‘ทูตคิวบา’ โชว์ 5 วัคซีนโควิด ชวนลงทุนธุรกิจการแพทย์

‘ทูตคิวบา’ โชว์ 5 วัคซีนโควิด  ชวนลงทุนธุรกิจการแพทย์

"คิวบา" ประเทศมีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการแพทย์สูง ถือเป็นจุดแข็งที่ซ้อนอยู่ในภูมิภาคละตินอเมริกา กำลังถูกสปอร์ตไลท์โลกส่อง หลังจากคิวบาได้เผยแพร่ผลประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19

“เอกตอร์ กอนเด อัลเมย์ดา” เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคิวบา ประจำประเทศไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า คิวบามีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการแพทย์ ล่าสุดประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสในปัจจุบัน

“หากเป็นไปตามแผน คิวบาจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคละตินอเมริกา ที่พัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นของตนเอง” เอกอัครราชทูตคิวบา กล่าวในงานสัมมนาโอกาสการประกอบธุรกิจในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้น

เอกอัครราชทูตคิวบา กล่าวอีกว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ได้ทำการศึกษาอยู่ขณะนี้ มีจำนวน 5 ชนิด และเห็นแนวโน้มความสำเร็จเกิดขึ้น ได้แก่ 1.วัคซีนอับดาลา ชนิดสามโดส 2.วัคซีนโซเบรานา-01 3.วัคซีนโซเบรานา-02 เป็นวัคซีนชนิดสองโดส  4.วัคซีนโซเบรานา พลัส เป็นวัคซีนเข็มที่สามชนิดกระตุ้น (Booster Dose) และ 5.วัคซีนเอมิซา ยังอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่สาม 

162661163659

เมื่อถามถึงประสิทธิภาพวัคซีนอับดาลา พัฒนาโดยสถาบันฟินเลย์ หนึ่งในองค์กรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ซึ่งร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติคิวบา ซึ่งอับดาลาเป็นวัคซีนเชื้อตาย พบว่า เมื่อฉีดครบสามเข็มห่างกัน 2 สัปดาห์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ครอบคลุมสายพันธุ์ดั้งเดิม และโควิดกลายพันธุ์ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา สูงถึง 92.28% ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมยาและเวชภัณฑ์คิวบาได้ผ่านการอนุมัติวัคซีนอับดาลา ใช้กรณีฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา

ในรายงานของสถาบันฟินเลย์ ระบุด้วยว่า วัคซีนโซเบรานา-02 พัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีคอนจูเกต มีประสิทธิภาพมากถึง 62% หลังฉีดเป็นจำนวน 2 โดสแล้ว ขณะที่วัคซีนโซเบเรนา พลัส เป็นโดสที่สาม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน 

162667785884

คิวบา ภายใต้การปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา พยายามพัฒนาประเทศและมีปฏิสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนกับประเทศต่างๆ ในโลก ท่ามกลางแรงเสียดทานจากการคว่ำบาตรด้านการค้าจากสหรัฐมาหลายสิบปี ซึ่งเป็นเหมือนกำแพงปิดล้อมคิวบาไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรสำคัญๆ และสินค้าที่จำเป็นบางชนิดจากต่างประเทศ 

นี่เป็นแรงกระตุ้นนักวิทยาศาสตร์คิวบาให้ฮึดสู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยตนเอง แทนที่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การสหประชาชาติ 

ขณะเดียวกัน คิวบามีแนวคิดต้องการพึ่งพาความสามารถของประเทศเป็นหลัก ในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ฉีดให้กับประชาชนคิวบา ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศอื่นๆ 

162661240571

เมื่อเทียบการแพร่ระบาดโควิด-19 กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคละตินอเมริกา คิวบาจัดอยู่ในกลุ่มประเทศมีผู้ติดเชื้อโควิดในระดับกลางๆ โดยตลอดปี 2563 พบผู้ป่วยโควิดเพียงเล็กน้อย 

หลังจากที่เปิดพรมแดนเพื่อการท่องเที่ยวอีกครั้งในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว ก็ได้เริ่มมีการแพร่ระบาดไวรัสเพิ่มขึ้นในคิวบา ซึ่งเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะ และมีประชากรอยู่ที่ 11 ล้านคน ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่อาทิตย์ (18 ก.ค.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,062 ราย ส่งผลให้ยอดสะสมอยู่ที่ 2.76 แสนราย

162661219018

นอกจากนี้ คิวบามีความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคปอด เช่น การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม และวัคซีนโรคไอกรนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ของคิวบา ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรหลายแห่ง 

พรพิมล กาญจนลักษณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า คิวบามีความร่วมมือกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อผลิตวัคซีนวัณโรคที่มีความสำคัญมาก เพราะสถานการณ์โรคปอดกำลังกลับมาใหม่ สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมพร้อมให้กับประชาชนไทย และจะวางจำหน่ายสู่ตลาดอันใกล้นี้