KKP ยัน 'สำรองส่วนเกิน' สูงถึง 5 พันล้าน พร้อมรับมือวิกฤติได้อีก 6 เดือน

KKP ยัน 'สำรองส่วนเกิน' สูงถึง 5 พันล้าน พร้อมรับมือวิกฤติได้อีก 6 เดือน

KKP เผย มีสำรองส่วนเกินสูงถึง 5 พันล้าน เพียงพอรับมือสถานการณ์ไม่แน่นอนได้อีก 6 เดือนข้างหน้า พร้อมปรับเพิ่มเป้าสินเชื่อปีนี้โต 8-12% จากเดิมโต 5% เหตุ ครึ่งปีแรกดีเกินคาด แจงไตรมาส 3/64 คาดผลดำเนินงานได้รับผลกระทบจากโควิดมากสุด

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เปิดเผยว่า บริษัทปรับเพิ่มเป้าหมายทางการเงินของกลุ่มให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น ภายหลังผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทำได้ดีกว่าคาดการณ์ โดยปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อเป็น 8-12% จากเดิมคาดโต 5% โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสินเชื่อเติบโตแล้ว 6.6% ซึ่งเป็นผลจากที่บริษัทเน้นปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบ้าน รวมถึงกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ซึ่งในช่วงครึ่งหลังที่เหลือบริษัทจะเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่มที่มีศักยภาพสูงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี การเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อสถาบันการเงิน เพราะส่วนหนึ่งยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding Loan) ที่ยังสูงเป็นผลจากมาตรการพักชำระหนี้ดังนั้นบริษัทจึงคงประมาณผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ (Loan Spread) ที่ 5.2-5.4% จากปัจจุบันที่ 5.4% ขณะที่อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับลงคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ 4% จากเดิมคาดอยู่ที่ 4.5% โดยปัจจุบันบริษัทมี NPL อยู่ที่ระดับ 3.4%

ส่วนเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ บริษัทได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) โดยคาดว่าจะเติบโต 14% จากเดิมคาดโต 11-12% ภายหลังในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ROAE อยู่ที่ 14.1% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคาร (Credit Cost) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% โดยในช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมา Credit Cost ของกลุ่มอยู่ที่ 2.74% ทั้งนี้ เป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับมุมมองธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นายอภินันท์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีความเสี่ยงจะออกมาแย่กว่าครึ่งปีแรก เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดที่เริ่มในปลายไตรมาส 2 ปี 2564 โดยคาดว่าไตรมาส 3 จะเป็นไตรมาสที่ถูกกระทบอย่างเต็มที่จากการเร่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับความเดือนร้อน และคาดว่าผลกระทบอาจลากยาวถึงไตรมาส 4 จากสภาพเศรษฐกิจที่บอบช้ำแม้จะมีปัจจัยหนุนจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจ แต่คาดว่าจะมีผู้ประกอบการบางส่วนเท่านั้นที่อยู่รอดและกลับมาดำเนินการได้ และบางส่วนมีความจำเป็นต้องลงทุนใหม่

ขณะที่การรับมือกับความเสี่ยง ปัจจุบันบริษัทมีการตั้งสำรองส่วนเกินประมาณ 5 พันล้านบาท แบ่งเป็นการตั้งสำรองใหม่ตามมาตรฐานทางบัญชี TFRS9 3.7 พันล้านบาท และการตั้งสำรองส่วนเกินที่ทยอยตัดจำหน่ายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเหลือ 1.5 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (Coverage Ratio) อยู่ที่ 160% ซึ่งคาดว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอรับมือกับสถานการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

เมื่อสอบถามถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ นายอภินันท์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการพักชำระหนี้ประมาณ 40% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันเหลือลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือประมาณ 11-12% ซึ่งรวมกับมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการพักทรัพย์-พักหนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างพูดคุยประมาณ 10 ราย มูลค่าประมาณ 2.5-3 พันล้านบาท คาดว่าจะเห็นผลภายในไตรมาส 3 ปีนี้

ขณะที่มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปแล้วระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปัญญาของลูกหนี้ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ยสูงหรือต่ำ เพราะธนาคารต้องเลือกปล่อยให้แก่ผู้ที่มีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจต่อได้ หรือมีโอกาสได้เงินต้นคืน ขณะที่ธุรกิจที่เดือดร้อนจนถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ (Default) ยังยากที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้ ขณะที่แนวคิดการให้สินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่เป็น NPL แล้ว มองว่าเป็นไปได้แต่อาจต้องมีเจ้าภาพหลักที่ไม่มีความรับผิดรับชอบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ซึ่งธนาคารมีภาระดังกล่าวต่อผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้น