ปตท.ลุ้นศึกษาแผนร่วมทุน ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ สำเร็จ ดันตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในไทย

ปตท.ลุ้นศึกษาแผนร่วมทุน ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ สำเร็จ ดันตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในไทย

ปตท.จ่อดึง “ฟ็อกซ์คอนน์” ร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในไทย หากผลการศึกษาแผนร่วมทุนสำเร็จ วางเป้าหมายผลิต 1 แสนคันต่อปี แย้มเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มใช้บริการรถอีวีภายใน 2 เดือนนี้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงานเสวนา “รถยนต์ไฟฟ้าพลิกโอกาสธุรกิจเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทย” ในงานสัมมนายานยนต์ไฟฟ้าจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานธุรกิจ ว่า ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้ ปตท.จะต้องปรับวิธีการดำเนินธุรกิจ โดยจะมุ่งไปใน 2 เทรนด์หลัก คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC  ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ ตามข้อมูลของบลูมเบิร์ก พบว่า การผลิตรถเครื่องยนต์สันดาป ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เมื่อปี 2560 ชี้ให้เห็นว่า ต่อนี้ไปรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถอาจจะไม่มาก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคจะเน้นการเชื่อมโยงการเดินทางมากขึ้น  และภายในปี 2583 จะมียอดการผลิตรถอีวี ของโลก อยู่ที่ 500 ล้านคันถือเป็นเทรนด์ที่สูงมาก ซึ่งปัจจุบันประเทศที่เป็นผู้นำผลิตรถอีวีคือ จีน และสหรัฐ แต่ในอนาคตจะกระจายไปยังประเทศอื่นๆมากขึ้น

โดยประเทศไทย ภาครัฐได้ดกกำหนดเป้าหมาย จะมีการผลิตรถอีวี ที่เป็นรถ 4 ล้อ ในปี 2568 อยู่ที่ 225,000 คัน และปี 2573 อยู่ที่ 725,000 คัน รถ 2 ล้อ ปี2573 จะผลิต 675,000 คัน และรถบัส ปี 2573 จะผลิต 34,000 คัน คิดเป็น 50% ของจำนวนรถบัสที่ผลิตออกมา

ขณะที่ในส่วนของ ปตท.เอง ได้วาง วิสัยทัศน์ใหม่ มุ่ง “ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต หรือ Powering Life with Future Energy and Beyond” โดยได้ปรับเป้าหมายพอร์ตการลงทุนในอนาคตที่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่ และธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะมุ่งเน้นการลงทุนใน 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1. New Energy 2. Life Sciences 3. Mobility & Lifestyles 4. High Value Business (Specialty materials) 5. Logistics & Infrastructure 6. AI, Robotics & Digitalization

โดยในส่วนของไฟฟ้า กลุ่ม ปตท.พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงทั่วไป (conventional) หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ,น้ำมัน และถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตในมืออย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จากปัจจุบันยังมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพียง 10% เท่านั้น

เรื่องของแบตเตอรี่ ปตท.ได้ลงทุนใน 2 รูปแบบหลัก คือ แบตเตอรี่ในรถยนต์ และแบตเตอรี่ ที่เป็นคอมเมอร์เชียล ที่เป็นลักษณะระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) รวมถึงมีเรื่องของสมาร์ทเอนเออร์ยี่แพลตฟอร์ม ซึ่งได้จับมือกับ WHA มีการผลิตและใช้ไฟฟ้าภายในนิคมฯของ WHA ผ่านแพลตฟอร์ม

162495752652

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ในส่วนของอีวี ปตท.ให้ความสนใจและจะเดินไปใน 4 ทิศทางได้แก่ เรื่องของแบตเตอรี่ โดยทางบริษัทลูก คือ GPSC มีการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีการเปิดตัวแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย โดยการใช้เทคโนโลยีการผลิต 24M จากสหรัฐ ขณะนี้โรงงานก่อสร้างเสร็จแล้ว เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา จะมีกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์-ชั่วโมง และกำลังพิจารณาเพิ่มเป็น 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง ภายใน 2 ปี

อีกทั้ง GPSC ได้จัดตั้งบริษัทย่อย เพื่อดำเนินการเข้าลงทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (“AXXIVA”) ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยี 24M มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท มีเป้าหมายกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2565 เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน

รวมถึง สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ของ ปตท. ก็มีการวิจัยแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำต้นแบบการผลิต

ส่วนเรื่องของ ESS ได้จัดทำโครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System) ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)  นำร่องติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เพื่อรองรับ EV Station  พร้อมโซลูชั่นจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานี 

162495754948

นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) จากประเทศไต้หวัน เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งหากประสบความสำคัญในการศึกษาเชื่อว่าจะทำให้เกิดดิสรัปขึ้นในวงการอีวี เพราะจะเป็นโรงงานกลางที่สามารถรับจ้างผลิตรถอีวีได้หลายยี่ห้อ และหากศึกษาแผนร่วมทุนกันสำเร็จ ปตท.จะพยายามดึงให้เกิดการจัดตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย เบื้องต้นมองเป้าหมายกำลังการผลิตรถยนต์ 4 ล้อ อยู่ที่ 1 แสนคันต่อปี  

ส่วนรถ 2 ล้อนั้น ปตท. กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการให้บริการ คาดว่าจะเปิดตัวภายใน 2 เดือนนี้  และเบื้องต้น ได้จัดทำธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ล่าสุด บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ได้นำเข้ารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้ามาแล้ว จำนวน 40 คัน และมีการตั้งจุดทดลองให้สามารถ Swap หรือการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่แบบการสลับแบตเตอรี่ ด้วยการถอดเอาแบตเตอรี่ออก แล้วใส่แบตเตอรี่ลูกใหม่เปลี่ยนพร้อมใช้งานทันที โดยไม่ต้องจอดรอชาร์จไฟฟ้า คาดว่าจะเปิดตัวภายใน 2-3 เดือนนี้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานีอัดประจุไฟฟ้า ในส่วนที่จัดตั้งในปั๊มน้ำมัน ทาง OR ได้จัดตั้งแล้ว 30 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในสิ้นปีนี้ ส่วนการจัดตั้งนอกปั๊มน้ำมัน จะดำเนินการโดยบริษัทออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด  (“On-I on Solutions”) ซึ่งมีเป้าหมายจะติดตั้ง 100 แห่งในสิ้นปีนี้ ดังนั้น สิ้นปีนี้ ในส่วนของกลุ่ม ปตท.จะมีปั๊มชาร์จไฟฟ้าทั้งหมด 200 แห่ง