เคาท์ดาวน์ ‘สมุย พลัส โมเดล’ ดีเดย์ 15 ก.ค. จ่อขอ ‘ไม่กักตัวทัวริสต์’ ตามรอยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

เคาท์ดาวน์ ‘สมุย พลัส โมเดล’ ดีเดย์ 15 ก.ค.  จ่อขอ ‘ไม่กักตัวทัวริสต์’ ตามรอยภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

นับถอยหลังอีกเพียง 7 วัน ก็จะถึงฤกษ์เปิดโครงการ “สมุย พลัส โมเดล” เริ่มวันที่ 15 ก.ค.นี้ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว มาท่องเที่ยวเชื่อมโยง 3 เกาะดังของ จ.สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า

นับเป็นอีกโครงการนำร่องเปิดประเทศที่ต้องจับตาดูอย่างยิ่ง ต่อจากโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เพิ่งคิกออฟไปเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

รัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า รูปแบบการรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศของโครงการสมุย พลัส โมเดล จะ “แตกต่าง” จากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ตรงนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติภูเก็ต เมื่อได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่สนามบินแล้ว จะต้องกลับไปรอผลที่ห้องพักในโรงแรมเท่านั้น เมื่อทราบผลตรวจว่าไม่พบเชื้อโควิด ถึงออกไปท่องเที่ยวได้แบบไม่ต้องกักตัว

ขณะที่สมุย พลัส โมเดล มีข้อปฏิบัติแตกต่างออกไป! เพราะใน “7 วันแรก” นักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศถูกกำหนดให้พักในโรงแรมที่เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (ALQ) ปัจจุบันมี 22 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักรวม 300-400 ห้อง

โดยทันทีที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง (Day 0) จะต้องรับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมที่พัก ระหว่างรอผลตรวจ สามารถพักผ่อนได้ในห้องพักเท่านั้น จากนั้นวันที่ 1-3 หลังทราบผลตรวจเป็นลบ สามารถผ่อนคลายและใช้บริการในบริเวณและพื้นที่ที่โรงแรมจัดสรรไว้ (Area Quarantine) ส่วนวันที่ 4-7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ใน อ.เกาะสมุย ตามเส้นทางและโปรแกรมท่องเที่ยวที่กำหนดไว้ (Sealed Route) ทั้งนี้จะทำการตรวจหาเชื้อโควิดครั้งที่ 2 ณ โรงแรมที่พักในวันที่ 6-7

ส่วน “7 วันหลัง” ตั้งแต่วันที่ 8-14 สามารถท่องเที่ยวได้อย่างเสรี (Free Style) ภายใน 3 เกาะ ทั้งเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า หลังทราบผลการตรวจครั้งที่ 2 เป็นลบ แต่ต้องพักโรงแรมที่ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย SHA Plus บน 3 เกาะดังกล่าว และจะทำการตรวจหาเชื้อโควิดครั้งที่ 3 ในวันที่ 12-13 เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขตรวจหาเชื้อครบ 3 ครั้ง และนักท่องเที่ยวพำนักในพื้นที่อย่างน้อย 14 คืน ก่อนออกเดินทางไปเที่ยวพื้นที่อื่นในไทย

ในช่วง 7 วันแรก แม้นักท่องเที่ยวจะต้องพักในโรงแรมที่เป็น ALQ แต่ก็สามารถออกมานอกห้องพักได้ นั่งในร้านอาหารของโรงแรมได้ ออกมาเดินหน้าหาดได้ เล่นฟิตเนส ใช้สระว่ายน้ำ เพียงต้องอยู่ภายในบริเวณโรงแรม และสามารถท่องเที่ยวในเส้นทาง Sealed Route โดยตัวแทนนำเที่ยวที่ได้รับการอบรมโดยเฉพาะ สามารถพาไปลงเรือ ดำน้ำ ทานอาหารบนเรือยอชต์ และเที่ยวบางพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองในเส้นทางที่ไม่ปะปนกับบุคคลภายนอก เรียกว่าไม่ใช่การกักตัว เพราะยังสามารถออกมาเที่ยวได้บ้าง”

