ศบค.เคาะ16 ก.ค.นี้ ฉีดวัคซีนโควิด19 สลับชนิด

ศบค.เคาะ16 ก.ค.นี้ ฉีดวัคซีนโควิด19 สลับชนิด

ศบค.เคาะ16 ก.ค.นี้ ฉีดวัคซีนสลับชนิด หากเห็นชอบเริ่มต้นสัปดาห์หน้าทันที เผยวัคซีนมีเข้าระบบเดือนละ 10 ล้านโดส ช่วง 1-2เดือนพอฉีด2 กลุ่มเป้าหมายหลักแน่นอน แจงกรณีแอสตร้าฯขยายสัญญาส่งมอบเป็นพ.ค.ปี 65

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 15 ก.ค. 2564 ที่กรมควบคุมโรค ในการเสวนาวิชาการ เรื่อง วัคซีนโควิด19 สำหรับสื่อมวลชน โดยนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า เป็นช่วงที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติโควิด-19 เป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่อวันสูงที่สุดตั้งแต่เผชิญโรคมาเมื่อปี 2563 โดยการระบาดเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ไม่เฉพาะกทม.และปริมณฑล ในต่างจังหัดเริ่มพบผู้ติดเชื่อมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นคนที่เดินทางจากกทม.และปริมณฑลกลับภูมิลำเนา แต่หน่วยงานสาธารณสุขได้เร่งดำเนินการป้องกันและสอบสวนควบคุมโรคเต็มที่ คิดว่าสถานการณ์น่าจะเป็นเช่นนี้อีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การป้องกันการติดเชื้อสำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผุ้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง นอกจากมาตรการป้องกันทั่วไปแล้ว เรื่องการฉัดวัคซีนเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ ซึ่งวัคซีนโควิดทุกตัวที่มีในโลกขณะนี้ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ แต่ป้องกันไม่ให้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการสั่งซื้อวัคซีนเข้ามาแล้ว 2 ยี่ห้อ คือ ชนิดไวรัล แว็กเตอร์ ยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีการสั่งมากที่สุดคือ 61 ล้านโดสเป็นวัคซีนหลัก แต่เมื่อมีสถานการณ์ระบาดในเดือนธ.ค.2563 จึงมีการจัดหาวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มเติม เป็นชนิดเชื้อตาย โดยเป็นวัคซีนที่สามารถซื้อได้ในเวลาเร่งด่วน ส่วนวัคซีนตัวอื่น ทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา ไม่สามารถซื้อได้ในเวลานั้นเพราะต้องมีการจองคิวล่วงหน้าจำนวนมาก โดยซิโนแวคเข้ามาล็อตแรกเดือนก.พ. ส่วนแอสตร้าฯมีการส่งมอบเรื่อยๆทุกเดือน โดยมิ.ย.ส่งมอบราว 6 ล้านโดส และเดือนก.ค.จะส่งมอบเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถมีวัคซีนเพียงพอ โดยจะมีวัคซีน 2 ตัวรวมกันประมาณ 10 ล้านโดส และอัตราที่ฉีดได้ที่ผ่านมาราว 3 แสนโดสต่อวัน

วัคซีนเข้าระบบเดือนละ 10 ล้านโดส
ต่อข้อถามวัคซีนจะเพียงพอเมื่อไหร่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ถ้ามุ่งไปที่การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและเข้ารพ. มีวัคซีนพอในช่วง 1-2 เดือนนี้แน่นอน เพราะประชากร 2 กลุ่มนี้ราว 10 กว่าล้านคน ถ้ากลุ่มอื่นไม่ฉีดในช่วงเวลานี้ และฉีดเฉพาะผู้สูงอายุใน 1 เดือนจะมีพอในการป้องกันการเสียชีวิตและเข้านอนรพ. แต่ในกลุ่มอื่นๆที่อายุต่ำกว่า 60 ปีอาจจะต้องรอ เพราะวัคซีนเป็นการผลิตและส่งมอบเป็นระยะ เดือนนึงมีวัคซีนเข้าระบบบริการสาธารณสุขประมาณ 10 ล้านโดส และในการประชุมอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด19ในสัปดาห์หน้ายกเลิกการวัดความดันก่อนการฉีดวัคซีนด้วย ช่วยทำให้การให้บริการเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการรับวัคซีน

16ก.ค.ศบค.เคาะฉีดสลับชนิด
เมื่อถามว่าได้มีการแจ้งแนวทางการฉีดวัคซีนสลับชนิดเข็ม1เป็นซิโนแวคและเข็ม2เป็นแอสตร้าฯไปยังรพ.พื้นที่ต่างๆแล้วหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้สื่อสารกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ไปแล้วผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแนวทางที่ผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแล้ว แต่เมื่อวันอังคารที่ 13 ก.ค.ท่านนายกฯ ให้ทบทวน จึงได้มีการทบทวนและล่าสุดจากการพิจารณาของคณะกรรมการ 2 ชุดแล้วก็มีมติเช่นเดิม โดยในวันที่16 ก.ค.นี้จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ศบค. หากท่านนายกฯ และศบค. เห็นชอบก็จะแจ้งอย่างเป็นทางการต่อไป โดยจะเริ่มในต้นสัปดาห์หน้า ส่วนรพ.ที่ดำเนินการไปแล้วก็ถือว่าดำเนินการได้ตามแนวทางที่เคยได้ให้แนวทางไว้

