'ทีดีอาร์ไอ' หนุนรัฐล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยง หวั่นโควิดลามฉุดเศรษฐกิจ

'ทีดีอาร์ไอ' หนุนรัฐล็อคดาวน์พื้นที่เสี่ยง หวั่นโควิดลามฉุดเศรษฐกิจ

การล็อคดาวน์ถือเป็นยาแรงที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย ที่ผ่านมาประเทศไทยรัฐบาลมักหลีกเลี่ยงเนื่องจากมีผลกระทบกับเศรษฐกิจมาก แต่ก็มีความจำเป็นและ ศบค.ตัดสินใจล็อคดาวน์ 6 จังหวัด กทม.-ปริมณฑล

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่าการใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือว่าจำเป็นเพราะการระบาดรุนแรงขึ้นและกระจายวงกว้าง

ตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการควบคุมที่เริ่มประกาศใช้ปลายเดือน มิ.ย.2564 มีแนวโน้วว่าไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ถ้าปล่อยต่อไปผลกระทบจะมากขึ้น กระทบต่อระบบสาธารณสุขและกระทบมายังภาคส่วนของเศรษฐกิจ

โดยในด้านเศรษฐกิจแม้ไม่ล็อคดาวน์หากมีการแพร่ระบาดที่รุนแรงเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบ เพราะการระบาดวงกว้างจะบังคับให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ เช่น การระบาดของคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานและตลาดทำให้พื้นที่เหล่านี้ต้องปิด โดยการปิดโรงงานก็จะกระทบกับภาคการผลิตและการส่งออก ขณะที่การปิดตลาดก็สถานที่จับจ่ายใช้สอยของผู้คนก็กระทบกับพ่อค้า แม่ค้า การใช้จ่ายของประชาชนก็จะสะดุดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็จะลดลง 

ทั้งนี้มาตรการเหมาะสมที่ควรดำเนินการในการล็อคดาวน์แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1

1.ล็อคดาวน์จุดที่ระบาดสูง รวมทั้งปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่พิสูจน์ตามหลักวิชาการว่าเป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ในขณะที่การพิจารณาล็อคดาวน์ทั้งประเทศขึ้นกับสถานการณ์ หากความรุนแรงของโรคระบาดเพิ่มขึ้นอาจเพิ่มพื้นที่ล็อคดาวน์ 

และหากสุดท้ายยังเอาไม่อยู่ก็อาจจำเป็นที่ต้องล็อคดาวน์ทั่วประเทศแต่ขอให้ใช้มาตรการดังกล่าวเป็นทางเลือกสุดท้าย 

อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ล่าสุดที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีการประกาศล็อคดาวน์พื้นที่ 6 จังหวัด กทม.และปริมณฑล งดการเดินทางข้ามจังหวัด ออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็นโดยมีผลในวันนี้ (10 ก.ค.)  

2.ภาครัฐต้องออกมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาด รวมถึงกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการเยียวยาต้องทำต่อเนื่อง 6 เดือน คาดว่าใช้เม็ดเงินเดือนละ 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือและเยียวยา ประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยรวมต้องใช้เงิน 6 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าภาครัฐเตรียมวงเงินเยียวยาประชาชนตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 5 แสนล้านบาท ไว้ที่ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งไม่พอรับวิกฤติครั้งนี้จึงควรเตรียมวงเงินไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตามการประกาศมาตรการต่างๆรวมทั้งการล็อคดาวน์ จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจเตรียมตัวรับมาตรการที่เกิดขึ้น 

“การประกาศหรือออกมาตรการอยากให้เน้นการสื่อสารด้วย เพื่อการเตรียมตัวรับมือสำหรับประชาชนและธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ” นายนณริฏ กล่าว