ทั้งนี้จะรอดูผลของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในช่วง 1 เดือนแรก (1-31 ก.ค.) หากไม่มีปัญหา ทางเกาะสมุยจะยื่นขอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณาปรับรูปแบบเป็น “ไม่กักตัว” เหมือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

รัชชพร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดเกาะสมุยถือเป็น “จุดเริ่มต้น” ทดลองระบบที่วางไว้ ไม่ได้หวังว่านักท่องเที่ยวจะแห่เข้ามา เพราะมีกฎระเบียบที่วางไว้ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถ้ามีผู้ติดเชื้อเกิน 20 รายต่อสัปดาห์ก็จะมีการหารือเพื่อทบทวนร่วมกัน

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 1 เดือนแรก ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองไว้ที่ 1,000 คน แต่ภาคเอกชนอยากให้เกินเป้า 1 เท่าเป็น 2,000 คน รวมๆ แล้วตลอดไตรมาส 3 ตั้งเป้ามีรายได้การท่องเที่ยวที่ 1,000 ล้านบาท

“สิ่งที่คาดหวังคือถ้าโครงการนี้ไปได้ดี ตลอดไตรมาส 4 ปีนี้มีโอกาสสร้างรายได้การท่องเที่ยวอีก 3,000-6,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับรายได้ท่องเที่ยวครึ่งปีแรกจากตลาดคนไทยเที่ยวสมุย 1,000 ล้านบาท จะทำให้ตลอดปีนี้เกาะสมุยน่าจะมีรายได้ที่ 5,000-8,000 ล้านบาท ฟื้นตัวจากปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เกาะสมุยมีรายได้การท่องเที่ยวปีละ 30,000 ล้านบาท ส่วนปี 2563 มีรายได้การท่องเที่ยว 2,900 ล้านบาท”

ด้านฉันทนา ลิ้มสุวรรณ นายกสมาคมโรงแรมและการท่องเที่ยวเกาะพะงัน กล่าวว่า “เกาะพะงัน” มีโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA Plus แล้ว 13 แห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักรวม 400-500 ห้อง เดิมเกาะพะงันเคยมีกิจกรรม “ฟูลมูน ปาร์ตี้” เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว พอเกิดการระบาดของโควิด-19 แม้ยังไม่สามารถจัดกิจกรรมนี้ แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คนอาจไม่ค่อยพูดถึง เช่น ท่องเที่ยวเชิงกีฬา ศิลปะ ดนตรี สุขภาพ โยคะ และสปาที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มรักสุขภาพได้ โดยในเดือน ต.ค.นี้จะมีการแข่งขันวิ่งเทรล ผู้เข้าร่วมงานจำนวน 1,500 คน มีนักกีฬาชื่อดังจากสหรัฐมาร่วมงานด้วย เฉพาะงานนี้สร้างรายได้กว่า 20 ล้านบาท

“ส่วนรายได้การท่องเที่ยวของเกาะพะงันตลอดปี 2564 ต้องขอดูสถานการณ์ก่อนว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาน้อยมาก เพราะคนสู้ไม่ไหว ปิดกิจการไปก็มาก จากในปี 2562 เคยมีรายได้การท่องเที่ยวรวม 2,000 ล้านบาท ส่วนปี 2563 ลดลงเหลือ 5-10% ของภาวะปกติ”

วรพงษ์ วงศ์สุวรรณ อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะเต่า กล่าวว่า “เกาะเต่า” ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว มีโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA Plus รองรับนักท่องเที่ยวได้ 1,000 ห้อง เป็นเกาะที่มีชื่อเสียงเรื่องการดำน้ำ สถานที่ใต้น้ำมีความสวยงามติดอันดับ 7 ของโลก ขณะที่ราคาดำน้ำถูกที่สุดในโลก โดยขณะนี้ลดราคาลงมากว่า 50-60%

“เมื่อมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง หวังว่าครึ่งหลังของปีนี้เกาะเต่าจะมีรายได้การท่องเที่ยว 580 ล้านบาท จากในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวมาเยือน 200,000 คน สร้างรายได้ 4,000 ล้านบาท ส่วนปี 2563 เหลือไม่ถึง 5% หรือประมาณ 200 ล้านบาท”