คมนาคม ดันใช้ตั๋วร่วมรถไฟสายสีแดง

คมนาคม ดันใช้ตั๋วร่วมรถไฟสายสีแดง

คณะกรรมการตั๋วร่วม เคาะใช้ระบบเทคโนโลยีบัญชีระบุตัวตนผู้โดยสาร ABT เปิดตัวตั๋วร่วมขนส่งคมนาคมจ่ายบัตรเดียวทุกโหมด นำร่องสิ้นปีนี้ใช้สายสีแดงและดอนเมืองโทลเวย์ พร้อมมอบกรุงไทยลงทุนระบบจ่ายผ่านบัตรเครดิต EMV รองรับเปลี่ยนถ่ายสู่ระบบ M-Flow

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คนต. จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร และคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้

โดยความคืบหน้าในการดำเนินการของอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ไม่ว่าจะเป็นการวางแนวทางการออกแบบมาตรฐานทางเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมให้เป็นแบบการใช้บัญชีระบุตัวตนผู้โดยสาร (Account Based Ticketing: ABT) และบัตรที่ใช้เป็นแบบระบบเปิด (Open Loop) เนื่องจากปัจจุบันผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะมีความพร้อมอยู่แล้ว

รวมไปถึงการกำหนดแผนการดำเนินการเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะสั้น ภายในปี 2564 จะสามารถนำระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) มาใช้ได้ ส่วนระยะกลาง ภายในปี 2565 จะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) เพื่อรองรับการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม และในระยะยาว ภายในปี 2566 จะมีการจัดตั้งสำนักงานกลางเพื่อมาทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องตั๋วร่วม พร้อมประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ เพื่อสามารถบังคับใช้ระบบตั๋วร่วมกับผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะทั้งที่เป็นของรัฐ และของเอกชน

162565600099

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาพบว่าปัญหาเรื่องมาตรฐานอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน ได้แก่ การเก็บค่าแรกเข้าในแต่ละสายไม่เท่ากัน การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในแต่ละสายไม่เท่ากัน มีการเก็บค่าแรกเข้าทุกครั้งเมื่อมีการเดินทางข้ามระบบ และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารไม่สะท้อนกับระยะทาง

โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางศึกษาแก้ปัญหาสำหรับสายรถไฟฟ้าที่สัญญาสัมปทานได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว จะหาแนวทางในการแก้ไขสัญญาพร้อมแนวทางการชดเชยกรณีที่มีความจำเป็น แต่สำหรับสายรถไฟฟ้าที่จะมีการลงนามในอนาคต คณะอนุกรรมการฯ จะทำการศึกษา เพื่อกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม กำหนดในสัญญาสัมปทานก่อนทำการลงนาม

สำหรับปัจจุบันคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย และในต่างประเทศ พร้อมทำการวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปที่ต้องดำเนินการ คือการสรุปการกำกับดูแลการจัดสรรรายได้ เมื่อมีการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม โดยจะสามารถสรุปผลได้ภายในเดือน ก.ย. 2564

นายศักดิ์สยาม เผยด้วยว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่ากำลังดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมโดยใช้เทคโนโลยี Account Based Ticketing (ABT) โดยในปัจจุบันการออกแบบระบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟแวร์ และติดตั้งระบบ โดยได้ทำการทดสอบระบบครั้งแรกที่สถานีหัวลำโพง และสถานีสนามไชยเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าระบบใช้งานได้ถูกต้อง ตามแผนงานจะดำเนินการทุกอย่างแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และสามารถเปิดให้ประชาชนใช้งานระบบได้ในต้นปี 2565

เช่นเดียวกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รายงานที่ประชุมว่ามีการเริ่มใช้บัตรจ่ายเงินที่ใช้เทคโนโลยี Account Based Ticketing (ABT) คล้ายกับที่ รฟม. กำลังพัฒนา โดยเริ่มใช้กับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษเฉลิมมหานคร

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบตั๋วร่วมแบบ ABT กำลังทำการติดตั้งเพื่อใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.นี้ และทางพิเศษดอนเมืองโทลเวย์ ก็คาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนแผนในอนาคตคณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย พิจารณาแนวทางการลงทุนในระบบ EMV ชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิต เพื่อรองรับการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบ M-Flow ให้เกิดประสิทธิภาพดำเนินงานสูงสุด