เคล็ดไม่ลับ 'ชำระหนี้' จ่ายไม่ไหว ทำยังไงไม่ให้ 'เสียเครดิต' ?

เคล็ดไม่ลับ 'ชำระหนี้' จ่ายไม่ไหว ทำยังไงไม่ให้ 'เสียเครดิต' ?

เคล็ดไม่ลับสำหรับ "ลูกหนี้" ให้สามารถจัดการ "หนี้" และ "เจรจาหนี้" ทำอย่างไรไม่ให้ "เสียเครดิต" ครบทุกเรื่องที่ลูกหนี้ควรทราบ เมื่อรู้ตัวว่า "ใช้หนี้" ไม่ไหวในช่วงวิกฤติ

การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แทบธุรกิจได้รับผลกระทบ รายได้ลด ขาดสภาพคล่อง และทำให้ประสบปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะคนที่ "เป็นหนี้" อยู่ เริ่ม "ชำระหนี้ไม่ไหว" และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการ "ผิดนัดชำระหนี้" จน "เสียเครดิต" ทางการเงินแบบที่ไม่ควรจะเป็น ทว่า เรื่องนี้ยังพอมีทางออกหากรู้ตัวเร็ว และหาวิธีจัดการหนี้ที่เหมาะสม 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" สรุปทางออกในการเจรจาหนี้ ในช่วงวิกฤติโควิด สำหรับผู้ที่มีหนี้สิน จากการสัมภาษณ์พิเศษ โค้ชหนุ่ม - จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ "เดอะมันนี่โค้ช" ดังนี้

  

  • เป็นหนี้.. อย่าหนี! 

ข้อแรกที่สำคัญมากๆ สำหรับใครที่มีหนี้ และอยู่ในสภาพตึงมือ จ่ายไม่ไหว เรื่องแรกที่ควรทำ ไม่ใช่การหนี แต่เป็นการแก้ปัญหาหนี้สินมีอยู่ คือ "เจรจากับเจ้าหนี้" โดยตรงถึงสาเหตุที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ 

จักรพงษ์อธิบายว่า "ถ้าอาการหนัก คุยแบบขอหยุดพักชำระ ที่ไม่ใช่มาตรการขั้นต่ำ เราสามารถเจรจาขอเป็นสิทธิพิเศษได้ เพราะฉะนั้น ควรเจรจาอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้ สื่อสารตรงๆ ว่าจ่ายไม่ได้ เพราะจะได้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์มากกว่า" พร้อมแนะนำวิธีการเจรจาหนี้ กับเจ้าหนี้ (ในระบบ) เพื่อลดภาระในช่วงวิกฤติ

 5 ทางเลือกในการเจรจา   ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ขอหยุดชำระทั้งต้นและดอกเบี้ย หมายถึงการ "พักจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย" ณ เวลาที่ตกลงกัน อย่างไรก็ตามวิธีนี้ แม้จะพักชำระไปแต่ดอกเบี้ย งวดที่พักจะถูกคิดต่อไปเรื่อยๆ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

ทางเลือกที่ 2 ขอจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หมายถึง พักจ่ายเงินต้นในช่วงที่มีการตกลงกัน แต่จ่ายดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตามปกติในช่วงนั้นๆ 

ทางเลือกที่ 3 ขอลดค่างวด ลดจำนวนเงินที่จะจ่ายในแต่ละงวดลง

ทางเลือกที่ 4 ขอลดดอกเบี้ย ขอลดดอกเบี้ยสินเชื่อให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่

ทางเลือกที่ 5 ขอยืดหนี้ ให้ผ่อนนานขึ้น ขยายเวลาในการจ่ายหนี้ เพื่อลดจำนวนเงินที่จะจ่ายในแต่ละงวดลง

ทั้งนี้ เงื่อนไขต่างๆ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละประเภทสินเชื่อ เงื่อนไขของแต่ละธนาคาร รวมถึงประวัติการชำระคืนที่ผ่านมาด้วย

162738235727

นอกจากนี้ จักรพงษ์ ยังแนะนำการแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องในระยะยาวไว้ด้วยว่า "สำหรับใครที่ไม่ได้เดือดร้อนมากจากสถานการณ์นี้ อยากให้มองเรื่องของการรักษาหน้าที่การงาน รวมไปถึงการสร้างภาระระยะยาว"

สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบทางการเงินโดยตรงในช่วงนี้ ก็ยังไม่ควรประมาท ก่อนจะสร้างภาระหนี้ใหญ่ หนี้ที่ต้องมีภาระในระยะยาวจะต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วนว่า "แหล่งรายได้" ของเรามั่นคงจริงหรือไม่ และสามารถผ่อนชำระไปตลอดรอดฝั่งได้ไหมหากมีวิกฤติครั้งใหม่เข้ามากระทบ 

"รายได้ทางที่ 2 และ 3 ไม่ได้เป็นทางเลือก แต่เป็นทางรอด อาจจะมีรายได้หลักสักทาง และมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งที่พัฒนาขึ้นไป วันหนึ่งอาจจะพัฒนาขั้นมาทดแทนรายรับที่เป็นรายได้หลักของคุณ หรือทำควบคู่กันไปเพื่อเสริมความมั่งคั่งให้ไปได้เร็วขึ้น เพราะยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่เราจะอยู่ด้วยรายได้ทางเดียวอีกต่อไปแล้ว แม้แต่คนที่สถานะทางการเงินยังดี คล่องมือ หรือยังมีการงานที่มั่นคงก็ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากเรากำลังเข้าสู่โลกที่มีแหล่งรายได้เดียวไม่เพียงพออีกต่อไป" จักรพงษ์ กล่าว