รู้หรือไม่ วิธีฉีด'วัคซีนไฟเซอร์'ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค

รู้หรือไม่ วิธีฉีด'วัคซีนไฟเซอร์'ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค

กรมควบคุมโรคเผยขั้นตอนหลัง ‘วัคซีนไฟเซอร์’ถึงไทย นำเข้าคลังเก็บอุณหภูมิ -70 องศา ก่อนอบรมวิธิการนำไปใช้ เหตุเป็นวัคซีนเข้มข้นต้องผสมน้ำเกลือ  วิธีการไม่เหมือนแอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวคที่ไทยเคยใช้  1 ขวดฉีดได้ 6 คน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 ก.ค.2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 ประเด็นความร่วมมือการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐอเมริกาบริจาคให้ประเทศไทยจำนวน 1.5 ล้านโดส ขณะนี้วัคซีนอยู่บนเครื่องบินกำลังเดินทางมายังประเทศไทย คาดว่าจะถึงประเทศไทยประมาณเวลา 04.00 น.ของวันที่ 30 ก.ค. 2564 ซึ่งเมื่อมาถึงจะนำไปเก็บที่คลังวัคซีนที่กำหนด เพราะการเก็บวัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียล และจะมีการสอนวิธีการผสมการฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนไฟเซอร์จะไม่เหมือนวัคซีน 2 ชนิดที่ประเทศไทยใช้มาก่อนหน้านี้ทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวคที่สามารถดูดจากขวดและเก็บรักษาที่ 2-8 องศาเซลเซียลก็สามารถนำมาฉีดประชาชนได้ แต่วัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องซาเซลเซียส จากนั้นจะขนส่งไปยังหน่วยฉีดเพื่อเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียล

       

       

ขั้นตอนการเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสนี้ วัคซีนจะอยู่ได้ไม่นาน ประมาณ 4 สัปดาห์ เมื่อนำออกมาต้องรีบใช้ และการใช้จะแตกต่างกัน โดยต้องมีการผสมน้ำเกลือ เพราะเป็นวัคซีนเข้มข้น  จึงต้องผสมน้ำเกลือ  โดยต้องผสมให้ได้ตามสัดส่วนและดูดจากขวดใหญ่ไปฉีดให้ประชาชน ใน 1 ขวดจะฉีดได้ 6 คน  จึงต้องมีการเตรียมการทั้งการเก็บรักษา การผสมวัคซีน การนัดหมายการฉีด จะมีการอบรมให้กับบุคลากรตามจุดฉีดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นรพ.ทั่วประเทศ ในวันที่30 ก.ค.นี้ผ่านระบบออนไลน์

“ในการบริหารวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดสนี้ จะมีคณะกรรมการกำหนดว่าจะไปฉีดกลุ่มไหน โดยหลักการเบื้องต้นตามนโยบายได้รับความเห็นชอบจาก ศบค.เรียบร้อยแล้ว และจะมีการประกาศให้ประชาชนรับทราบว่า จะกระจายไปจุดไหน อย่างไร กลุ่มไหนบ้างในระยะต่อไป ส่วนที่มีกระแสข่าวสหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีนให้ประเทศไทยเพิ่มเติมนั้น มีความคืบหน้าในการหารือ แต่ขอรอประเทศสหรัฐยืนยันอีกครั้ง จะแจ้งข่าวให้ประชาชนทราบต่อไป”นพ.โอภาสกล่าว