โควิด-19 เบรกแบรนด์ใช้งบ เครื่องสำอาง สินค้าไอที แผ่วรีวิวสินค้า

โควิด-19 เบรกแบรนด์ใช้งบ  เครื่องสำอาง สินค้าไอที แผ่วรีวิวสินค้า

การทำตลาดผ่านผู้ทรงอิทธิพ(Influencer) ผู้นำทางความคิด(KOL) ยังเติบโตต่อเนื่อง ตลอด 5 ปี ที่ผ่านมาเชิงมูลค่าสะสมคาดการณ์แตะหลัก 1,000% เพราะผู้บริโภคยังเชื่อการบอกต่อ ปากต่อปากจากคนใช้จริง หรือการรีวิวต่างๆ

ทว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาด แบรนด์เบรกงบสื่อสารการตลาดผ่านสื่อดั้งเดิม สื่อออนไลน์ ยังเป็นทางเลือกเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย แต่หมวดหมู่สินค้าที่นิยมรีวิว หรือแผ่วลงมีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย

อนุพงศ์ จันทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เรวู ประเทศไทย(Revu) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรีวิวสินค้า ฉายภาพตลาดที่ใช้อินฟลูเอนเซอร์ เคโอแอลในการรีวิวสินค้าได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไม่ต่างจากธุรกิจอื่น โดยหมวดสินค้าเครื่องสำอาง หายไปจากตลาดพอสมควร สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ผู้บริโภคต้องอยู่บ้าน ทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องแต่งหน้า ซึ่งเดิมสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็น Top 2 ที่มีการรีวิวสูงมาก

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ(สกินแคร์)แผ่วลงเช่นกัน จากอยู่อันดับต้นๆของการรีวิว รวมถึงสินค้าไอที อุปกรณ์เสริม(แกตเจ็ด)ต่างๆ ชะลอการใช้จ่ายเงินเพื่อรีวิวสินค้า

ส่วนสินค้ามาแรงในการรีวิว มีทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เพราะเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค สินค้าในครัวเรือน เช่น หม้อทอด เพื่อตอบไลฟ์สไตล์ของการอยู่บ้าน เข้าครัวประกอบอาหารมากขึ้น และที่ต้องการรีวิวสูงมาก ยกให้คลินิกเสริมความงามต่างๆ แต่ข้อจำกัดจากมาตรการรัฐในการคุมเข้มโรคระบาด ส่งผลให้การเปิดปิดของคลินิกไม่ชัดเจน จึงผลกลยุทธ์การรีวิวบริการต่างๆ

162730656449

นอกจากนี้ ผลพวงของโรคระบาด ที่กระทบการทำงาน ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคปรับตัวหากิจกรรมทำ จึงผันตัวสู่การเป็น “นักรีวิวสินค้า” มากขึ้น โดยพอร์ตโฟลิโอของเรวูปี 2563 มีนักรีวิวราว 19,000-20,000 ราย ปัจจุบันจำนวนเพิ่มเป็น 27,000 ราย และส่วนใหญ่ที่เข้ามายังเชี่ยวชาญด้านความงามหรือบิวตี้เป็นหลัก ล่าสุด บริษัทยังขยายรับนักรีวิวสู่ตลาดต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ มีคนเข้ามาสมัครเป็นจำนวนมาก

ตลาดอินฟลูเอนเซอร์ที่มีการเติบโตสูงคือระดับที่มีผู้ติดตามหลัก 1 แสนคนหรือ Follower ขึ้นไป เพราะการแพร่ระบาดของโควิดทำให้คนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน เสพคอนเทนท์มากขึ้นมหาศาล และตลาดยังขยับจากรายเล็กหรือนาโนอินฟลูเอนเซอร์ ไปเป็นรายใหญ่

สำหรับการรีวิวสินค้าในเวลานี้ สิ่งที่แบรนด์ต้องการหนีไม่พ้นการสร้างยอดขายกลับมาทันที ให้คุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนการสร้างแบรนด์ มีเพียงแบรนด์ใหญ่ที่ยังให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ดังกล่าว

ด้านการใช้อินฟลูเอ็นเซอร์รีวิวสินค้าให้เกิดผลกระทบเชิงบวกด้านยอดขาย ยังเป็นกระบวนท่าเดิมคือผสมผสานทั้งรายใหญ่(ไมโครอินฟลูเอนเซอร์)เพราะช่วยให้เกิดกระแส เห็นแบรนด์สินค้าในวงกว้างง และรายย่อย(นาโนอินฟลูเอนเซอร์) ซึ่งทำให้บริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพด้วย ขณะที่แพลตฟอร์มทรงพลังยังเป็นยูทูป

 

คนผันตัวมาเป็นนักรีวิวมากขึ้น ส่วนแนวโน้มการทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์ เคโอแอลเพื่อรีวิวสินค้ายังดี เพราะแบรนด์มีการโยกงบจากสื่อออนไลน์มาออฟไลน์ แต่ตอนนี้โจทย์ใหญ่ของแบรนด์คือใช้จ่ายเงินทุกบาท ต้องได้ผลลัพธ์ยอดขายกลับมา ไม่สนการสร้างแบรนด์ ส่วนการใช้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อธุรกิจ จะต้องผสมผสานทั้งไมโครอินฟลูเอนเซอร์ เป็นหมัดฮุก หากใช้แค่นาโนอินฟลูเอนเซอร์ผู้บริโภคจะไม่เห็นสินค้า

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาดข้ามปี เรวูต้องทำงานใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น และโฟกัสผู้ประกอบการ แบรนด์สินค้าขนาดกลางและใหญ่ ส่วนรายเล็กที่มีเงินน้อยต้องระมัดระวังและเป็นห่วงสภาพคล่อง ให้นำเงินมาใช้แล้วผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ ด้านภาพรวมของเรวู มีการตั้งเป้าเติบโต 20% แต่จากไวรัสระบาดระลอก 3 ลากยาวมาก คาดว่าจะกระทบทำให้หดตัว 20% อย่างไรก็ตาม หลังโควิด-19 คลี่คลาย คาดการณ์ว่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์ การรีวิวสินค้าจะกลับมาคักคักและเติบโตมหาศาล