ปัญหาขาดชิพยื้อถึงปี65 จ่อกระทบการผลิตไอโฟน

ปัญหาขาดชิพยื้อถึงปี65 จ่อกระทบการผลิตไอโฟน

ปัญหาขาดชิพยืดเยื้อถึงปี2565 จ่อกระทบการผลิตไอโฟน ขณะข้อมูลจาก World Semiconductor Trade Statistics ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วตลาดอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 440,300 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากช่วง10ปีก่อนหน้านี้

ผู้สังเกตุการณ์ในอุตสาหกรรม มีความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่การขาดแคลนชิพที่กำลังเป็นปัญหาแก่อุตสาหกรรมรถยนต์และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะยืดเยื้อถึงปีหน้า โดยที่แอ๊ปเปิ้ลคาดการณ์ว่าการขาดแคลนชิพกำลังส่งผลกระทบถึงกระบวนการผลิตไอโฟน

ตั้งแต่ต้นปีมานี้ เกิดปัญหาสภาพอากาศหนาวจัดจนส่งผลให้กระแสไฟฟ้าในหลายพื้นที่ทั่วรัฐเท็กซัสถูกตัดขาด โรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์หลายแห่งในรัฐกลายเป็นอัมพาต และต่อมาเกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงงานผลิตนากาของบริษัทเรเนซาส์ อิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่น ทำให้ระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้รับผลกระทบระลอกใหม่

แม้ว่าตอนนี้บรรดาโรงงานผลิตที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆที่กล่าวมาจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่แต่ความหวังที่ว่าการผลิตชิพจะกลับมามีปริมาณปกติภายในปลายปีนี้ดูจะเลือนลางมากขึ้น ทั้งยังตอกย้ำว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

“เราคาดการณ์ว่าภาวะตึงตัวของชิพในช่วงไตรมาสเดือนก.ย.จะรุนแรงกว่าช่วงไตรมาสเดือนมิ.ย.และภาวะตึงตัวของปริมาณชิพที่มีอยู่จะส่งผลต่อการผลิตไอโฟนและไอแพด”ลูกา เมสตริ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน(ซีเอฟโอ)ของแอ๊ปเปิ้ล กล่าว

ขณะที่บรรดาค่ายรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นเชื่อว่าปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์จะเริ่มดีขึ้นในช่วงต้นเดือนมิ.ย.-เดือนส.ค.“แต่ค่ายรถทุกแห่งก็วางแผนรับมือกับเรื่องนี้ รวมถึงการลดกำลังการผลิตลงในช่วงครึ่งหลังของปี พร้อมทั้งสั่งเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น”ผู้บริหารค่ายรถญี่ปุ่นชั้นนำแห่งหนึ่งกล่าว

ข้อมูลจาก World Semiconductor Trade Statistics ระบุว่าเมื่อปีที่แล้วตลาดอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 440,300 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากช่วง10ปีก่อนหน้านี้ โดยความต้องการชิพส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นเพราะความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งระบบสื่อสารโทรคมนาคม5จี

นอกจากนี้ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ครอบคลุมถึงการทำงานที่บ้าน ก็กระตุ้นให้ความต้องการซื้อวิดีโอเกมและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นตามไปด้วยยิ่งสร้างแรงกดดันให้แก่อุตสาหกรรมการผลิต และคาดการณ์ว่าตลาดวิดีโอเกมและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะขยายตัวประมาณปีละ 10-20% ในปี 2564 และ2565 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่

“ออมเดีย” บริษัทวิเคราะห์ในอังกฤษ ระบุว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ บรรดาผู้ผลิตชิพจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยมากกว่าเพิ่มกำลังการผลิต และขีดความสามารถในการผลิตทั่วโลกทรงตัวในช่วงระหว่างปี 2560 และ 2562 ก่อนจะเริ่มขยายตัวอีกครั้งในปี 2563 แต่ก็ยังไม่เร็วพอที่จะรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยวานนี้ (29ก.ค.)ว่าความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้เนื่องจากลูกค้าทั่วโลกพยายามสั่งซื้อสินค้าเพื่อเก็บไว้ในสต็อกก่อนที่ราคาชิพจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

“เราคาดการณ์ว่าความต้องการชิพจะเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของชิพที่ใช้กับเซอร์เวอร์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เคลื่อนที่ประเภทต่างๆ ”แถลงการณ์ของซัมซุงระบุ

การคาดการณ์แนวโน้มตลาดชิพของซัมซุงมีขึ้นในขณะที่บริษัทปรับตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส2 เป็นเพิ่มขึ้น 54.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อานิสงส์จากความต้องการชิพที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.เพิ่มขึ้นเป็น 12.6 ล้านล้านวอน (11,000 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากที่บริษัทคาดการณ์ไว้เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ส่วนรายได้ของซัมซุง เพิ่มขึ้น 20.2% เป็น 63.7 ล้านล้านวอนในไตรมาสเดียวกัน

บรรดานักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า ปัญหาการขาดแคลนชิพมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปแม้ว่าบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมชิพจะผลิตชิพออกมาได้พอดีกับความต้องการ สืบเนื่องมาจากโลกยุคดิจิทัลทั้งการทำงานที่บ้านและการทำงานที่ออฟฟิศ

“แนวโน้มการทำงานในอนาคตจะเป็นการทำงานจากบ้านหรือจากนอกออฟฟิศเป็นหลักเพราะมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อควบคุมการระบา่ดของโรคโควิด-19และรูปแบบการทำงานลักษณะนี้จะถือเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ”ทิโมธี อุย รองผู้อำนวยการจากมูดีส์ อะนาลลิติกส์ กล่าวพร้อมเสริมว่า จะมีการลงทุนในธุรกิจคลาวด์และการดำเนินงานด้านต่างๆที่เป็นรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น และสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปัญหาขาดแคลนชิพส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์หนักที่สุด เนื่องจากผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ตัดสินใจที่จะป้อนชิพให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก่อนที่จะผลิตให้กับค่ายรถยนต์ เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีมีการสั่งชิพจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ และให้ผลกำไรมากกว่า

นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยียังมีแนวโน้มที่จะต้องการชิพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ได้เซ็นสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิตชิพด้วย ทำให้บริษัทรถยนต์จำต้องเข้าคิวรอซัพพลายจากผู้ผลิตชิพ

ปัญหาขาดแคลนชิพทำให้เจเนอรัล มอเตอร์(จีเอ็ม)ของสหรัฐต้องสั่งปิดโรงงานผลิตรถยนต์ชั่วคราว 3 แห่ง ขณะที่ฟอร์ด มอเตอร์, โฟล์คสวาเกน และนิสสัน มอเตอร์ ต่างก็ชะลอการผลิตรถยนต์บางรุ่น เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิพเช่นกัน