เมื่อถามว่าผู้สูงอายุยังกังวลกรณีฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เมื่อฉีดแอสตร้าฯไปแล้วเข็มแรก กรณีเข็มที่สองยังคงเป็นแอสตร้าหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้สูงอายุฉีดแอสตร้าฯ ไปแล้วเข็มแรก จะได้รับวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มที่สอง เนื่องจากไม่มีคำแนะนำสลับในรูปแบบเริ่มต้นจากแอสตร้าฯ

ยังบอกไม่ได้แอสตร้าฯส่งปี64ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า แอสตร้าฯ จำนวน 61 ล้านโดสจะมาไม่ทันปี 2564 นพ.โสภณ กล่าวว่า ตอนนี้เดือนก.ค.เหลืออีก 5 เดือนกว่าจะสิ้นปี ทั้งนี้ ได้มีการสั่งจองวัคซีนครั้งแรกปี2563 จำนวน 26 ล้านโดส จนเดือน ม.ค.2564 รัฐบาลพิจารณาสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงมอบให้กรมควบคุมโรคสั่งเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ซึ่งเจรจาขอให้บริษัทจัดส่งภายในปีนี้เช่นกันกับล็อตแรกที่สั่ง ซึ่งบริษัทก็มีความพยายามทำตามที่ขอ โดยในสัญญาไม่ได้ระบุวันส่งมอบชัดเจน เนื่องจากเป็นการสั่งจองตอนวัคซีนยังไม่สำเร็จ อยู่ระหว่างวิจัยพัฒนา แต่ด้วยความที่บริษัทอยู่ในไทย ผลิตในไทย แต่มีการสั่งซื้อจากต่างประเทศด้วย บริษัทก็พยายามให้ไทยได้มากที่สุด โดยไทยจอง 1 ใน 3 ของกำลังผลิต แต่ก็ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังเพิ่มผลผลิต จึงบอกไม่ได้ว่าจะส่งทันหรือส่งไม่ทันในปีนี้ เพราะมีความพยายามเรื่องเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นไปได้ก็คงจะได้วัคซีนมากที่สุดตามโควต้าที่จองไว้ จะทันหรือไม่ให้รอวันที่ 31 ธ.ค.นี้

แจงแอสตร้าฯขยายเวลาส่งมอบ
เมื่อถามถึงกรณีรมช.สธ.ระบุว่าบริษัทขอขยายสัญญาส่งมอบไปถึงเดือน พ.ค. 2565 นพ.โสภณ กล่าวว่า การส่งมอบมีไทม์ไลน์กว้างๆ และมีการระบุจำนวน หมายความว่า หากบริษัทจะส่งเกินไปปีหน้าก็สามารถดำเนินการได้ เพราะสัญญากำหนดไว้ก่อนมีวัคซีนจริง ดังนั้น ในเรื่องระยะเวลาแต่ละเดือนจึงไม่ได้บอกว่าจะส่งเท่าไหร่ ที่กำหนดตัวเลขแต่ละเดือนที่ผ่านมา เช่น เดือนละ 10 ล้านโดส ก็เป็นตามศักยภาพการฉีดวัคซีนในประเทศไทย นำไปช่วยวางแผน ซึ่งช่วงแรกบริษัทแอสตร้าฯ ก็ไม่สามารถผลิตได้เต็ม เพราะบริษัทผลิตวัคซีนครั้งแรก ก็จะมีเรื่องจำนวนที่ค่อยๆเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดความคงตัวของผลผลิตที่ได้ แต่ก็ยังมีโอกาสรอดูอีก 5 เดือนครั้งหน้า แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่บางส่วนอาจขยับไปปีหน้า

เมื่อถามว่าในเดือน ก.ค. แอสตร้าฯ มีการส่งมอบเท่าไหร่แล้ว และเมื่อปรับสลับชนิดวัคซีนให้ฉีดจะมีความต้องการใช้แอสตร้าฯเพิ่มขึ้สหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า เท่าที่ดูแผนการส่งมอบวัคซีนของบริษัท บวกกับวัคซีนจากการบริจาคของประเทศญี่ปุ่น 1 ล้านโดส ในเดือนก.ค.จะมีวัคซีนมากกว่าเดือนที่ผ่านมา แม้จะปรับสูตรการฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ แต่อย่าลืมว่าเดิมฉีดแอสตร้าฯเป็นเข็มที่ 1 ทั้งหมด ดังนั้น จะมีส่วนหนึ่งที่เข็ม 1 มาใช้ซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ หากวัคซีน 10 ล้านโดส ก็จะมากกว่าเดือนที่แล้ว ก็จะดำเนินการได้ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนต่อไปมากกว่า