‘ส.ท่องเที่ยวภูเก็ต’ ชี้จับตา Q4 คือของจริง! ชี้วัดความสำเร็จโปรเจค ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’

‘ส.ท่องเที่ยวภูเก็ต’ ชี้จับตา Q4 คือของจริง! ชี้วัดความสำเร็จโปรเจค ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’

‘ส.ธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต’ คาดเดือน ก.ค.นี้ ต่างชาติเที่ยวภูเก็ตแบบไม่กักตัว 1.5 หมื่นคน ชี้ไตรมาส 4 คือของจริงชี้วัดความสำเร็จโปรเจค ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากเปิดโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เปิดเมืองภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวแห่งแรกของประเทศไทย รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วแบบไม่กักตัว เริ่ม 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นการได้ทดลองนำร่องเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง คาดว่าตลอดเดือน ก.ค.นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจำนวน 1.5 หมื่นคน ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเข้ามาราว 3 หมื่นคนต่อเดือน เป็นเพราะการประกาศในราชกิจจานุเบกษาช้ากว่าที่คาดไว้ ส่งผลต่อการออกใบอนุญาตการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry : COE) ที่สถานทูตไทยต่างๆ ในประเทศต้นทางจะต้องอนุมัติให้ชาวต่างชาติที่ยื่นเรื่องขอเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ทำให้ตลอดไตรมาส 3 นี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์น้อยกว่าที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 1 แสนคน สร้างรายได้ 8,900 ล้านบาท

ขณะที่ไตรมาส 4 ปีนี้ จะเป็นไตรมาสจริงที่ชี้วัดได้ว่าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวภูเก็ตมากขึ้น หลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น ประกอบกับสถานการณ์ระบาดซ้ำของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศน่าจะคลี่คลายดีขึ้น โดยก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์ไว้ถึงกรณีที่ดีที่สุดว่าตลอดไตรมาส 4 ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาภูเก็ต จำนวน 2.8 แสนคน หรือประมาณ 8-9 หมื่นคนต่อเดือน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

นายภูมิกิตติ์ กล่าวว่า สำหรับความท้าทายในการเปิดเมืองภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มี 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การรักษาภูมิคุ้มกันหมู่ในจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเข้าใจว่าเงื่อนไขหรือกฎระเบียบที่กำหนดไว้ สำหรับการเดินทางเข้ามาเที่ยวภูเก็ตของทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยนั้น อาจมีขั้นตอนค่อนข้างมากและไม่ได้สะดวกมากนัก แต่มีความจำเป็นต้องทำจริงๆ เนื่องจากจะต้องรักษาภูมิคุ้มกันหมู่ในภูเก็ตไว้ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 70% เพื่อสร้างความปลอดภัยและลดโอกาสในการแพร่กระจายโรคโควิด-19

และ 2.การบริหารเมืองภูเก็ตจากนี้ต่อไปในอนาคต ยังต้องการเห็นความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความร่วมมือของทุกหน่วยงานจริงๆ จึงอยากให้แนวความคิดในการบริการจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนี้ยังคงดำเนินต่อไป และยกเลิกแนวคิดการบริหารจัดการแบบเดิมๆ

“การรักษาระดับภูมิคุ้มกันหมู่ภายในภูเก็ตถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงอยากขอให้ทุกคนเข้าใจว่าทุกเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมานั้น เป็นเพราะมีเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ค้ำคออยู่ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือหลีกเลี่ยงได้มากนัก”