัยเพิ่มเติมโดยมีการจัดสรรวัคซีนล็อตนี้ไว้ราว 5,000 โดส เพื่อที่จะได้มีข้อมูลวิชาการรองรับเมื่อวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้อ 20 ล้านโดสมีการส่งมอบ

 

     

          

 

 

ถามถึงกรณีเกณฑ์ให้ฉีดเป็นเข็มกระตุ้นเท่านั้น ไม่เริ่มเป็นเข็มที่ 1 นพ.สุระ กล่าวว่า หากเป็นบุคคลที่มีเหตุผลความจำเป็นต้องได้วัคซีนไฟเซอร์ จะพิจารณาเป็นรายบุคคล เพียงแต่ทั่วๆไปคงจะไม่ให้เป็นเข็มที่ เพราะมีนโยบายให้ฉีดวัคซีนทั่วไปไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับคนที่มีเงื่อนไข  เช่น เป็นโรคบางโรค หรือภาวะบางอย่างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนตัวที่เคยมีให้ได้ หรือแพ้วัคซีนที่เคยมีให้ ไม่สามารถฉีดได้เพราะวัคซีนมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้แพ้ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องรอวัคซีนตัวอื่นๆ  ก็จะมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 1 ได้ โดยพิจารณาเป็นรายๆไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจตัวเลขว่า มีจำนวนเท่าไหร่  แต่โดยหลักขอเน้นฉีดให้บุคลากรด่านหน้าสำหรับบูสเตอร์ โดสก่อน เพราะมีข้อมูลวิชาการรองรับ

     นพ.สุระ กล่าวอีกว่า การที่คณะทำงานฯมีมติจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าไป 7 แสนโดสก่อนนั้น เป็นจำนวนตามฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการจัดสรรให้กับบุคลากรด่านหน้าเพื่อฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 จำนวน 7 แสนโดส ส่วนกรณีที่มีบุคลากรทางการแพทย์ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ไปก่อหน้านี้แล้วนั้น ตัวเลขจะอยู่ที่กรมควบคุมโรค ที่ได้มีการทำแบบสำรวจไปที่รพ.แต่ละแห่ง ซึ่งผลสรุปออกมายังไม่ทันในการประชุมพิจารณาจัดสรรเมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 ที่ประชุมจึงได้อนุมัติในหลักการให้เข็ม 3 บุคลากรด่านหน้าไปจำนวนรวม 7 แสนโดสก่อน  แต่เมื่อยอดเข้ามาชัดเจนแล้วส่วนต่างจากที่มีบุคลากรฯรับเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าฯไปแล้วนั้น จะพิจารณาจัดสรรให้กลุ่มอื่นๆต่อไป

ทั้งนี้ จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคโควิด 19 ที่มีนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เมื่อช่วงเช้าวันที่31 ก.ค. ที่ประชุมเห็นว่ายังมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการดูแลคนไข้ที่ติดโควิดได้ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ที่ถึงแม้ไม่ได้อยู่ด่านหน้าโดยตรงแต่ก็ยังมีความเสี่ยง ก็จะมีการพิจารณาตรงนี้เพิ่มเติม รวมถึง การเกลี่ยกรณีในกลุ่มเป้าหมายที่กำหนดในครั้งนี้เหลือก็จะเกลี่ยไปให้กลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มนักเรียนที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะเป็นผู้รวบรวมมา ถ้ามีตัวเลขเกินกว่า 1.5 แสนโดสที่จัดสรรให้ก็เกลี่ยมาให้ตรงจุดนี้เพิ่ม หรือถ้าในยอด 1.5 แสนโดสที่จัดให้กับทางกต. เหลือ ก็อาจจะนำมารวมเป็นกองกลาง แล้วกระจายไปยัง 13 จังหวัดเป้าหมายที่กำหนด เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น

      “เกณฑ์การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ครั้งนี้ เป็นไปตามมติศบค.ที่ให้ฉีดเป็กระตุ้นเข็ม 3 และกลุ่มด่านหน้าก่อน  อย่างไรก็ตาม ยังบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงาน ที่มีความสี่ยงจะติดเชื้ออีกมากในแผนกอื่น เช่น เจ้าหน้าที่เอ็กซเรย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) หรือ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยที่บ้านในระบบHome Isolation หรืออื่นๆ ก็ล้วนมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน ก็อยู่ในการพิจารณาทั้งหมด เพียงแต่เกณฑ์ในรอบแรกจะพิจารณาเกณฑ์สำหรับด่านหน้าก่อน ซึ่งยอดจัดสรร 7 แสนจะยังมีเหลืออีกพอสมควรเพราะบางส่วนก็ได้รับแอสตร้าฯเป็นเข็มกระตุ้นไปแล้ว ก็จะนำมาจัดสรรให้ครอบคลุม และจะมีการเสนอศบค.เพื่อเติมการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เสี่ยงจะรับเชื้อในการให้บริการต่อไป”นพ.สุระกล่าว